สื่อสารความเคลื่อนไหว (ฉบับ 12)

สาระจากวงประชุม
“เด็กและเยาวชนไทย รู้คิด รู้เท่าทัน สร้างสรรค์เทคโนโลยี”

วันพุธที่ 10 มกราคม 2561

ณ ห้องประชุมชั้น 2 อาคารหอประชุมสำนักงาน กสทช.


 

มีอะไรในวงประชุม?

         ศูนย์ประสานงานขับเคลื่อนการส่งเสริมและปกป้องคุ้มครองเด็กและเยาวชนในการใช้สื่อออนไลน์ (Child Online Protection Action Thailand : COPAT) ร่วมกับ ศูนย์ข้อมูลนโยบายสาธารณะเพื่อลดปัญหาจากการพนัน มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ  สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กรมกิจการเด็กและเยาวชน กรมสุขภาพจิต สมาคมวิทยุและสื่อเพื่อเด็กและเยาวชน สถาบันสื่อเด็กและเยาวชน มูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ได้จัดงานเสวนา “เด็กและเยาวชนไทย รู้คิด รู้เท่าทัน สร้างสรรค์เทคโนโลยี” ขึ้นเมื่อวันพุธที่ 10 มกราคม 2561

         ในช่วงแรกของงานเสวนานายพงศ์ธร จันทรัศมี ผู้จัดการศูนย์ข้อมูลนโยบายสาธารณะเพื่อลดปัญหาจากการพนัน มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ ได้กล่าวต้อนรับและชี้แจงวัตถุประสงค์ของการจัดเสวนา กล่าวคือ

  • เพื่อแสดงเจตนารมณ์ และเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ภาควิชาการ และเครือข่ายเด็กและเยาวชน ให้เกิดความตระหนักถึง ภัยออนไลน์ที่เกิดกับเด็กและเยาวชน

  • เพื่อแสวงหาแนวทางในการปกป้องและคุ้มครองเด็กเพื่อให้เกิดการใช้สื่อออนไลน์อย่างสร้างสรรค์ กิจกรรมในวันนี้จะเป็นการแนะนำบทบาทของศูนย์ประสานงานขับเคลื่อนการส่งเสริมและปกป้องคุ้มครองเด็กและเยาวชนในการใช้สื่อออนไลน์

  • นำเสนอข้อมูลสถานการณ์เด็กและเยาวชนกับสื่อออนไลน์ และการเสวนาเด็กและเยาวชนไทย รู้คิด รู้เท่าทัน สร้างสรรค์ เทคโนโลยี โดยมีตัวแทนจากภาครัฐภาคเอกชน ตัวแทนจากกรมสุขภาพจิต

          ลำดับต่อมา นายประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา  กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ประธานในที่ประชุม ให้ข้อคิดเห็นเกี่ยวกับการเสวนา กล่าวคือการปกป้องคุ้มครองเด็กและเยาวชนจากการใช้สื่อออนไลน์ มีหลายภาคส่วนเกี่ยวข้อง ไม่ใช่หน้าที่หน่วยงานด้านเด็ก ด้านสื่อ หรือด้านออนไลน์เท่านั้น แต่ต้องเป็นความร่วมมือกันของทุกฝ่ายในระยะยาว ให้สอดคล้องกับคำขวัญของนายกรัฐมนตรี “รู้คิด รู้เท่าทัน สร้างสรรค์เทคโนโลยี” รวมถึงเป็นการทบทวนความรู้จากประสบการณ์ในต่างประเทศและความคิดเห็นของทุกภาคส่วน ซึ่งเชื่อว่าจะทำให้เราสามารถเดินต่อไปในยุคไทยแลนด์4.0 หรือยุคดิจิตอลได้ต่อไป วันนี้จึงเป็นการเผยแพร่ความรู้ สถานการณ์ปัญหา แนะนำกลไกที่จะเป็นหัวใจในการประสานงานจัดการปัญหาในเรื่องนี้ เกิดการมีส่วนร่วมของภาคีเพื่อป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้นกับเด็กซึ่งจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ในอนาคต  และร่วมกันทำเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ คือ การเกิดโครงสร้างกลไกที่เป็นรูปธรรมของประเทศไทยต่อไป

