บอกเล่าประเด็นเด่น ฉบับ 15

การเสนอข่าวเรื่องหวยมีส่วนกระตุ้นปัญหาการพนันได้จริงหรือ!!!?

 

“ในเมื่อใครๆ ก็อยากมีโชคลาภ… ถ้าอย่างงั้นการเสนอข่าวการใบ้หวย ให้เลขเด็ด ที่ผูกกับความเชื่อ สิ่งประหลาด สิ่งลี้ลับเหนือธรรมชาติ ทั้ง สัตว์ พืช วิญญาณ คนดัง เลขทะเบียนรถ เพื่อนำไปตีเป็นตัวเลข ถือว่าเป็นเรื่องที่ควรทำมั้ยนะ? เพราะการเล่นหวยถือเป็นเรื่องปกติ และช่วยให้มีเงินทองมากมายได้ แต่อีกมุมหนึ่งการเสนอข่าวแบบนี้ก็ถือเป็นการส่งเสริมการเล่นหวย หรือการพนันที่ผิดกฎหมาย จริงรึเปล่า? ลองไปอ่านดูกัน”

 

         ปัจจุบันสื่อมีอิทธิพลต่อชีวิตประจำวัน ทั้งเป็นแหล่งเรียนรู้ ให้ข้อมูลข่าวสาร สาระ และความบันเทิงแก่ผู้คนในสังคม เช่น หนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ และสื่อออนไลน์ จากการสำรวจสถานการณ์เบื้องต้น พบว่ามีการให้ข้อมูลการพนันในช่วงเวลาก่อนการประกาศผลสลากกินแบ่งรัฐบาลในสื่อต่างๆ ศูนย์ข้อมูลฯ ขอให้ข้อเท็จจริงว่า การให้ข้อมูลดังกล่าวของสื่ออาจเป็นการกระทำที่ขัดต่อจริยธรรมของสื่อ  เข้าข่ายในการมอมเมาประชาชนให้เล่นการพนัน

         จากสถานการณ์ดังกล่าว ศูนย์ข้อมูลฯ จึงได้เผยแพร่ข้อเท็จจริงจากการศึกษา เรื่อง “การจัดทำข้อเสนอแนะต่อการกำกับดูแลการให้ข้อมูลการพนัน ในสถานีโทรทัศน์ สื่อออนไลน์ และหนังสือพิมพ์ ในช่วงเวลาก่อน และหลังการประกาศผลสลากกินแบ่งรัฐบาล” โดยผลการศึกษา พบว่า สถานการณ์ของการให้ข้อมูลการพนัน ในสื่อ อยู่ในระดับที่ “น่ากังวลอย่างยิ่ง” เนื่องมาจาก

  • กลุ่มตัวอย่างสื่อโทรทัศน์ : พบการผลิตซ้ำเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับตัวเลข ในลักษณะการใบ้หวย ให้เลขเด็ด ผูกกับความเชื่อ สิ่งประหลาด สิ่งลี้ลับเหนือธรรมชาติ เลขทะเบียนรถคนดัง บนพื้นที่ข่าว นำเสนอในสิ่งงมงาย สื่อไปยังคนดูว่า หวย คนถูกหวย เพื่อสามารถนำไปตีความเป็นตัวเลขเสี่ยงโชค ในลักษณะยุยงให้เกิดการเล่นพนันได้อย่างชัดเจน ซึ่งพบทั้งในรายการข่าวภาคเช้า เที่ยง และค่ำ ทั้งในลักษณะที่บอกใบ้หวย และ บอกเลขตรงๆ ใช้การเล่าเรื่องโน้มน้าวใจ คุยให้สนุกและสื่อความหมายว่าการเล่นหวยเป็นเรื่องปกติ และช่วยให้ประสบความสำเร็จใจฐานะ การเงิน หรือ ปลดภาระหนี้สิน ที่สำคัญไม่มีการปกป้องคุ้มครองผู้ชมที่เป็นเด็กและเยาวชน ที่ต้องการคำพูดชี้แนะ แนะนำว่าการพนันเป็นสิ่งผิดกฎหมาย!!!

  • กลุ่มตัวอย่าง สื่อออนไลน์ : มีการนำเสนอข่าวสารเรื่องหวย ล็อตเตอรี่ ในวันก่อนหวยออก (วันจับรางวัล) ในระดับที่ค่อนข้างถี่มาก ไปในทางส่งเสริมการเล่นหวย ข้อมูลสามารถนำไปใช้ตีความ (ใบ้หวย) หรือสามารถนาไปแทงเป็นเลขเด็ดได้เลยทันทีโดยไม่ต้องตีความอีก

  • กลุ่มตัวอย่าง เพจเฟซบุ๊กเลขเด็ด : พบเพจเฟซบุ๊กภาษาไทยที่จดทะเบียนและมีสมาชิก อยู่ทั้งสิ้น 1,044 เพจ ซึ่งถือว่ามีจำนวนมาก และเนื้อหาเลขเด็ดล้วนมาจากแหล่งข่าวข้อมูลที่ไม่สามารถพิสูจน์ได้ และชวนเชื่องมงาย

(2) จากการสำรวจ กฎหมายและข้อบังคับของสื่อมวลชนในการนำเสนอข่าวสารสำหรับประเทศไทย พบว่า “ไม่มีกฎหมาย และ ข้อบังคับใดๆ” ที่ใช้กำกับการนำเสนอข่าวเกี่ยวกับการใบ้หวย หรือ ให้เลขเด็ดเลย อีกทั้ง ก็ยังไม่พบการเขียนระบุชัดเจน และ ตีความได้หรือไม่ได้ ว่าการนำเสนอข่าวสาร ข้อมูล ใบ้หวยเรื่องตัวเลขนั้น ถือเป็นความผิดหรือไม่

เพื่อเป็นการลดผลกระทบ และปกป้องเด็กและเยาวชน ศูนย์ข้อมูลฯ จึงมีข้อเสนอแนะต่อการกำกับดูแลการให้ข้อมูลการพนัน ในสถานีโทรทัศน์ สื่อออนไลน์ และหนังสือพิมพ์ ในช่วงเวลาก่อน และหลังการประกาศผลสลากกินแบ่งรัฐบาล ไปยังองค์กรกำกับดูแล ของภาครัฐ คือ คณะกรรมการกำกับกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ กิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จะต้อง

  • ออกประกาศ ระเบียบ หรือข้อบังคับเพื่อกำกับการให้ข้อมูลเรื่องล็อตเตอรี่ หวย และการใบ้เลข ว่าเป็นสิ่งที่ “ไม่สามารถกระทำไปในลักษณะส่งเสริมให้ผู้ชม หันมาเล่น เสี่ยงทายมากขึ้น”

  • แก้ไขปรับปรุง เนื้อหา คู่มือมาตรฐานทางจริยธรรมในการกำกับดูแลกันเองทางวิชาชีพของผู้ประกอบกิจการสื่อ และองค์กรทางสื่อจะต้อง “ออกแนวปฏิบัติ/มาตรฐาน/ข้อบังคับทางจริยธรรม”

         องค์กรธุรกิจสื่อ จัดทำแนวปฏิบัติในการนำเสนอข่าวสารเรื่องการพนัน เพื่อใช้ปกป้องคุ้มครองเด็กและเยาวชน และกลุ่มเสี่ยง เพื่อใช้เป็นแนวทางในการนำเสนอข่าวสารอย่างสร้างสรรค์และไม่เป็นการมอมเมาประชาชน