ร่วมคิดร่วมคุย1 (ฉบับ 11)

ร่วมคิดร่วมคุย: การจัดการปัญหาการพนันระหว่างเยาวชนและชุมชน

สัมภาษณ์พิเศษ: คุณจุมพล มุธุสิทธิ์ รองนายกองค์การบริหารส่วนตำบลแคนน้อย

 

 

สัมภาษณ์โดย : อรรถสิทธิ์ พานแก้ว พิชญา วิทูรกิจจา

เรียงเรียงโดย: ชนิกานต์ กาญจนสาลี สุวลัย เมืองเจริญ

 


ถอดสลักวิธีคิด โมเดลท้องถิ่นไทย

แก้ปัญหาเหล้า-ยา- และการพนัน

          หากพูดเรื่องการแก้ปัญหาการพนันในระดับท้องถิ่น การเจาะวิธีคิดเชิงโมเดลของพื้นที่ตำบลแคนน้อย อ.คำเขื่อนแก้ว จ.ยโสธร อาจจะทำให้หลายท้องที่สามารถนำไปปรับประยุกต์ใช้ได้

          “จุมพล มุธุสิทธิ์” รองนายกอบต.แคนน้อย อ.คำเขื่อนแก้ว จ.ยโสธร เล่าว่าได้เก็บข้อมูลของตำบลแคนน้อยโดยมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) ตั้งแต่ประมาณปี พ.ศ. 2557 พบว่าการพนันส่งผลกระทบต่อเยาวชน และคนทั่วไป ทั้งปัญหาสุขภาพ เศรษฐกิจ และอาชญากรรมที่มากที่สุด คือ “หวย”  อีกทั้งปัจจุบันปัญหาที่เพิ่มขึ้นมา คือ “หวยลาว” รูปแบบคล้ายคลึงกับหวยไทย ออกถี่ ซื้อง่าย และสะดวกสามารถซื้อผ่านทางมือถือได้ และไม่ใช่แค่หวยลาวที่ผ่านทางมือถือได้ หวยไทย การพนันฟุตบอลก็เช่นกัน

           ถึงวันนี้ เขาบอกว่าสำหรับในพื้นที่ตำบลแคนน้อย นับว่าเป็นเรื่องที่น่ายินดี เพราะเรื่องการพนันฟุตบอลไม่ค่อยมีคนสนใจ เนื่องจากได้สร้างภูมิคุ้มกันในเรื่องการพนันฟุตบอลไว้แล้ว

          น่าสนใจว่า ข้อเท็จจริงของเส้นทางชุมชนแคนน้อย กว่าจะมีภูมิคุ้มกันเรื่องการพนันได้ขนาดนี้ ต้องผ่านอะไรมาแล้วบ้าง บรรทัดต่อจากนี้คือ สิ่งที่เป็นโมเดลท้องถิ่นอีกหนึ่งในการรับมือกับปัญหา เหล้ายา และการพนัน ที่ควรศึกษาและนำมาปรับใช้ให้เหมาะสม

 

  1. อะไรคือ ต้นตอปัญหาพนันในพื้นที่ตำบลแคนน้อย

          ก่อนที่ผมจะเข้าไปเป็นผู้บริหารท้องถิ่น ในสมัยก่อนดูแลคลุกคลีเกี่ยวกับเรื่องเยาวชนในพื้นที่อยู่แล้ว รับรู้ถึงปัญหาและปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ของเยาวชนในพื้นที่ ครอบคลุมทุกตำบลในอำเภอคำเขื่อนแก้ว จังหวัดยโสธร พบว่าประเด็นปัญหาที่สำคัญที่สุด คือ เหล้า บุหรี่ และยาเสพติด แต่หลังจากนั้นกลับพบปัญหาที่ตามมาอีกคือ “ปัญหาการพนัน” จึงเริ่มต้นทำงานกับองค์กรอิสระต่าง ๆ มูลนิธิ เช่น มูลนิธิหมู่บ้าน ที่ทำงานเกี่ยวกับเยาวชน รวมถึงมีโอกาสได้เข้าไปทำงานร่วมกับ สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สกล.) กระทั่งปี พ.ศ. 2555 เป็นรองนายก อบต. โดยนายกได้มอบหมายให้ทำเรื่องปัจจัยเสี่ยงและให้ดูแลเยาวชนในตำบล ซึ่งก่อนหน้านี้เราดูแลเยาวชนมาก่อนในนามของ TO BE NUMBER ONE