         นายวิทัศน์  เตชะบุญ  อธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชน กล่าวเปิดงาน ความว่า วันนี้ถือเป็นโอกาสดีที่เครือข่ายคนทำงานด้านการปกป้องคุ้มครองเด็กและเยาวชนจากภัยออนไลน์จะได้แถลงผลการสำรวจและชี้สถานการณ์เด็กไทยจากภัยสื่อออนไลน์ เพื่อหนุนเสริมนายกรัฐมนตรีที่ได้ให้คำขวัญวันเด็กปีนี้ เพราะเด็กคือทรัพยากรที่มีคุณค่า ต้องปลูกฝังให้รู้คิด รู้เท่าทัน และต้องเฝ้าระวังสื่อเมื่อเข้าถึงโลกออนไลน์

         ช่วงการเสวนาเป็นการนำเสนอการสำรวจสื่อออนไลน์ที่เกี่ยวข้องกับเด็กและเยาวชน โดยมีวิทยากรในการนำเสนอ ท่านแรก คือ ดร.ศรีดา  ตันทะอธิพานิช  ผู้จัดการมูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย และอนุกรรมการส่งเสริมและปกป้องคุ้มครองเด็กและเยาวชนในการใช้สื่อออนไลน์ หัวหน้าคณะวิจัยของ “การสำรวจสถานการณ์เด็กกับภัยออนไลน์” ผลสำรวจ สถานการณ์เด็กกับภัยออนไลน์ 2560 โดย ศูนย์ประสานสาน COPAT พบว่า ร้อยละ 98.47 เชื่อว่าอินเทอร์เน็ตให้ประโยชน์และสิ่งดีๆมากมาย และร้อยละ 95.32 เชื่อว่ามีภัยอันตรายและความเสี่ยงหลายแบบบนอินเทอร์เน็ต ผลสำรวจที่น่าสนใจ พบว่า เพศชายมีความเสี่ยงต่อการติดเกมออนไลน์มากกว่าเพศหญิงถึง 2 เท่า แต่หากพิจารณาจากช่วงอายุพบว่าเมื่ออายุมากขึ้นการเล่นเกมออนไลน์จะลดลงโดยเด็กชั้นประถมศึกษาตอนปลายและเด็กมัธยมศึกษาตอนต้นที่เล่นเกมเกือบ 1 ใน 3 ซึ่งเสี่ยงต่อปัญหาการติดเกม ส่วนเด็กมัธยมศึกษาตอนปลายที่เล่นเกมเกือบ 1 ใน 4 เสี่ยงต่อการติดเกม มากเกือบร้อยละ 30 ของเด็กทุกช่วงวัย ยังคงเล่นเกมทุกวันหรือเกือบทุกวัน และเด็ก 68.07 มีความเสี่ยงในการเข้าถึงเนื้อหาเรื่องเพศทางออนไลน์ จึงเป็นโจทย์ของผู้ใหญ่ที่จะดูแล  โดยกลุ่มเพศทางเลือกเข้าถึงเนื้อหาเกี่ยวกับเรื่องเพศมากที่สุดคือร้อยละ 73.09 รองลงมาคือเพศชายร้อยละ 66.14  และเพศหญิงร้อยละ 64.66  ที่น่ากังวลคือเด็กชั้นประถมศึกษาสามารถเข้าถึงเนื้อหาทางเพศได้ในระดับที่ไม่ต่างจากเด็กชั้นมัธยมศึกษา รวมไปถึงประเด็น เคยโดนกลั่นแกล้งรังแกออนไลน์ พบว่า เพศทางเลือกโดนกลั่นแกล้งมากที่สุดคือร้อยละ 59.44 หรือ เกือบ 6 ใน 10 คน รองลงมาคือเพศชายร้อยละ 48.96 หรือเกือบ 1ใน2 และเพศหญิงร้อยละ 41.47   เด็กจะบอกคนอื่นเกี่ยวกับเรื่องที่โดนกลั่นแกล้งออนไลน์พบว่า เพศหญิงร้อยละ 48.13 จะบอกผู้อื่น รองลงมาคือเพศทางเลือกร้อยละ 43.92 และเพศชายร้อยละ 40.76 โดยพบว่าร้อยละ 52.93 จะบอกเพื่อนมากที่สุดรองลงมาคือพ่อหรือแม่ ร้อยละ 30.31

