ร่วมคิดร่วมคุย2 (ฉบับ 11)

ร่วมคิดร่วมคุย: การจัดการปัญหาการพนันระหว่างเยาวชนและชุมชน

สัมภาษณ์พิเศษ: คุณสุภัควดี พิมพ์มาศ (ปาล์มมี่) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนาน่าน

สัมภาษณ์โดย : อรรถสิทธิ์ พานแก้ว พิชญา วิทูรกิจจา

เรียงเรียงโดย: ชนิกานต์ กาญจนสาลี สุวลัย เมืองเจริญ


พลังหนุ่มสาว หนึ่งแรงฉุดหยุดการพนัน

            หลายคนได้ยินว่า ความหลงใหลในการพนัน เป็นทัศนคติที่ฝังรากและเป็นสิ่งที่เพาะบ่มอยู่ในตัว ไม่ว่าจะรู้ตัวหรือไม่รู้ตัว ไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ ก็สะสมมาอย่างยาวนานจนยากจะแก้ไขและสร้างปัญหาเมื่อเติบใหญ่ในวันข้างหน้าได้อย่างไม่คาดคิด

          วันนี้ชวนเปิดมุมคิดของคนรุ่นใหม่ ในการทำงานเชิงรณรงค์ต่อต้านปัญหาพนันในกลุ่มเด็กและเยาวชน เพราะถ้าเยาวชนมองปัญหาการพนันเป็นเรื่องสนุกสนานตั้งแต่เริ่มต้นในเยาว์วัย การแก้ไขทัศนคติที่มีต่อปัญหาการพนันก็จะยิ่งเป็นงานระดับชาติที่แก้ไขยากขึ้นทวีคูณ

          สุภัควดี พิมพ์มาศ (ปาล์มมี่) จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนาน่าน สะท้อนมุมมองความหนักใจของเยาวชนต่อเรื่องการพนัน โดยสิ่งที่หนุ่มสาวเหล่านี้พยายามทำคือ การตักเตือนเพื่อน แนะนำการแบ่งสัดส่วนจากเงินที่มีให้เหมาะสม เช่น มีเงิน 10 บาท แบ่ง 2 บาท ไปซื้อหวย นอกนั้นแบ่งเป็นค่าใช้จ่ายส่วนตัว และแบ่งไว้เก็บ ไม่ใช่เล่นจนเกินตัว แต่ต้องเล่นแล้วไม่ทำให้ตนเองและคนรอบข้างเดือดร้อน

          การเริ่มต้น จากจุดเล็กๆ น่าจะมีพลังไม่น้อยกว่าการคิดการณ์ใหญ่ และทำในระดับชาติ เพราะทั้งหมดนี้เป็นงานใหญ่ที่ต้องทำคู่ขนานกันไปจนกว่าจะเห็นผล

 

“เราเป็นเพียงกลไกหรือฟันเฟืองเล็ก ๆ ไม่อาจจะจัดการอะไรที่ยิ่งใหญ่ได้ ดังนั้น การจัดการปัญหาอาจจะใช้พลังเสียงของนักศึกษา นักเรียน เป็นตัวขับเคลื่อนหลัก” 

 

  1. ความยากของการรณรงค์ปัญหาการพนันคืออะไร

          การพนันเป็นเรื่องที่เราไม่อาจทราบได้ว่าใครเล่นบ้าง มันเห็นได้ยากกว่า ประกอบกับการทำงานเกี่ยวกับการส่งเสริมสุขภาพทั้งเยาวชนและบุคลากรมหาวิทยาลัย ถือได้ว่างานที่เราทำเป็นการสะสมประสบการณ์ จึงทำให้มีเครือข่ายจำนวนมากทั้งมหาวิทยาลัย ภาคประชาสังคม หน่วยงานรัฐและเอกชน และจังหวัดน่านก็เป็นจังหวัดที่เข้มแข็ง มีหน่วยงานเข้ามาช่วยในการขับเคลื่อนมากมาย อีกทั้ง จังหวัดยังตระหนักถึงปัญหาและขับเคลื่อนเกี่ยวกับปัญหาเหล่านี้เรื่อยมา

