บรรณาธิการชวนคุย (ฉบับ 12)

 

สวัสดีครับ ภาคีเครือข่าย

           ครบรอบ 1 ปี ที่เราได้ดำเนินการจัดทำจดหมายข่าวเพื่อการสื่อสารกับภาคีเครือข่ายการทำงานลดผลกระทบจากการพนัน แล้วนะคะครับ  จากระยะเวลาที่ผ่านมา เราได้ร่วมกันถ่ายทอดประสบการณ์การขับเคลื่อน ซึ่งทำให้เราพบว่าการอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยการพนัน และการทำให้การพนันกลายเป็นเรื่องปกติในสังคมเป็นสิ่งที่อันตรายนัก โดยเฉพาะการพนันที่แฝงมากับสื่อออนไลน์ที่เข้าถึงง่ายและสะดวกมากขึ้น ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าการพนันก่อให้เกิดผลกระทบร้ายแรงหลายประการ ส่วนหนึ่งทำให้หลายคนเข้าสู่ด้านมืดของสังคมอย่างไม่มีทางเลือก เหตุการณ์ที่บีบคั้นคือจากการติดหนี้พนัน นำไปสู่สถาการณ์ที่ส่งผลกระทบเช่นการถูกข่มขู่ที่ต้องทำสิ่งผิดเพื่อให้ได้เงินมาใช้หนี้การพนัน โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนเป็นกลุ่มเปราะบางที่อาจพลังเข้าไปในกลุ่มผลประโยชน์จากการพนัน กลายเป็นเมนูอันโอชะเพราะ ความบริสุทธิ์ที่เขายังไม่สามารถประกอบอาชีพได้ หรือมีการคิดหาทางออกได้อย่างรอบด้าน จนอาจต้องโทษด้วยการกระทำสิ่งที่ผิดกฎหมาย หรือแม้แต่ปัญหาจากการพนันอาจส่งผลกระทบต่อสภาพกายและสภาพจิต และการเรียนอันมิอาจแก้ไขได้อย่างเท่าทัน

          ศูนย์ข้อมูลฯ ได้ตระหนักถึงปัญหาเหล่านี้ จึงได้ร่วมกับภาคีเครือข่าย ในพูดคุยแลกเปลี่ยนทัศนะ ซึ่งในฉบับนี้เราได้ร่วมพูดคุยกับผู้ที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จในการจัดกิจกรรมสร้างความตระหนักถึงปัญหาการพนันในเด็กและเยาวชนในภาคอีสาน นำการขับเคลื่อนโดย อาจารย์ จุฑาลักษณ์ แสนโท อาจารย์ประจำคณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยนครพนมซึ่งอาจารย์ได้ดำเนินกิจกรรมเพื่อสร้างความตระหนักเรื่อง “การลดผลกระทบจากการพนันในสถานศึกษา” และนำไปสู่การขยายผลในระดับจังหวัดโดยเครือข่ายนักศึกษาและกรรมการบริหารสภาเด็กและเยาวชนจังหวัดนครพนม ให้ช่วยกันคิด วิธีการสื่อสารเพื่อป้องกันและลดผลกระทบจากการพนันทั้งตนเอง ส่งต่อไปยังพ่อแม่ ญาติพี่น้องเพื่อเป็นแนวทางในการริเริ่มการป้องกันตั้งแต่ก่อนการการเกิดขึ้นของปัญหาการพนันที่ร้ายแรงต่อไปในอนาคต

          การทำงานร่วมกับภาคีเครือข่ายชุมชนและสถาบันการศึกษา ศูนย์ข้อมูลฯ ได้ร่วมแลกเปลี่ยนในในวงประชุม “เด็กและเยาวชนไทย รู้คิด รู้เท่าทัน สร้างสรรค์เทคโนโลยี” เพื่อแสวงหาแนวทางในการปกป้องและคุ้มครองเด็กและเยาวชนให้มีทักษะการใช้สื่อออนไลน์อย่างสร้างสรรค์ โดยแสดงเจตนารมณ์ ในการเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ภาคีวิชาการ และภาคีเครือข่ายการทำงานด้านเด็กและเยาวชน ให้เกิดความตระหนักรู้ถึง ภัยออนไลน์ภัยร้ายที่ใกล้ตัว  โดยการนำเสนอข้อมูลสถานการณ์เด็กและเยาวชนกับสื่อออนไลน์ และการเสวนาเด็กและเยาวชนไทย รู้คิด รู้เท่าทัน สร้างสรรค์ เทคโนโลยี

          เมื่อการพนันออนไลน์ในยุค 4.0 สามารถเป็นช่องทางการเข้าถึงเด็กและเยาวชนได้ง่าย ศูนย์ข้อมูลฯ จึงได้ประมวลงานวิจัยที่น่าสนใจและเป็นประโยชน์มานำเสนอ เพื่อสร้างความตระหนักสำหรับเป็นแนวทางในอนาคตคือ “ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายว่าด้วยการป้องกันและควบคุมการพนันออนไลน์” โดยจะให้คำตอบว่าการที่เด็กหรือเยาวชนที่อยู่ในวัยเรียนสามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ง่ายมากขึ้น ผ่านโทรศัพท์มือถือ เครื่องแท็บเล็ต (tablet) และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ ทำให้กลุ่มเด็กหรือเยาวชนจะสามารถเล่นพนันหรือเกมเสี่ยงโชคได้ง่ายขึ้นอย่างไร และมีแนวทางหรือข้อเสนอแนะในการแก้ปัญหาเหล่านี้อย่างไร

 

 พงศ์ธร จันทรัศมี

ผู้จัดการศูนย์ข้อมูลนโยบายสาธารณะการลดปัญหาจากการพนัน

มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ

pongtorn@thainhf.org