         ลำดับต่อมา นายธาม เชื้อสถาปนศิริ นักวิชาการอิสระ นำเสนอสถานการณ์ความเสี่ยง ที่ส่งผลกระทบเชิงลบโดยรวบรวมมาจากฐานข้อมูลปฐมภูมิจากหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องและสถาบันการศึกษา ข้อมูลการทำงานในระดับภาคสนาม หรือข้อมูลทางการแพทย์ มองว่า ปัจจัยความเสี่ยงของเด็กกับสื่อออนไลน์ เทคโนโลยีเปรียบเสมือนดาบสองคม โดยเทคโนโลยีที่ปลอดภัยสำหรับเด็กก็มีด้วยการออกแบบผู้ใช้งานที่คำนึงถึงเด็ก อย่างโซเชียลมีเดียทั้งหมดหรือเกมดิจิตอลออนไลน์ ในวงการอุตสาหกรรมซอฟแวร์ต่างประเทศ จะมีมาตรฐานทางอุตสาหกรรมที่กำกับว่า ดิจิตอลเกมออนไลน์หรือเว็บไซต์ออนไลน์ ต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของเด็ก ที่ใกล้เคียงมากที่สุดคือ ISO 2001 ซึ่งคำนึงถึงความปลอดภัยของเด็ก ดังนั้นเวลาที่ประเทศไทยนำเข้าเทคโนโลยีมาในประเทศ เช่น กสทช. ต้องคำนึงว่า อุปกรณ์นั้นปลอดภัยได้มาตรฐานหรือไม่  ต้องพิจารณาว่า เทคโนโลยีนั้นถูกออกแบบมาอย่างปลอดภัยสำหรับเด็กหรือไม่ มีระบบป้องกันคุ้มครองเด็กหรือไม่ ระบบนั้นสามารถแฮกได้หรือไม่ สิ่งสำคัญคือ เด็กถูกเลี้ยงดูให้เท่าทันเทคโนโลยีหรือไม่ หรือปล่อยปะละเลย เด็กอยู่ตรงกลางระหว่างความเสี่ยงของเทคโนโลยีที่ไม่ปลอดภัยกับความเสี่ยงของสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้ออำนวยให้เด็กรู้เท่าทันสื่อได้ด้วยตัวเอง

 

 

สิ่งที่ได้และก้าวต่อไป?

          ช่วงการเสวนา “เด็กและเยาวชนไทย รู้คิด รู้เท่าทัน สร้างสรรค์เทคโนโลยี”ดำเนินการโดย ดร.ธีรารัตน์ พันทวี วงศ์ธนะอเนก นายกสมาคมวิทยุและสื่อเพื่อเด็กและเยาวชน (สสดย.)” เสนอความเห็นในการแจ้งเบาะแสเพื่อหาทางออก โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิร่วมเสวนา ได้แก่

     นายวิทัศน์ เตชะบุญ อธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชน กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้กล่าวถึง วันที่ 6 มิถุนายน 256 ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรี มีข้อเสนอจากภาคีเครือข่าย โดยกรมกิจการเด็กและเยาวชนรับเป็นเจ้าภาพในการจัดตั้งศูนย์ประสานงานขับเคลื่อนการส่งเสริมและปกป้องคุ้มครองเด็กและเยาวชนในการใช้สื่อออนไลน์ หรือ Child Online Protection Action Thailand : COPAT ทำหน้าที่ในการประสานงาน เพื่อให้งานขับเคลื่อนการประสานกับองค์กรภาคี ทั้ง กสทช. สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุข และหน่วนงานที่เกี่ยวข้องกับเด็ก เยาวชนและครอบครัว โดยจากนี้ไปต้องมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองเด็กและเยาวชนจากสื่อออนไลน์ จากนั้นจึงส่งมอบงานให้กับหน่วยงานที่ทำหน้าที่หลักต่อไป ถือเป็นกลไกชั่วคราวจนกว่าจะมีองค์กรที่เกี่ยวข้องโดยตรงเข้ามาดูแล

         แพทย์หญิงมธุรดา สุวรรณโพธิ์ ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ (ปัจจุบันผู้อำนวยการสถาบันราชนุกูล) กล่าวถึงวิธีที่ดีที่สุดคือการป้องกันเด็กและเยาวชนในการใช้สื่อออนไลน์  โดยเห็นว่า COPAT ควรมีกระบวนการในการป้องกัน หรือให้ข้อมูลกับพ่อแม่ผู้ปกครองเพื่อป้องกันไว้ก่อน ส่วนกรณีที่มีปัญหาพฤติกรรมแล้วจึงส่งต่อมายังสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นต่อไป  พ่อแม่จึงต้องฉลาดรักรู้จักเลือก โดยเด็กๆ ต้องฉลาดเล่นและมีวินัย