          สำหรับที่มาในการมาณรณรงค์ต่อต้านพนัน คือหลังเรียนจบมหาวิทยาลัยมีโอกาสทำงานเกี่ยวข้องกับสื่อ จึงสนใจเกี่ยวกับการนำเสนอของสื่อ เนื่องจากสื่อสามารถเป็นได้ทั้ง การชี้นำ การขับเคลื่อน และการป้องกัน ล้วนมาจากสื่อแทบทั้งสิ้น ดังนั้น การนำเสนอเรื่องการพนันของสื่อจึงมีทั้งข้อดีและข้อเสีย จากนั้นได้กลับมาทำงานที่บ้านเกิด จ.น่าน โดยทำงานที่กองกิจการนักศึกษา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนาน่าน ได้รับโอกาสเข้าไปนั่งในคณะกรรมการจังหวัด ผ่านการเป็นคนขับเคลื่อนเรื่องเกี่ยวกับบุหรี่ สุรา มาก่อน และได้ไปให้ความรู้เกี่ยวกับการทำหนังสั้นที่เกี่ยวกับโทษภัยของบุหรี่และสุรา ในระดับมัธยมศึกษา ดังนั้น จะเห็นว่าก่อนหน้านี้ในจังหวัดน่านมีเพียงการรณรงค์เรื่อง สุรา บุหรี่ ซึ่งเป็นเรื่องที่เราเห็นเป็นที่ประจักษ์ แต่รวมถึงได้รับรางวัลที่เกี่ยวข้องกับการรณรงค์ปัญหาเหล่านี้ ต่อมาได้รับเชิญจาก มสช. ภายใต้โครงการมหาวิทยาลัยไทยหยุดพนัน เมื่อได้มาเข้าร่วมและได้รับฟังข้อมูลเกี่ยวข้องกับภัยการพนัน และเห็นหลาย ๆ มหาวิทยาลัยที่ได้ดำเนินการไปก่อนเรามากมาย จึงอยากนำข้อมูลนี้ไปปรับใช้กับที่มหาวิทยาลัย จึงเป็นที่มาของการเริ่มทำโครงการจัดการกับปัญหาการพนันทั้งในและรอบมหาวิทยาลัย

  1. เรามีวิธีศึกษาความเกี่ยวโยงปัญหาเหล้าบุหรี่ กับการพนันอย่างไร

          เราต้องเริ่มจากการทำความเข้าใจข้อมูลจาก มสช. ผ่านเวทีสนทนารูปแบบต่าง ๆ ว่าลักษณะไหนใช่การพนันบ้าง เช่น การเสี่ยงโชคผ่านการส่ง SMS การลุ้นรหัสใต้ฝา ซึ่งเราเองก็เคยทำตามรูปแบบนั้นมาก่อน โดยที่เราไม่ทราบว่าพฤติกรรมที่เราคุ้นชิน และคนรอบข้างก็เคยทำนั้นเป็นการพนันทั้งสิ้น นอกจากนั้น มีการหาค้นหาข้อมูลจากอินเตอร์เนต ทั้งข้อมูลงานวิจัย สถิติและตัวเลขที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เข้าใจปัญหามากขึ้น และสามารถนำข้อมูลที่ได้มาถ่ายทอดผ่านกิจกรรมต่าง ๆ

 

“การจัดการปัญหาอาจจะใช้พลังเสียงของนักศึกษา นักเรียน เป็นตัวขับเคลื่อนหลัก โดยให้ทุกสถานศึกษา ทุกหน่วยงาน มีการรณรงค์พร้อมกันทั่วประเทศ”

 

  1. จากประสบการณ์ที่ผ่านมา คิดว่าปัญหาการพนันในเด็กและเยาวชนในพื้นที่ของเรามีสาเหตุมาจากอะไร

