สื่อสารความเคลื่อนไหว (ฉบับ 10)

สาระจากวงประชุม : “NBTC Public Forum ครั้งที่  3/2560 เรื่อง สื่อดิจิทัลกับเด็กและเยาวชนไทย”

วันจันทร์ที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2560

เวลา 08.00 – 12.15 น.

ณ ห้องกิ่งทอง ชั้น 2 โรงแรมเอเชีย กรุงเทพมหานคร

โดย สุวลัย เมืองเจริญ


มีอะไรในวงประชุม?

          สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ร่วมกับ คณะอนุกรรมการส่งเสริมและปกป้องเด็กเยาวชนจากการใช้สื่อออนไลน์ และ ศูนย์ข้อมูลนโยบายสาธารณะการลดปัญหาจากการพนัน มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ ได้จัดงานประชุม “NBTC Public Forum 3/2560 เรื่อง สื่อดิจิทัลกับเด็กและเยาวชนไทย” ขึ้น เมื่อวันจันทร์ที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2560 โดยนายแพทย์ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา ประธานในที่ประชุม กล่าวต้อนรับ และเปิดการประชุมในครั้งนี้ กล่าวคือ

          ปัจจุบันพฤติกรรมของเด็กและเยาวชนยุค GEN Z (เด็กที่เกิดใน พ.ศ. 2544 เป็นต้นไป) ส่วนใหญ่ใช้อินเตอร์เน็ตผ่านสมาร์ทโฟน ถึงร้อยละ 81.4 และการใช้สื่อดิจิทัลในเด็กและเยาวชนมีมากกว่าผู้ใหญ่ ในแง่หนึ่งการใช้อินเตอร์เน็ตดังกล่าวอาจส่งผลกระทบทั้งร่างกายและจิตใจ โดยเฉพาะปัญหาเด็กติดเกม และ Cyber bullying ที่นับวันได้ทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้น อีกทั้งสื่อดิจิทัลมีลักษณะ 1. หลีกเลี่ยงไม่ได้ และ 2. ไม่ย้อนกลับ ซึ่งเด็กและเยาวชนมีจุดอ่อนตรงที่ประสบการณ์ชีวิตและการรู้เท่าทันต่ำกว่าผู้ใหญ่ ที่ผ่านมาจึงมีการจัดเวทีสาธารณะเกี่ยวกับการใช้สื่อดิจิทัลกับเด็กและเยาวชนขึ้น ซึ่งทาง กสทช. ให้ความสำคัญกับเรื่องดังกล่าวผ่านการจัดประชุม NBTC เพื่อเปิดพื้นที่แลกเปลี่ยนข้อมูลและหาวิธีเตรียมการรับมือ โดยเรียนรู้ที่อยู่ร่วมกันกับสื่ออย่างถูกต้อง รวมถึงแนวทางการปกป้องเด็กและเยาวชนจากสื่อที่อันตราย ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคประชาสังคม และภาคประชาชน ตลอดจนการประสานกับหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

         นอกจากนี้ ในส่วนของการเปิดงาน นายวิทัศน์ เตชะบุญ อธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชน ได้เกริ่นนำเรื่อง “สื่อดิจิตอลกับเด็กและเยาวชนไทย” กล่าวคือ สำหรับเรื่องอันตรายจากสื่อ เด็กและเยาวชนเป็นกลุ่มที่ต้องให้ความสำคัญมากที่สุด ซึ่งปีที่ผ่านมาทางรัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการใช้สื่อออนไลน์ของเด็กและเยาวชน มีการร่วมพูดคุยระหว่างภาคีเครือข่าย การวางยุทธศาสตร์ การจัดตั้งศูนย์ประสานงาน การยกร่างกฎหมายควบคุมสื่อ เป็นต้น ทั้งนี้ ปัญหาที่สำคัญในการทำงาน คือ ขาดการประสานงานและขาดการบูรณาการร่วมกันระหว่างภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ในกรณีดังกล่าวหากมีการตั้งศูนย์ประสานงานขึ้น จะต้องไม่ใช่การทำงานแบบระบบราชการ แต่จะต้องเน้นความคล่องตัว ยืดหยุ่น และร่วมกันผลักดันแนวทางในการแก้ปัญหาได้อย่างแท้จริง

