เซฟตี้โซน…ล้อมคอก กันเด็กไทยเล่นพนัน

“ขึ้นชื่อว่า การพนันเป็นกิจกรรมที่มีความเสี่ยง หรือท้าทายต่อการได้เสียทรัพย์สิน มีการเดิมพันกันในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง โดยมีทรัพย์สินเป็นรางวัล ยิ่งเป็นกิจกรรมที่เสี่ยงมากเท่าไร ก็ยิ่งเพิ่มแรงจูงใจให้คนอยากลุ้น หรือเล่นพนันมากขึ้นเท่านั้น”



พญ.สุพร อภินันทเวช จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น จากคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล ผู้เขียนหนังสือ “เยาวชนกับการพนัน ในมุมมองของจิตแพทย์ฯ” เปิดประเด็น

หมอสุพรบอกว่า ผู้ที่เล่นพนันมีอยู่ 2 ประเภทหลักๆ ประเภทแรก เล่นเพื่อเข้าสังคม หรือ สนุกสนาน อย่างเช่น เวลาไปเที่ยวในต่างแดน ที่มีกาสิโนแถวบริเวณห้องพักก็ไปหยอดเหรียญเล่นเพียงปีละครั้งสองครั้ง เพื่อความบันเทิง อย่างนี้ไม่ถือว่าติดพนัน เพราะคนเหล่านี้ ไม่ได้หมกมุ่น มีความยับยั้งชั่งใจในการเล่น

กับอีกประเภทคือ ผู้ที่ติดพนัน ผู้เล่นประเภทนี้จะหมกมุ่นกับการเล่นพนันอย่างมาก ถ้าไม่ได้เล่นจะรู้สึกหงุดหงิด

คุณหมอสุพรบอกว่า คนที่ติดพนันถือเป็นผู้ป่วยที่เข้าข่ายเป็นโรคจิตเวชชนิดหนึ่ง เมื่อไม่ได้เล่นการพนัน สารเคมีความสุขจะไม่หลั่งออกมาเพื่อไปกระตุ้นสมอง  คล้ายคนที่ติดบุหรี่ และเหล้า ทำให้หงุดหงิด

“เดี๋ยวนี้สมาคมจิตแพทย์อเมริกันได้ปรับปรุงเกณฑ์การวินิจฉัยโรคติดการพนันใหม่ จัดให้โรคติดการพนันอยู่ในกลุ่มเดียวกับโรคที่เกี่ยวกับการเสพติดหรือการใช้สารเสพติด และปรับชื่อโรคใหม่เป็น gambling disorder”

พญ.สุพรบอกว่า ลักษณะของผู้ติดการพนัน และแนวทางให้ความช่วยเหลือมี 3 อย่าง ถ้าเป็นพวกที่ชอบ เล่นพนันเพื่อลุ้นรางวัลใหญ่ ชอบความตื่นเต้นเร้าใจ ต้องหาทางให้ผู้ป่วยกลุ่มนี้ เล่นการพนันให้น้อยลง เพราะผู้ป่วยกลุ่มนี้ไม่สามารถจะหักดิบเลิกเล่นได้ทันที

กลุ่มถัดมาคือ พวกที่ชอบเล่นพนันเพราะมีแรงขับเคลื่อนภายใน เช่น เครียด รู้สึกว่าตัวเองไม่มีคุณค่า อยากหลีกหนีจากความทุกข์ และรู้สึกว่าการเล่นการพนันช่วยปลดปล่อยให้ตัวเองหลีกหนีจากความทุกข์ได้ชั่วขณะ การรักษาผู้ป่วยกลุ่มนี้ ต้องหาสาเหตุของความเครียด หรือความทุกข์ให้ได้ก่อน จึงจะหักดิบให้เลิกเล่นพนันได้

กลุ่มที่สามคือ พวกที่เล่นการพนันเพื่อความท้าทาย มีความเชื่อว่าตัวเองสามารถทำนายผลการพนันได้ สามารถเอาเงินที่เสียไป กลับคืนมาได้  ซึ่งผู้ป่วยกลุ่มนี้ มักจะนำไปสู่ปัญหาอื่นๆ เช่น การก่ออาชญากรรม และพัวพันกับยาเสพติด แนวทางการดูแล ต้องรักษาอาการที่เป็นอยู่ให้ผู้ป่วยสามารถควบคุมจิตใจ โดยใช้ครอบครัว และกลุ่มบำบัด ช่วยปรับเปลี่ยนทัศนคติ

