สื่อสารความเคลื่อนไหว (ฉบับ 11)

สาระจากวงประชุม “เวทีสาธารณะเพื่อขับเคลื่อนการบูรณาการกลไกระดับชาติ ว่าด้วยสุขภาพและพัฒนาการวัยรุ่น”

 

วันพุธที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2560 เวลา 09.00 – 12.00 น.

ณ ห้อง 204 ชั้น 2 โรงแรมเซ็นทารา บายเซ็นทารา ศูนย์ราชการและคอนเวนชันเซ็นเตอร์


มีอะไรในวงประชุม?

          คณะทำงานขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ สมาคมครอบครัวแห่งประเทศไทย กรมสุขภาพจิต และองค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ ร่วมกับ ศูนย์ข้อมูลนโยบายสาธารณะการลดปัญหาจากการพนัน มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ ได้จัดงานประชุม “เวทีสาธารณะเพื่อขับเคลื่อนการบูรณาการกลไกระดับชาติ ว่าด้วยสุขภาพและพัฒนาการวัยรุ่น” ขึ้น เมื่อวันพุธที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2560 โดยนายวีระศักดิ์ พุทธาศรี รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวต้อนรับและชี้แจงวัตถุประสงค์ของการประชุมในครั้งนี้ กล่าวคือ

           จากการที่สมัชชาสุขภาพแห่งชาติได้มีมติเรื่องการพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อบูรณาการกลไกคุ้มครองเด็ก เยาวชน และครอบครัวจากปัจจัยเสี่ยง และได้เห็นชอบให้มียุทธศาสตร์เพื่อบูรณาการกลไกการคุ้มครองเด็ก เยาวชน และครอบครัวจากปัจจัยเสี่ยง (พ.ศ. 2558-2560) ประกอบไปด้วย 4 แนวทาง คือ

  1. การส่งเสริมและพัฒนาระบบสนับสนุนกลไกคุ้มครองเด็ก เยาวชน และครอบครัวจากปัจจัยเสี่ยง

  2. การป้องกันและคุ้มครองเด็ก เยาวชน และครอบครัวจากปัจจัยเสี่ยง

  3. การเฝ้าระวังภัยจากปัจจัยเสี่ยงที่จะส่งผลต่อเด็ก เยาวชน และครอบครัว

  4. การส่งเคราะห์และช่วยเหลือเยียวยาเด็ก เยาวชน และครอบครัวจากปัจจัยเสี่ยง

          โดยคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติได้มีมติเห็นชอบให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการ และมอบหมายให้คณะทำงานขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ดำเนินการร่วมมือกันเพื่อให้เกิดกลไกบูรณาการทั้งในระดับท้องถิ่น ระดับจังหวัด และระดับประเทศ ซึ่งการกำหนดแนวทางการร่วมมือดังกล่าว ส่วนหนึ่งได้รับความร่วมมือจากภาคประชาชนภายใต้แนวคิดนโยบายแบบมีส่วนร่วมของรัฐ กระทั่งสร้างเป็นเครือข่ายภาคประชาชน ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุข โดย กรมสุขภาพจิต ได้ร่วมกับองค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ ประเทศไทย (UNICEF) ได้จัดทำกรอบแนวทางเพื่อพัฒนยุทธศาสตร์ระดับชาติว่าด้วยสุขภาพและพัฒนาการวัยรุ่น พ.ศ. 2560-1569 ซึ่งจะเป็นเครื่องมือในการประสานบูรณาการกลไกการทำงานด้านวัยรุ่นของเยาวชนไทย จึงนำไปสู่การจัดประชุมเวทีสาธารณะขึ้น โดยวัตถุประสงค์ของการประชุมในครั้งนี้ คือ

  1. นำเสนอกรอบแนวทางเพื่อพัฒนาแผนยุทธศาสตร์ระดับชาติว่าด้วยสุขภาพและพัฒนาการวัยรุ่น

  2. ระดมความคิดเห็นต่อการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ระดับชาติว่าด้วยสุขภาพและพัฒนาการวัยรุ่น