         ลำดับต่อมาเป็นการร่วมพูดคุยประเด็นเรื่อง “แนวทางการปกป้องเด็กและเยาวชนไทยจากธุรกิจดิจิทัล” โดยผู้ร่วมพูดคุยมาจากหลายส่วนที่เกี่ยวข้อง ดังนี้

          ดร.ศรีดา ตันทะอธิพานิช ตัวแทนเครือข่ายสิทธิเด็กแห่งประเทศไทย นำเสนอข้อมูล “สื่อดิจิทัลกับเด็กและสังคมไทย” ได้ให้ข้อมูลว่า สถานการณ์การละเมิดสิทธิเด็กบนโลกออนไลน์มีตัวเลขเพิ่มสูงขึ้นมาก แม้ว่าที่ผ่านมาจะมีการรณรงค์แคมเปญ “ประเทศนี้ไม่ตีเด็ก” ซึ่งหมายรวมถึงการหยุดยั้งความรุนแรงทุกประเภทต่อเด็ก ไม่ใช่แค่การทำร้ายร่างกาย แต่รวมถึงการดุด่า การประจาน และการเปรียบเทียบ เป็นต้น ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้พ่อแม่เข้าใจผิดว่าอาจจะเป็นการกระตุ้นให้เด็กกระตือรือร้นหรือให้มีพฤติกรรมที่ดีขึ้น แต่ทางการแพทย์พบว่าเป็นความรุนแรงประเภทหนึ่งที่มีผลต่อจิตใจของเด็ก ทั้งนี้ ความรุนแรงดังกล่าวได้เกี่ยวพันกับสื่อออนไลน์ จากการโพส/แชร์คลิปวิดีโอที่มีความรุนแรง ตัวอย่างเช่น คลิปคุณครูเอารองเท้าวางบนศีรษะนักเรียน คลิปเด็กนักเรียนตบตีกัน คลิปพ่อแม่พูดคำหยาบกับลูก เป็นต้น สิ่งเหล่านี้ถือเป็นการผลิตซ้ำในสังคมโดยขาดความตระหนักถึงปัญหา นอกจากนี้ ความรุนแรงอีกประเภทหนึ่ง คือ Cyber bullying ในประเทศไทยมี 2 กรณีที่ฆ่าตัวตายจากการถูกกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์ หรือกรณีเด็กด้อยโอกาส บางครั้งมีการแชร์ต่อกันไปโดยขาดความยั้งคิด เพราะคิดว่าการแชร์ถือเป็นการช่วยเหลือ แต่อีกแง่หนึ่งถือว่าการละเมิดสิทธิเด็ก และอาจนเป็นการแฝงมาด้วยการหารายได้ของผู้ไม่หวังดีก็ย่อมได้ ดังนั้น จะต้องมีการรณรงค์ให้สังคมได้เข้าใจในประเด็นดังกล่าวด้วย