         จากการดูแลเยาวชนในโครงการ TO BE NUMBER ONE ปัจจุบันมีสมาชิก ประมาณ 380 คน ซึ่งตำบลแคนน้อยอยู่ในการรักษามาตรฐานระดับเพชร มีกิจกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับ เหล้า บุหรี่ ยาเสพติด รวมถึงการพนัน โดยมีเป้าหมายในการต่อต้านประเด็นดังกล่าวโดยเฉพาะ อีกทั้งยังมีการประสานงานกับมสช. ที่เราไปเข้าร่วมเมื่อปี พ.ศ. 2555 และยังมีมูลนิธิหมู่บ้าน ที่เน้นประเด็นการพนันในเยาวชนเป็นหลัก โดยทำหน้าที่ประสานงานกัน สำหรับการทำงานจะเน้นให้เยาวชนรณรงค์ในหมู่บ้าน ทั้งการให้ความรู้และความตระหนักถึงพิษภัยการพนัน แต่การรณรงค์ก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ทำยากมาก ถ้าเทียบกับในสถานศึกษาจะทำงานง่ายกว่า เพราะมีขอบเขตชัดเจน แต่ในชุมชนคล้ายกับการจับปูใส่กระด้ง คือจะมีเยาวชนที่หลุดจากกรอบของโรงเรียนและชุมชนออกไป ทำให้ดูแลไม่ทั่วถึง

  1. ที่บอกว่างานชุมชนคล้ายจับปูใส่กระด้ง แสดงว่ามีความซับซ้อนและยากมากกว่างานเคลื่อนไหวหรือรณรงค์รูปแบบอื่นๆ

          เพราะการทำงานของ อบต. ยังครอบคลุมไปถึงการเชิญเจ้าหน้าที่ที่อยู่ในแวดวงการศึกษามาให้ความรู้แก่เยาวชน โดยตำบลแคนน้อยมีการตั้งงบประมาณปีละ 2 แสนบาท เพื่อขับเคลื่อนการลดปัจจัยเสี่ยงผ่านโครงการ TO BE NUMBER ONE และสภาเด็กและเยาวชนของตำบล ร่วมกับงบอีกส่วนหนึ่งที่ได้มากจาก สกล. สสส. และ มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.)  เอามาผสมผสานกันเป็นทุนขับเคลื่อนในการจัดกิจกรรมต่าง ๆ การดำเนินการหลักจะผ่าน 2 ส่วน คือ TO BE NUMBER ONE และสภาเด็กและเยาวชน

          แม้ว่าจริง ๆ แล้วสมาชิกสภาเด็กและเยาวชนก็คือเนื้อเดียวกันกับสมาชิก TO BE NUMBER ONE เพียงแต่สภาเด็กและเยาวชนจะมีงบประมาณมาจากภาครัฐ แต่ TO BE NUMBER ONE ไม่มีงบประมาณ จึงต้องหาสปอนเซอร์ด้วยตนเองมาขับเคลื่อนกิจกรรมทั้งในระดับท้องถิ่น ระดับภาคและระดับประเทศ ดังนั้น เมื่อมีการตั้งสภาเด็กและเยาวชนขึ้นตามข้อกำหนดของรัฐจึงให้เด็กจาก TO BE NUMBER ONE เข้ามามีส่วนร่วมสำหรับการดำเนินการ TO BE NUMBER ONE ของตำบลแคนน้อย เริ่มต้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 รวมเวลาทั้งสิ้น 12 ปีแล้ว กระทั่งถึงระดับเพชร และต้องรักษาระดับนี้เอาไว้อีก 2 ปี ถือเป็นเรื่องที่ท้าทายและเป็นแรงผลักดันที่ทำให้เราต้องตั้งใจทำงานให้บรรลุผลอย่างต่อเนื่อง ในส่วนนวัตกรรมที่ขับเคลื่อนคือการให้เยาวชนต่อต้านการพนัน เหล้า บุหรี่ และ ยาเสพติด แม้ว่าการต้านยาเสพติดจะเป็นเป้าหมายหลักของ TO BE NUMBER ONE แต่ปัญหาทั้งหมดมันเชื่อมกันอยู่ เนื่องจากปัจจุบันการพนันถือว่าเป็นเรื่องใหญ่ ไม่ใช่แค่กระทบต่อเยาวชนแต่ยังมีผลกระทบไปถึงคนรอบข้าง ผู้ปกครอง ญาติพี่น้อง ดังนั้นจึงให้เยาวชนเป็นตัวกลางในการนำความรู้ไปเผยแพร่ให้คนรอบข้างเข้าใจ