          สำหรับในพื้นที่ของเรา มองว่าเกิดจากปัญหาความยากจน พ่อแม่มีรายได้ไม่เพียงพอ ลูกจึงอยากช่วยแบ่งเบาภาระพ่อแม่ แต่ผ่านการรับรู้ที่ผิด เช่น การรับรู้ว่าการแทงพนันฟุตบอลทำให้รวยได้ และเป็นช่องทางที่ได้เงินง่ายและรวดเร็ว ยิ่งปัจจุบันมีสื่อออนไลน์ที่เป็นตัวกระตุ้นทำให้เกิดการเล่นพนันฟุตบอลที่สะดวกขึ้น

          ที่สำคัญกลไกที่มีอยู่ยังไม่เพียงพอ เนื่องจากการพนันยากต่อการจัดการ หน่วยงานภาครัฐต้องใช้งบประมาณอย่างมากในการจัดการปัญหาการพนัน แม้ว่าจะมีการจัดสรรงบประมาณที่มาจากกองสลาก และภาษีประชาชน แต่มันก็ไม่เพียงพอ ซึงเราเป็นเพียงกลไกหรือฟันเฟืองเล็ก ๆ ไม่อาจจะจัดการอะไรที่ยิ่งใหญ่ได้ ดังนั้น การจัดการปัญหาอาจจะใช้พลังเสียงของนักศึกษา นักเรียน เป็นตัวขับเคลื่อนหลัก โดยให้ทุกสถานศึกษา ทุกหน่วยงาน มีการรณรงค์พร้อมกันทั่วประเทศผ่านกิจกรรมที่ทำให้คนสนใจที่จะเข้าร่วมรวมกันเป็นหนึ่งเดียว เพื่อสร้างแรงกระเพื่อมในสังคม เช่น กิจกรรมการปั่นเพื่อพ่อ หรือวิ่งการกุศล ที่ผ่านมา เราก็อาจจะกำหนดให้มีกิจกรรมในลักษณะนั้นก็ได้ หรือ กำหนดให้หนึ่งวันเป็นวันต้านพนัน กิจกรรมคือ การวิ่งหรือการปั่นต้านพนัน เป็นต้น ผลคือประชาชนมีความตระหนักถึงปัญหา ช่วยเฝ้าระวั งและป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้นต่อลูกหลานของเขาได้ในอนาคต

  1. การทำให้ประชาชนตระหนักนั้นเป็นเรื่องยาก ดังนั้น ในอนาคตวางแผนที่จะทำอะไรต่อไป

          เริ่มจากจังหวัดของตัวเองก่อน ซึ่งในอนาคตอยากจะขยายไปให้ครอบคลุมแต่ละอำเภอ เพื่อต้องการสร้างให้แต่ละชุมชนมีความเข้มแข็ง และมหาวิทยาลัยก็ต้องเข้มแข็งด้วย ที่ผ่านมาโครงการที่เริ่มทำ ประกอบด้วย โครงการแรก การจัดกิจกรรมรณรงค์การป้องกันและลดผลกระทบทั้งในและนอกสถานศึกษา โครงการนี้ได้นำไปเสนอในระดับจังหวัด ซึ่งหัวหน้าส่วนราชการจังหวัดได้รับทราบทั้งหมดแล้ว

          โครงการที่ 2  คือ การเชิญสถานศึกษารอบมหาวิทยาลัย และชุมชนจำนวน 5 แห่ง เข้ามาร่วมคิดร่วมทำกับมหาวิทยาลัย ในการเฝ้าระวัง กำกับ และติดตามรอบมหาวิทยาลัย โดยทำการสำรวจชุมชนว่ามีการพนันอะไรที่ชาวบ้านเล่นมากที่สุด คำตอบคือ “หวย” โครงการนี้มีทั้งกลุ่มนักศึกษาและกลุ่มชาวบ้านที่ทำงานร่วมกัน ประสานงานกัน จากนั้นนำข้อมูลที่ได้ไปสรุปผลโดยการออกอากาศ ถือเป็นหนึ่งในกิจกรรมที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจาก มสช. ผ่านการใช้สื่อประชาสัมพันธ์โครงการ จึงส่งผลให้มีเครือข่ายความร่วมมือที่เข้มแข็ง ทั้งชุมชน และหน่วยงานรัฐ