ไม่เพียงการพนันมีพิษสงร้ายกาจต่อผู้ใหญ่ ยังส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมและพัฒนาการทางสมองของเด็กและเยาวชนได้รุนแรงอย่างไม่น่าเชื่อ  มีงานวิจัยทางการแพทย์ระบุชัดเจนว่า การพนันสามารถทำลายสมองของเด็กและเยาวชนได้อย่างถาวร
“เยาวชน” ตามความหมายสากล ขององค์การสหประชาชาติ หมายถึง คนในวัยหนุ่มสาว หรือผู้ที่มีอายุระหว่าง 15-25 ปี ส่วน “เด็ก” หมายถึง ผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 15 ปีลงมา

ก่อนหน้านี้ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เคยสำรวจพบว่า มีเด็กไทยที่เล่นการพนันมากถึง 2.8 ล้านคน อายุน้อยสุดที่เล่นพนันคือ 7 ขวบ  มีเด็กและเยาวชนไทยที่เล่นการพนันครั้งแรก เมื่ออายุยังไม่เกิน 24 ปี อยู่ถึง 63% การพนันที่เด็กและเยาวชนไทยนิยมเล่นมากที่สุด อันดับ 1 คือ หวยใต้ดิน เล่นมากถึงประมาณ 1 ล้านคน รองลงมาคือ สลากกินแบ่งรัฐบาล 9 แสนคน นอกนั้นเล่นพนัน ไพ่ บิงโก และ ฟุตบอล โดยเฉพาะในกลุ่มนักศึกษาทั้งกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด พบว่ามีการเล่นการพนันมากถึง 29.2%

เชื่อกันว่า สาเหตุใหญ่ที่ทำให้เด็กและเยาวชนเล่นการพนันกันมาก เป็นเพราะวัยรุ่นชอบแสวงหาความตื่นเต้น และชอบเลียนแบบเพื่อนเพื่อเข้าสังคม

พญ.พรจิรา ปริวัชรากุล จากภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล จิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการทำงานของสมอง บอกว่าจะรู้ว่าคนเล่นการพนันผู้นั้น ติดการพนันหรือไม่ ให้ดูที่ความรับผิดชอบต่อหน้าที่ ซึ่งคนเล่นพนันผู้นั้นเคยมีมาก่อนหน้า

“ถ้าเดิมเขาเคยรับผิดชอบต่อหน้าที่การงานดีมาก เอาใจใส่ครอบครัว เลี้ยงดูรับส่งลูกตรงเวลา แต่พอมาเล่นการพนันแล้ว ก็ยังทำหน้าที่นี้ได้ดี ไม่มีที่ติ ก็ไม่นับเป็นโรค หรือว่าเดิมเขาเป็นผู้ที่ไม่มีความรับผิดชอบอยู่ก่อนแล้ว เมื่อเริ่มเล่นการพนัน ชีวิตก็ย่ำแย่ ก็ยังบอกไม่ได้เช่นกันว่า ป่วยเป็นโรคติดพนันหรือไม่

“คือต้องไม่หมกมุ่นจนทำให้เกิดความทุกข์ต่อตนเองและผู้อื่น ดังนั้น ติดหรือไม่ติด ต้องดูความเปลี่ยนแปลง ดูผลกระทบในทางพฤติกรรมที่เป็นรูปธรรมจริงๆ”

คุณหมอพรจิรา ว่า ในอดีต ไม่มีใครคิดว่า การพนันเป็นโรค เหมือนกับการกินเหล้า เล่นเกม มันไม่ได้แปลว่าทุกคนที่กินเหล้าต้องเป็นโรค  ไม่ใช่ทุกคนที่เล่นเกมต้องป่วย แต่จะดูว่ามันทำให้สัมพันธภาพของเรา กับคนรอบข้าง หรือความสามารถถูกลดทอนลงไปหรือไม่ ถ้ามันกระทบกับชีวิตในเชิงลบ จึงจะถือว่าเป็นโรค