  1. อยากให้ประเมินกลไกที่มีอยู่ในชุมชนมีประสิทธิภาพเพียงพอแล้วหรือไม่

          แม้ว่าเราจะมีการขับเคลื่อนผ่านการสร้างกลไกหรือนวัตกรรมใหม่ ๆ หรืออบรมเยาวชนกี่รุ่นต่อกี่รุ่น แต่เราก็ไม่สามารถตามนวัตกรรมของเจ้ามือหวยได้ทัน โดยเขาจะแซงหน้าเราตลอด ย้อนกลับไปสมัยก่อนที่เทคโนโลยียังไม่ก้าวไกลนัก เราแก้ไขโดยการเรียกเจ้ามือหวยในชุมชนเข้ามาพูดคุยประมาณ 11-12 คนโดยขอร้องไม่ให้มีการเดินโพย หรือห้ามจำหน่ายให้เด็กและเยาวชน แต่ทุกวันนี้เขาเปลี่ยนรูปแบบโดยการส่งโพยทางโทรศัพท์ จึงค่อนข้างควบคุมยาก คำตอบที่ถามว่าเราพอใจกับกลไกที่มีอยู่หรือไม่ คือ ไม่มีคำว่าพอใจ เพราะเราต้องพัฒนาตามเทคโนโลยีให้ทัน สิ่งที่เราทำได้ในขณะนี้คือ ป้องกันไม่ให้เยาวชนยุ่งเกี่ยวกับการพนันให้ได้มากที่สุด แต่กรณีผู้ใหญ่ที่อายุมากแล้ว เช่น 50-60 ปี เราก็ปล่อยไป เพราะเราเน้นเฉพาะเด็กและเยาวชน 400 กว่าคนที่เราดูแล เพื่อที่เขาจะเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ ผ่าน TO BE NUMBER ONE และสภาเด็กและเยาวชนเป็นแกนหลักในการดำเนินการ ประกอบกับข้อกำหนดของการเลิกดื่มเหล้าและการพนันในงานศพ ซึ่งสมัยก่อนในงานศพจะมีทั้งเหล้า ไฮโล ไพ่ และการพนันชนิดอื่น ๆ แต่ทุกวันนี้ไม่มีเรื่องเหล่านี้ ดังนั้น แคนน้อยจึงกลายเป็นชุมชนตั้นแบบระดับประเทศที่ไม่มีอบายมุขในงานศพ ซึ่งเยาวชนจากทั้งสองกลุ่มก็จะเป็นผู้ช่วยสอดส่องดูแล

“…ถือได้ว่าเป็นชุมชนที่เคารพกฎและมีความสมามัคคีเป็นอย่างดี เพราะเราเริ่มต้นจากเยาวชน โดยให้ลูกหลานไปขอร้อง ไปบอกกล่าว…” 

 

  1. อยากให้ช่วยเล่า โมเดลห้ามดื่มเหล้าในงานศพที่ประสบความสำร็จ โดยการให้เยาวชนมาช่วยสอดส่องดูแลเป็นอย่างไร

          เนื่องจากเราเป็นตำบลขนาดเล็กมีเพียง 7 หมู่บ้าน และประชากรเพียง 4,000 คน ทุกคนรู้จักกันเกือบทั้งหมด ยกตัวอย่างเช่น สมมติหมู่บ้านไหนมีงาน เยาวชนในหมู่บ้านก็จะไปช่วยสอดส่องดูแล หากว่าพบว่ามีการเล่นการพนันก็จะรายงานเข้ามา เพราะเราพัฒนาเรื่องกฎกติกาว่า “ห้ามมีการดื่มเหล้าและเล่นการพนันในงานศพ” และจะมีคณะกรรมการระดับนโยบาย และผู้บริหารในท้องที่จัดการ ช่วงระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา ยังไม่พบรายงานผู้กระทำผิด แต่ในกรณีพบผู้กระทำความผิดจริง ขั้นแรกคณะกรรมการหมู่บ้านจะเรียกมาตักเตือนก่อน และถ้าพบว่าเจ้าภาพมีความผิดจริงจะเก็บค่าปรับ 10,000 บาท ทางท้องถิ่นเองมีการทำป้ายประชาสัมพันธ์กฎกติกาไว้ตลอด หากประเมินการดำเนินการที่ผ่านมาไม่ว่าจะเป็นงานศพหรืองานบุญ 80-90% จะไม่พบการกระทำผิดเลย ที่เหลือ 10-20% คือ คนจากท้องที่อื่นที่เป็นญาติพี่น้องเข้ามา ไม่รู้กฎกติกาจึงอาจทำผิดกฎได้ ซึ่งเราก็ต้องบอกเขาให้เข้าใจ แต่คนในชุมชนจริง ๆ จะปฏิบัติตามกฎ ถือได้ว่าเป็นชุมชนที่เคารพกฎและมีความสมามัคคีเป็นอย่างดี เพราะเราเริ่มต้นจากเยาวชน โดยให้ลูกหลานไปขอร้อง ไปบอกกล่าว มีหลายกรณีที่พ่อแม่ดื่มเหล้า แล้วลูกไปขอร้องเขาก็หยุด และยิ่งช่วงมีกิจกรรมตามงานเทศกาลต่าง ๆ เช่น การรณรงค์งดเหล้าเข้าพรรษา การสวดมนต์ข้ามปี ก็จะมีการจัดกิจกรรมต่อเนื่องมาตลอด และเข้มข้นเรื่อย ๆ ดังนั้น การดำเนินการที่ผ่านมาจึงเป็นที่ประจักษ์กระทั่งรองผู้ว่าราชการจังหวัด ยกให้เป็นชุมชนต้นแบบ