          โดยมีเป้าหมายเพื่อนำข้อคิดเห็นในที่ประชุมเสนอแนะต่อการพัฒนาและขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ระดับชาติว่าด้วยสุขภาพและพัฒนาการวัยรุ่น และนำไปสู่การที่เด็กและเยาวชนได้รับการส่งเสริมการพัฒนาการที่เหมาะสมเพื่อเตรียมตัวเป็นวัยแรงงานที่มีคุณภาพ

          ลำดับต่อมา เป็นการนำเสนอหัวข้อ “การส่งเสริมและพัฒนาวัยรุ่นในประเทศไทย” โดย Miss Beena Kuttiparambil หัวหน้าฝ่ายเฮชไอวี/เอดส์ (พัฒนาการวัยรุ่น) UNICEF ประเทศไทย ได้ให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันประเทศประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร โดยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging society) ในแง่นี้ เด็กและเยาวชนจึงกลายเป็นทรัพยากรที่มีคุณค่า คำถามคือ ทำอย่างไรที่จะเพิ่มจำนวนเด็กและเยาวชนให้สูงขึ้น? และทำอย่างไรถึงจะพัฒนาเด็กและเยาวชนได้อย่างครบถ้วน? ในแง่นี้คำตอบจึงเกี่ยวพันกับ อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (Convention on the Rights of the child) หรือ CRC เป็นสัญญาด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศที่ได้รับความเห็นชอบเกือบทุกประเทศทั่วโลกได้ให้สัตยาบันร่วมกัน ซึ่งการทำงานเกี่ยวกับเด็กและเยาวชนจะต้องทำงานผ่านกรอบ CRC โดยมีการประสานความร่วมมือระหว่างภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ภาครัฐ ภาคประชาสังคม NGO และเยาวชน ส่วนหลักการทำงาน คือ 1. ไม่เลือกปฏิบัติ 2. คำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของเด็กและเยาวชน 3. พัฒนาเด็กและเยาวชนอย่างเต็มที่ และ 4. สร้างการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน แต่คำถามสำคัญคือ ประเทศไทยมีการดำเนินการตามกรอบ CRG เพียงพอแล้วหรือยัง? จากการที่ประเทศไทยให้สัตยาบันในการปกป้องคุ้มครองเด็กอายุตั้งแต่ 8-18 ปี ประกอบกับการที่ประเทศไทยให้การรับรองเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals) หรือ SDGs ซึ่งมีเป้าหมายหลายประการ เช่น การขจัดความยากจน การมีคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดี การได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างเท่าเทียมและทั่วถึง การส่งเสริมการมีงานทำและจ้างงานเต็มที่ เป็นต้น

          สำหรับการบรรลุเป้าหมาย สิ่งที่สำคัญเป็นอันดับแรกคือ ด้านสุขภาพ เนื่องจากเด็กมีความต้องการพื้นฐานหลายประการ ทั้งด้านร่างกายและจิตใจ ซึ่งปัจจุบันปัญหาที่จะต้องแก้ไขคือ การลดการติดเชื้อ HIV และการลดการตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควร รวมไปถึงการดูแลทางด้านโภชนาการและสภาพจิตใจ เมื่อพิจารณาจำนวนวัยรุ่นในประเทศไทยมีประมาณ 8 ล้านคน หากมีการจัดสรรงบประมาณให้แก่เด็กเหล่านี้ ประเทศก็จะได้รับผลตอบแทนอันคุ้มค่า และเพื่อให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ที่มีในการพัฒนาเด็กและเยาวชนอย่างรอบด้าน ดังนั้น หากมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลกันหลายระดับและการรวมกันเป็นสมัชชาก็จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่เอื้อให้เกิดยุทธศาสตร์และตามมาด้วยการลงทุนสนับสนุนงบประมาณต่อไป