          นายธาม เชื้อสถาปนศิริ นักวิชาการด้านสื่อ ได้กล่าวถึงภัยคุกคามเด็กและเยาวชนบนโลกออนไลน์ กล่าวคือปัจจุบันโลกเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว หน่วยงานรัฐจะต้องพร้อมที่จะรู้เท่าทันปัญหา แต่ทุกวันนี้ยังขาดหน่วยงานรัฐที่เข้ามากำกับดูแลประเด็นนี้โดยตรง ซึ่งไม่ใช่แค่ประเทศไทยแต่อีกหลายประเทศยังขาดพร่องในเรื่องการสนับสนุนจากรัฐเช่นกัน หากย้อนไปถึงข่าวที่ผ่านมาจะพบว่ามีปัญหาหลายอย่างในสังคม เช่น Cyber bullying การคุกคามทางเพศผ่านสื่อออนไลน์ ปัญหายาเสพติด การล่วงละเมิดทางเพศ เด็กเลียนแบบพฤติกรรมความรุนแรงจากเกม เด็กใช้สื่อดิจิทัลมากเกินไปกระทั่งมีผลต่อพัฒนาการสมอง เป็นต้น ซึ่งบางปัญหาอาจเป็นผลมาจากนโยบายภาครัฐที่ขาดความตระหนักและรู้เท่าทัน เช่น นโยบายแจกแท็บเล็ตเครื่องแรก ดังนั้น ภาครัฐจึงเป็นส่วนสำคัญที่จะต้องมีแนวทางในการแก้ไขปัญหาเหล่านี้อย่างระมัดระวังและรู้เท่าทันปัญหาอย่างแท้จริง นอกจากนี้ การที่เด็กใช้สื่อดิจิทัลเร็วเกินไป และคิดว่าพื้นที่บนโลกอินเตอร์เน็ตคือพื้นที่ส่วนตัว จนทำให้เกิดอันตรายตามมา เช่น การมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร การอัดคลิปการใช้ความรุนแรงต่อกัน การใช้โซเชียลเนตเวิร์คลอกการบ้าน เป็นต้น จนกลายเป็นค่านิยมหลักในสังคม ในแง่นี้ถือว่าวัยรุ่นมีความหมกมุ่นกับสื่อและอยู่กับตนเองมาก จนทำให้เกิด self esteem ต่ำ ซึ่งกลายเป็นปัญหาใหญ่ของ Cyber bullying ตามมา ดังนั้น รัฐจะต้องมีมาตรการแก้ปัญหา เช่น การกำหนดอายุทั้งการลงทะเบียนซิมโทรศัพท์ และการลงทะเบียนสมัครสื่อออนไลน์ต่าง ๆ จะต้องได้รับความยินยอมจากผู้ปกครอง รวมไปถึงกฎหมายจะต้องครอบคลุมและเคร่งครัด ที่สำคัญคือผู้ผลิตสื่อออนไลน์ เกม และผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ จะต้องตระหนักถึงผลกระทบ และจะต้องมีการปกป้องเด็กและเยาวชนด้วย

          พญ.วิมลรัตน์ วันเพ็ญ สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ ได้กล่าวถึง ความเข้าใจปัญหาของเด็กและเยาวชนจากสื่อ กล่าวคือ สำหรับการติดโซเชียลมีเดีย หรือติดเกม อยากให้มองว่าเด็กไม่ได้ป่วยหรือไม่ได้ทำความผิด ซึ่งเด็กแต่ละคนมีเหตุผลและการแสดงออกที่แตกต่างกัน เช่น กรณีแรก ปิดเทอมเด็กเล่นเกมทั้งวัน หรือเปิดเทอมเล่นเกมทุกวันแต่เล่นเฉพาะหัวค่ำ และได้เกรดเฉลี่ย 3.9 อีกกรณีหนึ่ง เด็กไปโรงเรียนทุกวัน แต่ส่งงานบ้างไม่ส่งงานบ้าง ไม่เกเร และได้เกรดเฉลี่ย 2 กว่า ๆ คำถามคือ แบบไหนที่เราเรียกว่าปัญหา? ซึ่งหลายครอบครัวก็มีปัญหาในการกำกับควบคุมลูก ทำให้เกิดความไม่เข้าใจกัน และกลายเป็นการทะเลาะเบาะแว้งกันในครอบครัว  ดังนั้น เราจะต้องพิจารณาคำว่าปัญหาให้ชัดเจน โดยไม่ใช่การเหมารวมโดยมุมมองผู้ใหญ่เพียงฝ่ายเดียว ผู้ปกครองจะต้องมีทักษะในการจัดการพฤติกรรมการเล่นอินเตอร์เน็ตหรือเกมอย่างเหมาะสม ซึ่งการควบคุมอารมณ์หรือการแสดงออกเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่เป็นสิ่งที่จำเป็นจะต้องเรียนรู้ เพราะถือว่าผู้ปกครองเป็นหน่วยที่สำคัญที่สุด เพราะถ้าหากเด็กรู้ไม่เท่าทัน ผู้ปกครองก็รู้ไม่เท่าทันสื่อด้วย ก็จะยิ่งจัดการยากและกลายเป็นอันตรายต่อเด็กตามมา

          รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก เสนอว่า จะต้องมีการปกป้องเด็กจากผลกระทบของสื่อ การที่ผู้ใหญ่หยิบยื่นสมาร์ทโฟน หรือให้เด็กเข้าถึงสื่อออนไลน์ตั้งแต่อายุยังน้อย ทั้งที่พัฒนาการการเรียนรู้ยังไม่เพียงพอ ในเมื่อผู้ใหญ่ไม่เข้าใจ ดังนั้น ผู้ใหญ่ย่อมไม่สามารถให้คำแนะนำและปกป้องเด็กได้ ท้ายที่สุดเด็กก็ไม่สามารถรู้เท่าทันสื่อได้ สำหรับประเด็นนี้ผู้ที่ต้องเข้ามาร่วมรับผิดชอบไม่ใช่เพียงพ่อแม่ แต่เป็นผู้ประกอบการ สังคม และหน่วยงานต่าง ๆ จะต้องมีมาตรการปกป้องเด็กและเยาวชน ทั้งนี้หากพิจารณางานวิจัย พบว่า สื่อออนไลน์ไม่สามารถทดแทนปฏิสัมพันธ์เชิงบวกระหว่างพ่อแม่กับเด็กได้ ดังนั้น การที่พ่อแม่หยิบยื่นให้เด็กเข้าถึงสื่อมากขึ้นเท่าไร ระยะห่างระหว่างพ่อแม่และเด็กก็ยิ่งมากขึ้นเท่านั้น รวมถึงพัฒนาการของเด็กก็จะยิ่งช้าลงด้วย ข้อเสนอคือ ต้องหลีกเลี่ยงให้เด็กใช้สื่อออนไลน์ตั้งแต่อายุยังน้อย โดยเด็กแรกเกิดถึง 2 ปี หลีกเลี่ยงการอยู่หน้าจอทุกชนิด เด็กอายุ 2-5 ปี ควรใช้หน้าจอร่วมกับพ่อแม่ด้วยสื่อคุณภาพ และควรใช้วันละไม่เกิน 1 ชั่วโมง เพื่อให้เวลานอกจากนี้เด็กได้ทำกิจกรรมร่วมกับพ่อแม่และเป็นการสร้างปฏิสัมพันธ์ร่วมกัน

          รศ.คณาธิป ทองระวีวงศ์ สถาบันกฎหมายสื่อดิจิทัล มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต นำเสนอเรื่อง “กฎหมายกับเด็กและเยาวชนในสภาพแวดล้อมดิจิทัล” ซึ่งได้พูด 3 ประเด็นหลัก คือ 1. กฎหมายควบคุม (Content) มีเนื้อหาจำนวนมากที่กฎหมายสากลกำหนดให้ต้องควบคุม เช่น สินค้าและบริการที่ผิดกฎหมาย สื่อลามก ฯลฯ ในตะวันตกกฎหมายจะเน้นเฉพาะควบคุมเนื้อหาที่กระทบต่อเด็กและเยาวชน ได้แก่ Communication decency Act of 1996 หรือกฎหมาย CDA, Child Online Protection Act หรือ COPA โดยมีการจำกัดการเข้าถึงสื่อลามกอนาจารห้ามอายุต่ำกว่า 17 ปี เป็นต้น 2. กฎหมายควบคุมพฤติกรรมที่กระทบต่อสภาพจิตใจ/ความปลอดภัยทางกายภาพ (Cyber bulling, stalking) การกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์ เช่น คำพูดที่ว่า อ้วน ดำ ไม่มีใครรัก ฯลฯ หรือการโพสข้อความที่ทำให้เกิดความขัดแย้ง กฎหมายที่ครอบคลุมเรื่องดังล่าวประเทศไทยยังไม่มี มีเพียงกฎหมายหมิ่นประมาทเท่านั้น และ 3. กฎหมายควบคุมพฤติกรรมธุรกิจดิจิทัล ที่ใช้ประโยชน์จากข้อมูลบุคคล ในประเทศไทยผู้ประกอบการจำนวนมากมีการดึงข้อมูลส่วนตัวของเด็กไปใช้ประโยชน์ แต่ในสหรัฐฯ มีกฎหมาย COPA หากผู้ใช้อินเตอร์เน็ตอายุต่ำกว่า 13 ปี จะต้องข้อความยินยอมจากผู้ปกครองก่อน สำหรับในยุโรป หากมีการขอข้อมูลส่วนบุคคลของเด็กจะต้องขอจากผู้ปกครอง ส่วนประเทศไทยกำลังจะมี พรบ.ข้อมูลส่วนบุคคล ที่จะต้องได้รับการยินยอมก่อนเช่นกัน