  1. สิ่งที่กังวลในอนาคตสำหรับการดูแลและการจัดการปัญหาการพนันในชุมชน

          สิ่งที่กังวลมากที่สุดคือการหาผู้นำรุ่นใหม่ สำหรับผู้นำยุคนี้จะต้องหมดวาระไป เช่นเดียวกับเราปัจจุบันอายุ 54 ปี อีกไม่นานก็เกษียณและต้องหยุดทำงาน จึงเกรงว่าว่าถ้าเราหยุดทำงาน ปัญหาต่าง ๆ ที่เคยเผชิญจะกลับมาอีกหรือไม่ ที่สำคัญไม่รู้ว่าจะมีใครขึ้นมาทำหน้าที่เป็นแกนหลักแทนเราได้อีก ซึ่งตอนนี้ก็มีการพยายามสร้างแกนนำรุ่นใหม่ อายุประมาณ 30 ปีขึ้นมา โดยกำหนดให้ผู้นำทุกคนต้องไม่กินเหล้าและเล่นการพนัน แต่ก็ทำได้ยาก เพราะถ้าทำผิดข้อกำหนดเมื่อไรต้องให้ออกจากตำแหน่งทันที แต่ปัจจุบันดีตรงที่มีกฎหมายเข้ามาช่วย คือ พรบ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เช่น มาตรการห้ามดื่มในสถานที่ราชการ วัด ห้ามขายให้เด็กต่ำกว่า 20 ปี กำหนดเวลาขาย และห้ามมีการแบ่งขาย ฯลฯ ในชุมชนมีการเข้าไปดูแลและพูดคุยเรื่องกฎหมายที่ออกมาให้ร้านค้าต่าง ๆ เข้าใจ

 

“…เราก็คุยกับเยาวชนว่าห้ามซื้อเด็ดขาด โดยใช้การสื่อสารผ่านการณรงค์เป็นประจำ รวมถึงมีการเข้าค่ายให้ความรู้ และในอนาคตกำลังจะมีโครงการให้เยาวชนเข้าค่ายเกี่ยวกับการรู้เท่าทันปัญหาการพนัน…”

 

  1. ความท้าทายในการสื่อสารให้คนในชุมชนรับรู้และเข้าใจถึงปัญหาการพนัน

          ปกติการสื่อสารในระดับประชาชน จะสื่อสารกันในประชาคมหมู่บ้านและชุมชน ผ่านเวทีกลาง ส่วนคณะกรรมาการต่าง ๆ จะสื่อสารกันในเวทีประชุมคณะกรรมการตำบล เป็นการสื่อสารในระดับผู้นำ ส่วนเวทีประชาคมจะประชุมเดือนละครั้ง รวมทุกหมู่บ้าน โดยสิ่งท้าทายคือ เวลาประชุมทุกครั้งมักจะมีแรงต้านจากภาคเอกชน คือ ร้านค้า ซึ่งมีพฤติกรรมที่สร้างผลกระทบ เช่น ขายไม่ตรงเวลา ขายให้กับเยาวชน หรือกระทั่งมีการเดินโพยทำให้เยาวชนเห็นชัดเจน แต่เมื่อเร็ว ๆ นี้ เพิ่งจะมีการคุยกันกับร้านค้าต่าง ๆ ว่า ห้ามเดินโพยให้เยาวชนต่ำกว่า 20 ปีเห็น ถึงแม้คุณจะเล่นการพนันจริง เดินโพยจริง ก็เล่นไป เพราะการไปห้ามไม่ให้เขาเล่นหรือขายมันยาก แต่เราขอร้องไม่ให้เขาขายให้กับเยาวชนหรือห้ามทำให้เยาวชนเห็นเป็นเรื่องปกติ ส่วนผลลัพธ์กำลังติดตามอยู่