          ทั้งนี้ การพัฒนาเด็กและเยาวชนเป็นส่วนหนึ่งของ SDGs ด้วย แต่บางครั้งการที่ประเทศไทยรับเป้าหมายมา มีการกำหนดเป็นนโยบาย แต่กลับไม่มีงบประมาณสนับสนุนมากเพียงพอ รวมถึงขาดการประสานงานจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการมีส่วนร่วมของเด็กและเยาวชน ดังนั้น จึงมีความต้องการให้เด็กและเยาวชนเข้ามาแลกเปลี่ยนและแสดงความคิดเห็น โดยมีการเปิดช่องทางหรือเวทีรับฟังมากยิ่งขึ้น จะส่งผลให้เกิดการตระหนักและนำไปสู่การกระตุ้นสังคมในภาพรวม

          ต่อจากนั้น เป็นช่วงการเสวนาและแลกเปลี่ยนแนวทางการส่งเสริมสุขภาพและพัฒนาการวัยรุ่นไทย นำเสวนาโดย ดร.ธีรารัตน์ พันทวี วงศ์ธนะอเนก นายกสมาคมวิทยุและสื่อเพื่อเด็กและเยาวชน ได้เกริ่นนำการเสวนาว่า จากการทำงานของกระทรวงสาธารณสุขที่ผ่านมา ประกอบกับการวางยุทธศาสตร์เกี่ยวข้องกับเด็กและเยาวชน จะมีแนวทางการดำเนินการต่อไปอย่างไร ในขณะที่ปัจจุบันจำนวนเด็กแรกเกิดลดน้อยลง และยังพบเห็นปัญหาของเด็กและเยาวชนอีกหลายประการ เช่น การตั้งครรภ์ การติดสารเสพติด และภัยจากสื่อออนไลน์ รวมถึงจะทำอย่างไรที่จะพัฒนาเด็กวัยรุ่นที่กำลังจะเข้าสู่วัยผู้ใหญ่อย่างมีศักยภาพ ซึ่งการพัฒนาเด็กและเยาวชนถือเป็นสิ่งที่สำคัญ ทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิต โดยจะต้องมีความร่วมมือระหว่างหลายส่วนที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะท้องถิ่น เพื่อการวางระบบการให้ข้อมูลสุขภาพที่เชื่อมถึงกันและพัฒนาการบริการเพื่อให้เด็กสามารถเข้ามาร่วมพูดคุยและขอคำปรึกษาได้ สำหรับวงเสวนาดังกล่าวประกอบไปด้วยผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำงานด้านเด็กและเยาวชน ดังนี้

          ผู้ร่วมเสวนาท่านแรก พญ.วัชรา ริ้วไพบูลย์ ผู้อำนวยการกลุ่มภารกิจ สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุขแห่งชาติ (สวรส.) ได้ให้ข้อมูลว่า สิ่งสำคัญคือผู้ใหญ่จะต้องเริ่มเข้าใจว่าวัยรุ่นเป็นช่วงวัยที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งในแต่ละช่วงวัยก็มีรายละเอียดที่แตกต่างกัน บางครั้งคนที่มีอายุเท่ากันก็มีความต้องการ/ความจำเป็นที่แตกต่างกัน เช่น เด็กบางคนพิการ (หูหนวก/เป็นใบ้) เราอาจจะดูอาการหรือลักษณะภายนอกไม่ออก ซึ่งเขาเหล่านี้ต่างมีความต้องการไม่เหมือนกับเด็กปกติทั่วไป จะทำอย่างไรที่จะให้เขาเข้าถึงสิ่งที่เด็กวัยรุ่นทั่วไปได้รับมากขึ้น นอกจากนี้ ยังมีประเด็นเรื่องที่อยู่อาศัย สถานะทางสังคม เพศสภาพ การศึกษา ฯลฯ จะต้องชี้ให้สังคมเห็นถึงปัญหาเหล่านี้และสามารถยอมรับในความแตกต่างหลากหลายนี้ได้ ไม่ใช่กีดกันเขาออกไป จนเป็นการส่งเสริมทำให้เด็กมองว่าตนเองคือปัญหาสังคม อีกประเด็นหนึ่งที่ควรให้ความสนใจคือ “ยาเสพติด” ครอบคลุมไปถึง กลุ่มยาลดน้ำหนัก ยาเพิ่มความขาว ที่กลายเป็นค่านิยมของเด็กวัยรุ่นผ่านสื่อออนไลน์ ควรนำมาพิจารณาให้อยู่ในประเด็นเดียวกัน สุดท้ายที่สำคัญที่สุดคือ การทำให้เด็กและเยาวชนเข้ามามีส่วนร่วม เพื่อกระตุ้นให้เขาคิดว่าเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลง และเพื่อให้เขามั่นใจว่าเขามีศักยภาพเพียงพอที่จะร่วมคิดร่วมทำได้

