สื่อสารความเคลื่อนไหว (ฉบับ 14)

การถอดบทเรียนการดำเนินงาน

“โครงการส่งเสริมและพัฒนากลไกการขับเคลื่อนนโยบายป้องกันและลดผลกระทบการพนันในพื้นที่และชุมชนรอบสถานศึกษา”

วันที่ 19-21 มกราคม 2561

ณ โรงแรม เดอะล๊อฟท์ รีสอร์ท กรุงเทพมหานคร


มีอะไรในวงประชุม?

          โครงการส่งเสริมและพัฒนากลไกการขับเคลื่อนนโยบายป้องกันและลดผลกระทบจากการพนันในพื้นที่และชุมชนรอบสถานศึกษา ภายใต้การดำเนินงานของมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) มีเป้าหมายในการดำเนินงานเพื่อป้องกันเด็กและเยาวชนจากการพนัน โดยการสร้างกลไกในการเฝ้าระวัง ผ่านการเชื่อมประสานเครือข่าย และชุมชน เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีในการเฝ้าระวังเยาวชนจากความสุ่มเสี่ยงต่าง ๆ แต่ปัจจุบันเยาวชนในสถานศึกษากลับเป็นกลุ่มสำคัญที่มีความอ่อนไหวและเสี่ยงต่อการเข้าไปสู่วังวนของการพนันหากไม่ได้สร้างการเรียนรู้ หรือมีกลไกที่ช่วยเป็นเกราะป้องกันอีกชั้นหนึ่ง การสร้างกลไกของการเฝ้าระวังจึงเป็นปัจจัยสำคัญต่อการแก้ปัญหาการพนัน โดยเฉพาะกลุ่มเด็ก เยาวชนในสถานศึกษาต่าง ๆ โครงการนี้จึงมุ่งหวังในการขับเคลื่อนจนเกิดกลไกความร่วมมือของสถานศึกษาและชุมชนรอบข้าง พร้อมทั้งเชื่อมโยงการทำงานในระดับพื้นที่การศึกษาและชุมชน ให้เกิดการผลักดันนโยบายการป้องกันและลดผลกระทบจากการพนันได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

สำหรับวัตถุประสงค์ของการถอดบทเรียน ได้แก่

  1. เพื่อถอดบทเรียนจากชุดประสบการณ์ในการพัฒนากลไกการขับเคลื่อนนโยบายป้องกันและลดผลกระทบจากการพนันในและรอบสถานศึกษา

  2. เพื่อถอดบทเรียนกระบวนการดำเนินงานของภาคีเครือข่ายในการเสริมสร้างหรือขยายรูปแบบความร่วมมือระหว่างสถานศึกษาและชุมชนในการสร้างพื้นที่ปลอดภัย (Safe Zone)

  3. เพื่อค้นหาและพัฒนาข้อเสนอแนวทางการสนับสนุนการขับเคลื่อนนโยบายป้องกันและลดผลกระทบจากพนันในและรอบสถานศึกษา

          โดยกลุ่มเป้าหมายหลักได้แก่นักศึกษาในสถานศึกษาเป้าหมาย 15 แห่ง ใน 5 ภูมิภาค และในส่วนกลุ่มเป้าหมายรองได้แก่ ผู้บริหารและบุคลากรในสถานศึกษา ผู้นำชุมชน และผู้แทนจากหน่วยงานรัฐ

          การดำเนินงานที่ผ่านมาสามารถขับเคลื่อนจนเกิดรูปธรรมของการขับเคลื่อนที่สามารถพัฒนาให้เกิดกลไกการเฝ้าระวัง มีความร่วมมือระหว่างสถานศึกษา ชุมชน จนถึงการขับเคลื่อนสู่โยบายในหลายระดับ เพื่อเป็นกลไกที่จะสามารถป้องกันเด็ก เยาวชนจากความเชื่อมโยงในปัญหาพนันได้ ทั้งยังเกิดบทเรียนของชุมชนท้องถิ่นในการป้องกันเด็กและเยาวชนจากการพนัน เพื่อนำไปสู่การขยายผลการดำเนินงานประสานระหว่างเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะช่วยสร้างการเรียนรู้ทุกองคาพยพที่พร้อมจะร่วมเป็นหนึ่งที่ช่วยสร้างเกราะป้องกัน เป็นรั้วรอบที่สร้างความเข้มแข็งให้กับเด็ก เยาวชน เติบโตเป็นกำลังสำคัญในการสร้างสังคมที่เข้มแข็ง และเป็นทุกอย่างยั่งยืนต่อไป

 

สิ่งที่ได้และก้าวต่อไป?

          เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนจนเกิดกลไกความร่วมมือของสถานศึกษาและชุมชนรอบข้าง พร้อมทั้งเชื่อมโยงการทำงานในระดับพื้นที่ กระทั่งนำไปสู่การกำหนดกิจกรรมที่ดำเนินการ ได้แก่ การจัดทำหลักสูตรกระบวนการเรียนรู้ ดำเนินการประชุมร่วมกับทีม มสช. ในการกำหนดเป้าหมายร่วม และออกแบบหลักสตรกระบวนการถอดบทเรียน และการดำเนินการถอดบทเรียนการส่งเสริมและพัฒนากลไกการขับเคลื่อนนโยบายป้องกันและลดผลกระทบจากพนันในและรอบสถานศึกษา จำนวน 3 วัน ตามกรอบหลักสูตรกระบวนการถอดบทเรียนที่ได้ตกลงไว้กับ มสช. โดยมีการดำเนินการให้กระบวนการเป็นไปด้วยความเรียบร้อย และมีการจดบันทึกกิจกรรมและประสบการณ์จากการแลกเปลี่ยนตลอดงาน รวมไปถึงจัดทำเอกสารสรุปกิจกรรมและรายงานการสังเคราะห์ข้อเสนอจากที่ประชุมในการกำหนดแนวทางการส่งเสริมและพัฒนาแนวทางการขับเคลื่อนนโยบายป้องกันและลดผลกระทบจากพนันในและรอบสถานศึกษา

          และเพื่อสานต่อกลไกความร่วมมือระหว่างเครือข่ายและการถอดบทเรียนการกิจกรรม กระทั่งนำไปสู่ บทเรียนทรงพลัง 3 บทเรียน ได้แก่ บทเรียนที่ 1 แนวปฏิบัติที่ดี ปฏิบัติที่ดีในการดำเนินโครงการป้องกันและลดผลกระทบจากการพนัน ที่สังเคราะห์จากประสบการณ์ของผู้ร่วมถอดบทเรียนทั้ง 15 พื้นท บทเรียนที่ 2 ผลลัพธ์ที่ท้าทาย ประกอบด้วยผลลัพธ์ 3 ระดับ การวิเคราะห์ถึงกลยุทธ์เพื่อการบรรลุผลลัพธ์ในแต่ละระดับ พร้อมทั้งแสดงแรงเสริมและแรงต้านที่อาจเกิดขึ้น และบทเรียนที่ 3 นโยบายที่อยากเห็น โดยผู้ร่วมถอดบทเรียนได้สะท้อนถึงนโยบายที่อยากเห็นในการป้องกันและลดผลกระทบจากการพนัน และจากประสบการณ์การดำเนินโครงการที่ผ่านมาทำให้ได้มุมมองที่สำคัญเกี่ยวกับประโยชน์ที่ตามมาหากเกิดนโยบายดังกล่าว เพื่อเป็นเครื่องยืนยันว่านโยบายนั้น ๆ ควรได้รับการผลักดันให้เกิดขึ้นในสังคมไทย

          จากกิจกรรมถอดบทเรียน เครือข่ายทั้งหมดส่วนใหญ่มีแนวทางไปในทิศทางเดียวกัน โดยมองว่า การพนันเป็นสิ่งที่จัดการได้ หากมีการส่งเสริมความรู้ความเข้าใจ และมีทัศนคติที่ถูกต้อง ซึ่งการจัดการไม่ใช่เพียงแค่ภาครัฐเท่านั้น แต่ทุกภาคส่วนจะต้องร่วมมือกัน และขยายขอบเขตของการจัดการทั้งตนเอง ครอบครัว สังคม และกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดการตระหนักรู้และสามารถเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของคนในสังคมได้ในวงกว้าง