บรรณาธิการชวนคุย (ฉบับ 11)

     

สวัสดีครับ ภาคีเครือข่าย

          จากการทำงานเกี่ยวข้องกับปัญหาการพนันที่ผ่านมา พบว่า มีเด็กและเยาวชนเข้าไปเกี่ยวข้องและได้รับผลกระทบจากการพนันเป็นจำนวนมากทั้งมิติด้านสุขภาพกาย และสุขภาพจิต โดยเฉพาะการพนันออนไลน์บน Tablet และ Smart phone ที่สามารถเข้าถึงง่าย และเป็นภัยร้ายที่ไม่คาดคิดของพ่อ แม่ ผู้ปกครอง ซึ่งในขณะที่ประเทศไทยยังขาดวิธีการจัดการเนื้อหาที่ผิดกฎหมายและเนื้อหาที่เป็นอันตรายต่อเด็กและเยาวชนอย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้ง การพนันออนไลน์เป็นที่นิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากผู้เล่นไม่ต้องเดินทางไปยังบ่อนพนัน สามารถใช้ระบบสินเชื่อและบริการอำนวยความสะดวกต่าง ๆ จากทางเว็บไซต์ มีบริการเกมการพนันหลากหลายรูปแบบ สามารถเล่นพนันได้ทั้งจากเว็บไซต์พนันออนไลน์ภายในประเทศและต่างประเทศ

          ศูนย์ข้อมูลนโยบายสาธารณะการลดปัญหาจากการพนัน ได้มีการดำเนินการร่วมกับภาคีเครือข่ายในการทบทวนความรู้ ผลกระทบจากการพนัน ในมติเรื่องการพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อบูรณาการกลไกคุ้มครองเด็ก เยาวชน และครอบครัวจากปัจจัยเสี่ยง และได้เห็นชอบให้มียุทธศาสตร์เพื่อบูรณาการกลไกการคุ้มครองเด็ก เยาวชน และครอบครัวจากปัจจัยเสี่ยง ผ่านเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็น“เวทีสาธารณะเพื่อขับเคลื่อนการบูรณาการกลไกระดับชาติ ว่าด้วยสุขภาพและพัฒนาการวัยรุ่น”

          นอกจากนี้ แนวทางการร่วมมือแก้ปัญหาการพนันในเด็กและเยาวชน ฉบับนี้เราได้รับเกียรติจาก คุณ “จุมพล มุธุสิทธิ์” รองนายกอบต.แคนน้อย อ.คำเขื่อนแก้ว จ.ยโสธร และคุณสุภัควดี พิมพ์มาศ (ปาล์มมี่) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนาน่าน ได้มาบอกเล่าประสบการณ์ตรง ว่าการพนันส่งผลกระทบต่อเยาวชน และคนทั่วไปอย่างไร ทั้งปัญหาสุขภาพ เศรษฐกิจ และอาชญากรรม ที่สำคัญคือ มีแนวทางในการจัดการแก้ปัญหาการพนันเหล่านี้อย่างไร ซึ่งอาจจะทำให้หลายท้องที่นำประสบการณ์และแนวคิดนี้นำไปปรับประยุกต์ใช้ได้จริงในอนาคต

 

 

พงศ์ธร จันทรัศมี

ผู้จัดการศูนย์ข้อมูลนโยบายสาธารณะการลดปัญหาจากการพนัน

มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ

pongtorn@thainhf.org