          แต่ในส่วนหนึ่งเราก็คุยกับเยาวชนว่าห้ามซื้อเด็ดขาด โดยใช้การสื่อสารผ่านการณรงค์เป็นประจำ รวมถึงมีการเข้าค่ายให้ความรู้ และในอนาคตกำลังจะมีโครงการให้เยาวชนเข้าค่ายเกี่ยวกับการรู้เท่าทันปัญหาการพนัน นอกจากนี้ ยังมีอีกบทบาทหนึ่งคือการที่เราเป็นคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และเป็นผู้ประสานงานเครือข่ายงดเหล้าของจังหวัดยโสธร ทำให้มีข้อมูลมากพอที่จะสามารถพูดคุยกับชาวบ้านได้ อีกทั้งมีส่วนในการขับเคลื่อนนโยบาย และของบประมาณมาให้ชุมชนเพื่อจัดทำโครงการต่าง ๆ เราก็แฝงเรื่องต่อต้านการพนันเข้าไปด้วย เพราะถ้าเด็กติดการพนันมักจะมีผลกระทบส่วนอื่นตามมา โดยเฉพาะ 2 ปัญหาหลักที่เกี่ยวข้องกัน คือ การพนันและยาเสพติด ถ้าติดยาเสพติดก็ต้องหาเงินมาซื้อผ่านการพนัน และถ้าเล่นการพนันได้เงินมาก็เอาเงินไปซื้อยาเสพติด เป็นวัฏจักรที่อันตรายและแก้ไขได้ยาก

 

  1. อยากฝากอะไรถึงหน่วยงานหรือองค์กรที่เกี่ยวข้องกับการจัดการปัญหาการพนัน

          ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานระดับนโยบาย ตั้งแต่นโยบายระดับชาติ ระดับท้องถิ่น ระดับมูลนิธิ หรือระดับมหาวิทยาลัย ขอให้มีความจริงใจในการทำงาน โดยเฉพาะภาครัฐที่มีการออกพรบ.การพนันมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2478 กระทั่งปัจจุบันยังไม่มีการแก้ไขพรบ.ฉบับนี้ให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง การนิยามคำว่าการพนันยังไม่เปลี่ยน ยังไม่ครอบคลุมการพนันออนไลน์และรูปแบบอื่น ๆ เช่นกัน สำหรับในระดับจังหวัด อยากให้ท่านผู้ว่าฯ ที่มีอำนาจหน้าที่ ควรเอาประเด็นการพนันไปเป็นนโยบายหลักที่จะขับเคลื่ออนดูแลเยาวชนด้วยความจริงจังและจริงใจ และในระดับตำบลก็ขอให้บังคับใช้กฎหมายที่มีอยู่ ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยเสี่ยงด้าน เหล้า บุหรี่ ยาเสพติด และการพนัน ซึ่งกฎหมายการพนันมีมาก่อนกฎหมายเหล้า บุหรี่ เสียอีก แต่ไม่มีการนำมาปรับใช้ ควรให้ตำบลมีคณะกรรมการดูแลเรื่องนี้ ผ่านการออกกฎกมายประเด็นนี้โดยเฉพาะ แต่สำหรับตำบลแคนน้อยมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาอยู่แล้วโดยกำนัลเป็นประธาน ดังนั้นถ้าจะแก้ไขปัญหาในระดับท้องถิ่น ต้องมีกฎหมายออกมารองรับโดยให้คณะกรรมการบทบาทในการกำกับดูแล เพราะถ้าไม่มีกฎหมายเราจะไปบังคับหรือจับกุมเขาไม่ได้ เรามีหน้าที่แค่ตักเตือนเท่านั้น ซึ่งไม่เพียงพอ

          นอกจากนี้ อยากให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ดูแลในเรื่องบุคลากร งบประมาณ และการดำเนินการ ควรมีการจัดสรรให้มาดูแลในส่วนนี้โดยเฉพาะ ผ่านการตั้งเป็นข้อบัญญัติสำหรับต่อต้านการพนันและปัจจัยเสี่ยงในท้องถิ่น ดังนั้น คน งบ และการจัดการ จึงเป็นสิ่งสำคัญสำหรับประเด็นนี้ ที่ผู้บริหารต้องให้ความสำคัญ