          นางสาวพีชนา เลิศฤทธิ์เดชา ตัวแทนเยาวชนไทยที่เข้าร่วมการประชุม The 2016 UNESCO Youth Forum ได้เสนอว่า การล่วงละเมิดทางเพศในเด็กเป็นสิ่งที่ทุกฝ่ายจะต้องช่วยกัน ทั้งในระดับครอบครัว โรงเรียน ชุมชน และสังคม เช่น การมี sex education ในสถานศึกษา ในแง่นี้ไม่ใช่หน้าที่ของคุณครู แต่เป็นหน้าที่ของพ่อแม่ด้วยที่จะต้องให้คำแนะนำแก่ลูก ส่วนเรื่องการซื้อของออนไลน์ มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ข้อดีคือสะดวกรวดเร็ว ข้อเสียคือเด็กอาจจะไม่รู้เท่าทันการจ่ายเงิน ดังนั้น เด็กจะต้องรู้ว่าควรใช้จ่ายอย่างไรให้ปลอดภัย และข้อมูลส่วนตัวจะถูกนำไปใช้อย่างไรบ้าง นอกจากนี้ เด็กจะต้องมีพื้นที่ในการเรียนรู้ที่กว้างขวางขึ้น ไม่ใช่ยึดติดอยู่กับสมาร์ทโฟน หรือไม่ใช่แค่ห้างสรรพสินค้าที่พบเห็นได้ทั่วไป แต่ควรมีห้องสมุด พิพิธภัณฑ์ ศูนย์การเรียนรู้ต่าง ๆ ที่เพิ่มมากขึ้นและกระจายให้ทั่วถึง เพื่อให้เด็กได้มีพื้นที่ในการทำกิจกรรมและหาความรู้เพิ่มขึ้น

 

สิ่งที่ได้และก้าวต่อไป?

          เนื่องจากปัญหาเด็กและเยาวชนที่เกิดผ่านสื่อออนไลน์มีเป็นจำนวนมาก ทั้งการถูกล่วงละเมิดทางเพศ การถูกละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล การถูกล่อลวง เป็นต้น จึงนำไปสู่การเสวนาวงวิชาการเพื่อรับฟังความคิดเห็นและแลกเปลี่ยนข้อมูลของภาคส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง กระทั่งนำไปสู่การเสนอแนะแนวทางในการประสานความร่วมมือ และพัฒนาทั้งในมิติการส่งเสริม และมิติการปกป้องเด็กและเยาวชนในยุคดิจิทัล ได้แก่

  1. ผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ตทุกระบบจะต้องให้ความร่วมมือกับหน่วยงานรัฐในการป้องกัน ปิดกั้น และปราบปรามเว็บไซต์ที่มีเนื้อหาเป็นภัยต่อเด็กและเยาวชน ทั้งสื่อลามก การพนัน การแสดงพฤติกรรมยั่วยุหรือสร้างความรุนแรง และการกระทำที่เป็นการละเมิดสิทธิเด็ก

  2. การรักษาความปลอดภัย ในการรับบริการที่ต้องขอข้อมูลส่วนตัว หากข้อมูลเป็นของผู้ใช้ที่ตกเป็นเหยื่อ หรือผู้ต้องหา จะต้องให้ข้อมูลแก่เจ้าหน้าที่สืบสวน กรณีที่มีปัญหาอาชญากรรมคอมพิวเตอร์เพื่อป้องกันข้อมูลรั่วไหลไปในที่สาธารณะ นอกจากนี้ ควรมีการติดตั้งระบบรักษาความปลอดภัยแก่ผู้ใช้บริการ โดยเฉพาะการรับข้อมูลที่ไม่เหมาะสม การทำธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงการติดตั้งระบบควบคุมของผู้ปกครอง (Parental Control)