          ผู้ร่วมเสวนาท่านที่สอง นายพงษ์นรินทร์ นนท์ก่ำ รองประธานสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย ได้ให้ความเห็นว่า การที่จะเริ่มต้นชีวิตวัยรุ่นได้ดีพื้นฐานสำคัญมาจากครอบครัว กล่าวคือ เด็กจะมีพัฒนาการที่ดีได้ย่อมเกิดจากการเลี้ยงดูที่ดีของพ่อแม่ เช่น การมีโภชนาการที่สมบูรณ์ การพูดคุยอย่างเปิดใจ และได้รับการอบรมอย่างถูกต้อง เป็นต้น รวมถึงในสถานศึกษา จะต้องมีการปรับระบบการศึกษาให้เข้าถึงข้อมูลที่วัยรุ่นควรรู้ ได้แก่ sex education แต่ทว่าปัจจุบันก็ยังพบปัญหาการท้องไม่พร้อมอยู่ ซึ่งชี้ให้เห็นถึงสภาวะล้มเหลวของการศึกษาไทย เนื่องจากประเทศไทยยังไม่มีศูนย์ปรึกษาปัญหาวัยรุ่นที่น่าเข้าไปใช้บริการ เพราะ 1. บรรยากาศของสังคมไทยไม่เอื้อให้เข้าไปใช้บริการ เช่น หากเด็กต้องการปรึกษาจิตแพทย์ถือเป็นเรื่องน่าอายและถูกมองในแง่ลบ 2. ขาดการประชาสัมพันธ์อย่างทั่วถึง สังคมไม่ทราบว่ามีศูนย์ดังกล่าวอยู่ และ 3. มีความเป็นทางการมากเกินไป ทำให้เข้าถึงยาก ดังนั้น สถาบันต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องจะต้องมีการปรับตัวให้การทำงานมีความคล่องตัวและเข้าใจวัยรุ่นมากขึ้น โดยเฉพาะการสร้างสิ่งแวดล้อมให้เกิดความไว้เนื้อเชื่อใจ ทำให้เขารู้สึกว่ามีที่พึ่งหรือหาทางออกได้ อีกประเด็นหนึ่งคือ การใช้ความรุนแรงในครอบครัวและโรงเรียน เช่น การใช้ถ้อยคำหยาบคาย การล้อเลียน การตบตี ถือเป็นการสะสมความรุนแรงให้แก่เด็ก ทำให้เด็กเรียนรู้ที่จะส่งต่อความรุนแรงแก่คนรอบข้างต่อไป