          สำหรับผลของโครงการแรกถือว่าประสบความสำเร็จ เนื่องจากเราได้ทั้งเครือข่าย และได้รับการบรรจุเรื่องเข้าที่ประชุมจังหวัด ซึ่งเครือข่ายหลัก ๆ ประกอบด้วย นักศึกษา สภาเด็กและเยาวชน ประชาคมฮักเมืองน่าน กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน ตำรวจ และมูลนิธิ และในส่วนการจัดเสวนาให้ความรู้แก่นักศึกษาในมหาวิทยาลัย ทำให้นักศึกษาเข้าใจมากขึ้นว่าอะไรคือการพนัน และการพนันมีผลกระทบต่อตัวเขาอย่างไร

         แต่โครงการที่ผ่านมาเป็นเพียงโครงการนำร่อง ถ้าได้รับอนุมัติให้ทำโครงการต่อไป ก็จะช่วยต่อยอดให้เกิดการรณรงค์ร่วมกันทั้งจังหวัด โดยจะขยายให้มีขอบเขตกว้างกว่านี้ เช่น จากเดิมมีเพียง 5 ชุมชน อาจจะขยายถึง 10 ชุมชน

  1. มองสิ่งที่ท้าทายสำหรับการทำโครงการในอนาคตคืออะไร

          เรื่องแรกคือ งบประมาณ ปัจจุบันงบประมาณมาจาก มสช. เป็นหลัก ยังไม่มีการขอสปอนเซอร์จากที่อื่น เพราะเราไม่กล้าไปขอ เนื่องจากการสื่อสารว่าการพนันเป็นเป็นปัญหานั้นเป็นเรื่องใหม่ในสังคม เรื่องที่สองคือ ทัศนคติของคนทั่วไป มองว่าการพนันเป็นเรื่องปกติในสังคม ไม่สามารถแก้ไขอะไรได้ ก่อนหน้านี้เคยให้นักศึกษามาแสดงความคิดเห็น เขามองว่าการหยุดพนันทำได้ยาก แต่เราสามารถป้องกันได้โดยการตักเตือนเพื่อน และสามารถแบ่งสัดส่วนจากเงินที่มีให้เหมาะสม เช่น มีเงิน 10 บาท แบ่ง 2 บาท ไปซื้อหวย นอกนั้นแบ่งเป็นค่าใช้จ่ายส่วนตัว และแบ่งไว้เก็บ ไม่ใช่เล่นจนเกินตัว แต่ต้องเล่นแล้วไม่ทำให้ตนเองและคนรอบข้างเดือดร้อน

 

6. ทัศนคติของเด็กวัยรุ่นส่วนใหญ่มองว่าการพนันเป็นเรื่องปกติ ไม่ทำให้ติดและเป็นอันตรายง่าย ๆ อยากฝากอะไรกับกลุ่มคนที่มีทัศนคติเช่นนี้

          เราไม่มีทางรู้อนาคตว่าจะเกิดอะไรขึ้น เหมือนกับสุภาษิต “ไม่เห็นโลงศพ ไม่หลั่งน้ำตา” อย่ารอให้เกิดผลเสียแล้วค่อยแก้ไข ต้องให้สถานศึกษาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องปลูกฝังตั้งแต่วัยเด็ก ให้ทราบและให้เห็นภาพชัดเจนว่าการพนันคืออะไร อะไรบ้างที่นับว่าเป็นการพนัน และการพนันส่งผลเสียอย่างไร ทั้งการเรียน การใช้ชีวิต และอนาคต