  3. สร้างช่องทางในการรับแจ้งและดำเนินการ เพื่อช่วยเหลือเด็กและเยาวชนที่ตกเป็นเหยื่อ หรือได้รับความเสียหายจากสื่อดิจิทัล โดยขอความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและผู้ประกอบการ ในแง่นี้อาจะสัมพันธ์กับมาตรการในการกำกับดูแล อาจทำโดยการตั้งเป็นองค์กรเพื่อดูแลกันเองของผู้ประกอบการ ทั้งในแง่ปกป้องผลประโยชน์สมาชิก การกำกับเชิงจริยธรรม สร้างมาตรฐานในการดูแลเด็กและเยาวชน โดยต้องมีการช่วยกันตรวจตราและเฝ้าระวัง กระทั่งดำเนินการเมื่อพบ ให้แจ้งหน่วยงานที่มีการประสานร่วมกัน

  4. การบูรณาการศูนย์ที่เกี่ยวข้องเข้าด้วยกัน เนื่องจากปัจจุบันมีศูนย์ที่ตั้งขึ้นเพื่อแก้ปัญหาและช่วยเหลือเด็กและเยาวชนเป็นจำนวนมาก จึงต้องมีการสร้างมาตรการการเรียนรู้ร่วมกัน และขยายขอบเขตไปยังกลุ่มที่เปราะบางไม่ใช่เพียงแค่เด็กและเยาวชน และอาจรวมถึงผู้สูงอายุด้วยและกลุ่มชาติพันธุ์ที่ยังรู้ไม่เท่าทันสื่อ

  5. การสร้างความองค์ความรู้และการรู้เท่าทันสื่อของเด็ก ต้องประสานงานกันระหว่างครอบครัว ชุมชน โรงเรียน และหน่วยงานที่พื้นที่ เพื่อให้ความรู้และความร่วมมืออันดี โดยเฉพาะ sex education และการใช้สื่อออนไลน์อย่างเหมาะสม รวมถึงการเพิ่มพื้นที่การเรียนรู้ให้แก่เด็กและเยาวชน เนื่องจากเด็กและเยาวชนหมกมุ่นอยู่กับสมาร์ทโฟนและสื่อออนไลน์มากเกินไป จึงต้องมีกิจกรรมอื่น ๆ เพื่อทดแทนสิ่งเหล่านี้ โดยพื้นที่การเรียนรู้ดังกล่าวต้องเข้าถึงง่าย และไม่มีค่าใช้จ่าย

          นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายประเด็นในที่ประชุมที่ให้ความสนใจร่วมกัน โดยเฉพาะการละเมิดสิทธิเด็ก กล่าวคือ ปัจจุบันผู้ปกครองเกือบทุกครอบครัวมีการใช้สื่อออนไลน์อยู่เป็นประจำ ซึ่งบางครั้งอาจมีการนำข้อมูลส่วนตัวของเด็กลงในสื่อออนไลน์โดยไม่คำนึงว่าเป็นอันตราย เช่น การโพสข้อมูลส่วนตัว การโพสรูปที่ไม่เหมาะสม ซึ่งเด็กยังไม่มีอำนาจในการตัดสินใจในเรื่องนี้ ดังนั้น สิ่งสำคัญคือเด็กจะต้องไม่ถูกละเมิด ผู้ปกครองจะต้องรู้จักสิทธิ และต้องทำความเข้าใจอย่างถูกต้อง และหากพบเห็นการละเมิดสิทธิเด็กไม่ใช่แค่จากผู้ปกครองแต่รวมถึงบุคคลทั่วไป จะต้องแจ้งหน่วยงานเพื่อดำเนินการ ทั้งนี้ จะต้องมีการรณรงค์ให้สังคมตระหนักถึงเรื่องสิทธิเด็กเสียก่อน และประชาสัมพันธ์ถึงช่องทางในการร้องเรียน รวมถึงต้องมีกฎหมายลงโทษอย่างชัดเจน

ภาพประกอบ : https://www.nbtc.go.th/News/Information/การะประชุม-NBTC-Public-Forum-3-2560-เรื่อง-สื่อดิจิ.aspx