          ผู้ร่วมเสวนาท่านสุดท้าย นายสุขวิชัย อิทธิสุคนธ์ แกนนำเครือข่ายเยาวชนบางกอกดีจัง เสนอว่า การเข้าถึงระบบสุขภาพต่าง ๆ ของเยาวชน เช่น การรักษาพยาบาล ควรทำให้เข้าถึงง่าย เพื่อที่เด็กและเยาวชนได้รับการดูแลสุขภาพอย่างมีคุณภาพ และนำไปสู่การที่เด็กและเยาวชนมีสุขภาพดี โดยปกติแล้วชุมชมที่ได้ทำงานอยู่ มีทั้งเด็กที่ติดยาเสพติดและตั้งครรภ์อยู่พอสมควร ดังนั้น ทางออกคือต้องให้ชุมชนเป็นฐานในการให้ความรู้และสร้างความเข้าใจว่าปัญหาที่เขาเผชิญไม่ใช่สิ่งที่น่าอาย และชุมชนพร้อมที่จะให้คำปรึกษาและช่วยเหลือเพื่อหาทางออก สำหรับสิ่งที่ควรส่งเสริมคือ การให้เด็กและเยาวชนมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา ไม่ใช่ให้ผู้ใหญ่หรือหน่วยงานอื่นเป็นคนกำหนดเพียงฝ่ายเดียว  เนื่องจากผู้ที่ใกล้ชิดปัญหามากที่สุดคือเด็กและเยาวชน นอกจากนี้ จากอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ที่ประกอบไปด้วย สิทธิที่จะมีชีวิตรอด สิทธิที่จะได้รับการพัฒนา สิทธิที่จะได้รับการปกป้องคุ้มครอง และสิทธิในการมีส่วนร่วม ในส่วนของประเทศไทยค่อนข้างที่จะขาดการเอาใจใส่ในเรื่องดังกล่าว ซึ่งจุดเริ่มต้นที่สำคัญคือครอบครัว เด็กที่มีปัญหามักไม่ได้รับการยอมรับจากครอบครัว ในขณะที่เมื่อเขาอยู่ข้างนอกกลับได้รับการยอมรับ เด็กจึงไม่ค่อยรับฟังครอบครัวแต่จะฟังคนอื่นมากกว่า

 

สิ่งที่ได้และก้าวต่อไป?

          จากวงเสวนาที่ประกอบไปด้วยตัวแทนจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั้ง ตัวแทนหน่วยงานภาครัฐ ตัวแทนสถาบันวิชาการ ตัวแทนภาคประชาสังคม ตัวแทนกลไกการทำงานกับเยาวชนในระดับพื้นที่ และตัวแทนเครือข่ายเด็กและเยาวชน ได้ร่วมกันแลกเปลี่ยนและระดมความคิดเห็นกระทั่งเกิดเป็นข้อเสนอหลัก ดังนี้

 

          1. ยุทธศาสตร์ฯ 4 ข้อ ที่กล่าวมาข้างต้น เป็นการเน้นไปที่ด้านสุขภาพเพียงอย่างเดียว ควรครอบคลุมไปถึงด้านอื่น ๆ ด้วย เช่น การศึกษา การส่งเสริมกิจกรรมต่าง ๆ นอกจากนี้ประเด็นเรื่องสุขภาพ เช่น การติดยาเสพติด การติดเชื้อ HIV การตั้งครรภ์ ปัจจุบันยังไม่มีการเยียวยารักษาเด็กกลุ่มนี้เท่าที่ควร มีเพียงการเน้นการป้องกันและการเฝ้าระวังเสียมากกว่า

 

          2. การจัดทำยุทธศาสตร์ ควรให้เด็กและเยาวชนทุกกลุ่มได้มีส่วนร่วม เช่น เด็กด้อยโอกาส เด็กชายขอบ ไม่อยากให้มองว่าเป็นความหวังดีของผู้ใหญ่ แต่อยากให้เขาเข้าใจว่าเขาก็เป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ ดังนั้น ควรมีเวทีสาธารณะให้ครอบคลุมทุกพื้นที่และทุกกลุ่ม

 

          3. การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ไม่ควรจำกัดอยู่แค่กระทรวงสาธารณสุขเป็นหน่วยงานหลัก แต่ทุกหน่วยงานจะต้องขับเคลื่อนร่วมกัน โดยไม่ต้องรอให้ทางกระทรวงสาธารณสุขสั่งการหรือกำหนดกิจกรรมว่าจะต้องทำอะไร แต่หน่วยงานทั้งหลายจะต้องดำเนินการให้สอดคล้องกับความรับผิดชอบ และริเริ่มไปพร้อมกัน

 

           4. การส่งเสริมศักยภาพเด็กและเยาวชนในสถานศึกษา คุณครูต้องมีวิธีการสื่อสารกับเด็ก ไม่ใช่การกดดัน ดูถูก เปรียบเทียบ หรือใช้ถ้อยคำรุนแรง จะต้องส่งเสริมให้คุณครูมีการเสริมสร้างกำลังใจและเชื่อมั่นในศักยภาพของเด็ก และสนับสนุนให้มีการสื่อสารเชิงบวก