“การพนันหรือการเล่นเกม ก็คือพฤติกรรม สิ่งที่ควบคุมให้เกิดพฤติกรรม ก็คือสมอง สิ่งที่ทำแล้วเพลิน เช่น ดื่มเหล้า เล่นเกม เล่นการพนัน  การทำอะไรสักอย่างแล้วมันฟิน ทำแล้วรู้สึกดีกับตัวเอง มันกระตุ้นให้เรามีแนวโน้มจะทำพฤติกรรมนั้นซ้ำๆ มันเกี่ยวข้องกับสมองส่วนที่ควบคุมเรื่องความสุข”

อย่างไรก็ตาม คุณหมอบอกว่า สถาบันวิจัยเกี่ยวกับสุขภาพจิตในอเมริกา (National Institute of Mental Health) ได้ศึกษาโครงสร้างสมองของวัยรุ่น  ด้วยการถ่ายเอกซเรย์สมองด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) พบว่าสมองของวัยรุ่นยังพัฒนาไม่สมบูรณ์ ช่วงวัยรุ่นตอนต้นเป็นวัยที่ยังขาดความยับยั้งชั่งใจ สมองส่วนหน้าซึ่งเกี่ยวข้องกับกระบวนการคิดที่ใช้เหตุผล จะพัฒนาสมบูรณ์ในช่วงอายุ 20 ปีขึ้นไป

ดังนั้น ถ้าวัยรุ่นหมกมุ่น หรือติดการพนัน จะทำให้สมองส่วนหน้าไม่เพิ่มเนื้อสมอง ไม่พัฒนา แถมยังอาจถูกคัดทิ้ง เพราะไม่ได้ใช้งาน ส่งผลต่อระบบคิดและพฤติกรรมที่จะติดตัวไปตลอดชีวิต คือจะกลายเป็นผู้ใหญ่ที่ไม่อดทนรอความสำเร็จ หวังได้เงินมาอย่างง่ายๆและรวดเร็ว

คุณหมอพรจิราสรุปว่า เด็กและเยาวชนจึงเป็นช่วงวัยที่มีความเสี่ยงสูงมากที่จะติดการพนันได้ง่ายและถอนตัวได้ยาก ความใกล้ชิดในครอบครัวเท่านั้น ที่จะเป็นปัจจัยป้องกันที่ดีที่สุด

วันก่อน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับศูนย์ข้อมูลนโยบายสาธารณะการลดปัญหาจากการพนัน และมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ จัดเวทีเสวนานโยบายสาธารณะ สานพลังป้องกันเด็กและเยาวชนไทย จากปัญหาการพนัน เพื่อสร้างพื้นที่ปลอดภัย  หรือเซฟตี้โซน (Safety Zone) ช่วยเด็กไทยพ้นภัยพนัน พร้อมเตรียมเสนอรัฐบาลให้มีหน่วยงานหลักดูแลเข้าถึงทุกระดับ

โดยผู้เข้าร่วมเสวนาฯเห็นตรงกันว่า การสร้างเซฟตี้โซน หรือพื้นที่ปลอดภัย ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่จะสร้างพื้นที่สีขาวให้แก่เด็กและเยาวชน โดยอาจทำผ่านสถานศึกษาที่เข้าร่วมก่อน จึงได้เตรียมนำความคิดเห็นที่ได้ ส่งไปให้รัฐบาล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาออกกฎหมายเอาผิดผู้เกี่ยวข้องเรื่องการพนันทั้งกระบวนการ เพิ่มโทษให้รุนแรงขึ้น ไม่ว่าจะเป็นโทษจำคุกหรือปรับ โดยไม่มีการละเว้น

ก็อยากรอลุ้นอยู่เหมือนกันว่า เมื่อรัฐบาลรับลูกและเอาจริง ทั้งมวยตู้ หวยใต้ดิน บ่อนไพ่ บ่อนไก่ วงไฮโล ลอตเตอรี่ และการพนันออนไลน์…จะถึงกาลอวสานไปจากสังคมไทยได้จริงหรือ.

ที่มา : ไทยรัฐ วันที่ 1 สิงหาคม 2559