       นางสาววันดี  แบ้กระโทก นักวิชาการคอมพิวเตอร์ชำนาญการสำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติกล่าวถึงงานที่ดำเนินการเกี่ยวกับการปกป้องคุ้มครองเด็กในการใช้สื่อออนไลน์คือ การปลูกฝังจิตสำนึกในการใช้เทคโนโลยีให้ถูกต้องเหมาะสม จะมีการจัดทำหลักสูตรสำหรับกลุ่มเป้าหมายทุกช่วงวัยที่เกี่ยวข้องกับการใช้เทคโนโลยี และทำในระดับภูมิภาค เช่น สุขภาพดิจิตอล  มารยาทสังคมในยุคดิจิตอล สิทธิหน้าที่ในยุคดิจิตอล เป็นต้น การสร้างจิตสำนึกในการสร้างสื่อดิจิตอลอย่างสร้างสรรค์

        ดร.ศรีดา ตันทะอธิพาณิช ผู้จัดการมูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย กล่าวถึงการดำเนินงานด้านการป้องกันโดยการให้ความรู้ซึ่งได้มีการดำเนินงานร่วมกับ ศูนย์ฯ COPAT โดยการเฝ้าระวังแบบฮอตไลน์สากล มีองค์ความรู้จากต่างประเทศที่จะนำให้กับระดับโครงสร้างหรือนโยบาย มีระบบปกป้องคุ้มครอง เช่น ด้านกฎหมาย ด้านเทคนิค การที่มี COPAT เท่ากับทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และร่วมกันผลักดันได้รวดเร็วยิ่งขึ้น ซึ่งอาจจะเป็นหน่วยกลางที่จะออกแบบการทำงานด้านปกป้องคุ้มครองเด็กและเยาวชนจากสื่อออนไลน์ เหมือนเป็นแม่งานที่จะเชื่อมร้อยเพื่อให้งานด้านการปกป้องคุ้มครองเด็กและเยาวชนจากสื่อออนไลน์ของประเทศไทยได้ดียิ่งขึ้น

         นายอุชุกร โปรดสันเทียะ กรรมการสภานักเรียนโรงเรียนฐานปัญญา เล่าว่าจากประสบการณ์พบว่า มีรุ่นน้องสร้างเพจและโพสต์ด่าโจมตีผู้อื่น เพื่อทำให้เพื่อนได้รับความอับอาย โดยคุณครูรับทราบ และได้หาตัวผู้กระทำและสั่งปิดเพจไป นอกจากนี้ยังพบปัญหาการล่อลวงผ่านสื่อออนไลน์ โดยพบเพื่อนใช้สื่อออนไลน์ในการล่อลวงผู้อื่น ควรเตือนเพื่อนไม่ให้ทำสิ่งที่ไม่เหมาะสมในการใช้สื่อออนไลน์

         นายธนวัฒน์ ทองเรืองทวีกุล กรรมการสภานักเรียนโรงเรียนฐานปัญญา กล่าวว่า เคยทดลองเล่นการพนันผ่านสื่อออนไลน์ เพราะเข้าถึงได้ง่าย ปัจจุบันประเทศไทยังไม่มีมาตรการป้องกันเด็กและเยาวชนว่าเป็นสิ่งผิดหรือมีอันตราย เพียงเพราะอยากได้เงิน แต่พบว่ามีผลเสียมากกว่าปัจจุบันจึงเลิกเล่นและเห็นว่า COPAT จะสามารถเป็นกลไกประสานเพื่อปิดเว็บไซต์การพนันและป้องการการเข้าถึงสื่อเผยแพร่ข้อมูลที่ไม่เหมาะสมต่อไป

         จากงานเสวนา ศูนย์ประสานงานฯ COPAT จึงเป็นกลไกแห่งความหวังของการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐและภาคประชาสังคมเพื่อปกป้องคุ้มครองเด็กและเยาวชนในการใช้สื่ออย่างปลอดภัย ด้วยการ “ประสานความร่วมมือ สื่อออนไลน์ที่ต้องปลอดภัย คุ้มกันให้เด็กไทย เน้นความเข้าใจ ทำสื่อออนไลน์ให้เท่าให้ทัน”