 

          5. การเข้าถึงเด็กและเยาวชน ทางศูนย์บริการหรือคลินิกที่ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ควรให้บริการที่เข้าถึงง่ายและเป็นมิตร เช่น การตรวจ HIV ปีละ 2 ครั้ง แต่ต้องให้ผู้ปกครองไปด้วย ทำให้ยากแก่การไปใช้บริการ และควรนำเสนอข้อมูลในเชิงบวกมากขึ้น ไม่ใช่ให้เข้าใจว่าหากติดเชื้อแล้วจะต้องเสียชีวิต ดังนั้น การสาธารณสุขไทยจะต้องปรับตัวและสร้างความเข้าใจให้กับสังคมเสียใหม่

 

          6. หากมีการจัดกิจกรรมในชุมชนหรือท้องถิ่น เช่น การป้องกันการตั้งครรภ์ในวัยเรียน การป้องกันยาเสพติด ในกรณีที่ขอความร่วมมือจากเยาวชนให้มาเข้าร่วม ผู้ปกครองจะบางส่วนอาจไม่ให้ความร่วมมือเพรามีความคิดที่ว่าการที่จะให้บุตรหลานไปเข้าร่วม นั่นหมายถึงบุตรหลานจะต้องตั้งครรภ์หรือติดยาเสพติด ทำให้กลัวการเข้าใจผิดจากสังคม ดังนั้น ก่อนที่จะจัดกิจกรรมจะต้องให้ความรู้ความเข้าใจเสียก่อน

 

          7. รัฐบาลควรสนับสนุนงบประมาณให้แก่เด็กและเยาวชนมากขึ้น จะทำอย่างไรให้รัฐบาลกล้าที่จะลงทุนกับเด็กและเยาวชนที่ถือเป็นกำลังสำคัญของประเทศ โดยต้องสร้างค่านิยมใหม่ว่า อย่ามองแค่ว่าเขาเป็นเพียงทรัพย์สินอันมีค่าของสังคม แต่อยากให้มองว่าเขาเป็นประชาชนที่มีสิทธิเท่าเทียมกันกับทุกคนในสังคมและมีส่วนในการขับเคลื่อนสังคมได้ ดังนั้น ไม่ควรมองแค่ปัจจุบันว่าเขาเป็นเพียงวัยรุ่น แต่ต้องมองให้ไกลถึงอนาคตข้างหน้าในแง่ของการเป็นแรงงานสำคัญของประเทศ

          นอกจากนี้ ยังมีประเด็นอื่น ๆ ที่น่าสนอีกหลายประเด็น ซึ่งความเห็นโดยรวมมุ่งเป้าไปที่การให้เด็กและเยาวชนเข้ามามีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น ทั้งต่อการจัดทำยุทธศาสตร์และการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ทั้งนี้ ประเด็นที่กล่าวมาทั้งหมด บางประเด็นอาจปรากฎได้ในปีแรก หรือบางประเด็นอาจปรากฎในปีที่ 2 หรือ 3 หรือปีต่อ ๆ ไป ไม่ใช่ทุกประเด็นจะต้องทำได้จริงพร้อมกันในปีเดียว แต่จะต้องอาศัยความร่วมมือของทุกภาคส่วนที่ช่วยกันทำให้ประเด็นทุกประเด็นสามารถผลักดันให้เกิดขึ้นจริงได้ สิ่งที่สำคัญคือการเริ่มต้นดำเนินการควรจะเริ่มไปยังกลุ่มที่เปราะบางและต้องการความช่วยเหลือมากที่สุด แต่จะต้องพิจารณาร่วมกันกับยุทธศาสตร์ ว่าจะต้องส่งเสริมทางด้านใดและหน่วยงานใดเข้ามาเกี่ยวข้องบ้าง เพื่อให้การดำเนินงานตรงจุดและรวดเร็วที่สุด