เมื่อเร็วๆ นี้ โครงการศึกษาวิเคราะห์เนื้อหาการพนันฟุตบอลยูโร 2016 ในสื่อหลักและสื่อออนไลน์ Media Monitor มูลนิธิสื่อมวลชนศึกษา (Foundation for Media Studies) เปิดผลการศึกษาเรื่อง ”สื่อกับเนื้อหาการพนันและการชิงโชคบอลยูโร2016” ที่ศึกษาในช่วง 1 สัปดาห์แรกของการแข่งขัน (วันที่ 10-16 มิ.ย 59) พบว่า ในภาพรวมสื่อโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอล พบเนื้อหาบอลยูโรมากในกลุ่มธุรกิจทีวีที่ได้รับลิขสิทธิ์การถ่ายทอด คือ ช่อง 3 SD ช่อง 3 HD ช่อง 3 Family ในขณะที่ 2 ใน 3 อันดับแรกของโทรทัศน์ดิจิตอลที่มีคนชมมาก คือ ช่อง 7 HD พบน้อยมาก ขณะที่ ช่อง Workpoint ไม่มีเลย
เนื้อหาส่วนใหญ่ที่พบ คือ ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการแข่งขัน (I) มีบ้างที่เป็นการทำนายผลการแข่งขัน(P) แต่ไม่พบการให้อัตราต่อรอง(H) ซึ่งพบในทีวีดาวเทียม SMM TV สำหรับสื่อวิทยุกระจายเสียง พบเนื้อหาระดับให้ข้อมูล(I) ทำนายผลการแข่งขัน (P) ให้อัตราต่อรอง(H) ในคลื่น FM 96 Sport Radio และ FM 99 Active Radio ในระดับใกล้เคียงกัน แต่ไม่พบเนื้อหาระดับชี้ช่องทางหรือวิธีการพนัน (G) ในทั้ง 2 คลื่น แต่พบในวิทยุออนไลน์ NR Sports Radio ซึ่งไม่มีผังรายการแน่นอน ส่วนใหญ่เสนอเพลงโดย Auto DJ ในขณะที่หน้าเว็บ www.nrsportsradio.com มีการนำเสนอแบนเนอร์เว็บไซต์เกี่ยวกับการพนันบอลยูโรที่เป็นสปอนเซอร์วิทยุออนไลน์ เช่นเดียวกับ Facebook Page nrsportradio มีการโฆษณาเว็บไซต์ที่เกี่ยวกับการพนันฟุตบอลและพบข้อความส่งเสริมการพนันฟุตบอลในช่วงนำเสนอช็อตเด็ดของการแข่งขัน ด้านสื่อหนังสือพิมพ์รายวันที่ศึกษา คือ ไทยรัฐ เดลินิวส์ ข่าวสด คมชัดลึก แม้เนื้อหาส่วนใหญ่จะเป็นระดับการให้ข้อมูล (I) ขณะที่การทำนายผลการแข่งขัน (P) พบใน เดลินิวส์ และ ไทยรัฐในสัดส่วนที่น้อยกว่าเดลินิวส์มาก ส่วนการให้อัตราต่อรอง(H) พบใน เดลินิวส์และคมชัดลึก ในสัดส่วนที่ใกล้เคียงกัน แต่เนื้อหาชี้ช่องการพนัน (G) พบเพียงในเดลินิวส์ การรณรงค์ต่อต้านการพนันบอล ไม่พบในโทรทัศน์ทุกช่องที่ศึกษา แต่พบบ้างในคลื่น FM 99 Sport Radio ที่เป็นการรณรงค์ต่อต้านการพนันโดยกองทุนสลากกินแบ่งรัฐบาลเพื่อพัฒนาสังคมและการพูดของผู้ดำเนินรายการ สื่อหนังสือพิมพ์รายวันพบในข่าวสด ในปริมาณที่มากกว่าไทยรัฐ ด้านการชิงโชคพบในกิจกรรมตอบคำถามชิงรางวัลในรายการเรื่องเด่นยูโร ของช่อง 3 HD และพบเนื้อหาทายผลบอลยูโรของไปรษณีย์ไทยในข่าวต้นชั่วโมงของช่อง Workpoint และในรายการคุยข่าวกีฬาไทยของช่อง SMM TV ซึ่งพบในวิทยุ FM 99 Active Radio เช่นกัน แม้จะพบน้อยครั้งกว่ากิจกรรมเล่นเกมตอบคำถามผ่าน SMS ส่วน FM 96 Sport Radio พบกิจกรรมตอบคำถามทางโทรศัพท์เพื่อชิงรางวัล ด้านหนังสือพิมพ์พบเพียงในเดลินิวส์ฉบับเดียวที่มีการนำเสนอเนื้อหาการชิงโชคในรูปแบบภาพข่าว และ การชวนร่วมกิจกรรมชิงรางวัล “ลุ้นแชมป์ยูโร 2016 ลุ้นโชคกับเดลินิวส์” นายธนากร คมกฤส ผู้อำนวยการเครือข่ายรณรงค์หยุดพนัน กล่าวถึง ผลการศึกษาของมีเดียมอนิเตอร์ กับ การพนันและการชิงโชคบอลยูโร 2016 ในสังคม” โดยเห็นด้วยกับเกณฑ์ IPHG ที่มีเดียมอนิเตอร์ใช้ในการศึกษา เพราะสื่อทำได้หลายบทบาท ที่พอรับได้คือ ให้ข้อมูล วิเคราะห์ วิจารณ์ ฟันธง ซึ่งเป็นสีสัน เร้าความสนใจ พอมาถึง “ลงแต้มต่อ” นี่เริ่มแหย่เข้ามาในพื้นที่การพนัน ที่รับไม่ได้คือ “ล่อให้พนัน” ชี้ช่อง บอกวิธี เท่ากับสื่อแสดงบทบาทสนับสนุนการพนัน “พนันบอลต่างจากเล่นหวยที่ผู้เล่นหาข้อมูลเองได้ แต่พนันบอลต้องอาศัยข้อมูลจากสื่อเพื่อความมั่นใจ แม้ไม่มีบอลหลักเช่นบอลยูโร บอลโลก แต่ก็มีบอลลีกให้พนันกันได้ตลอด การแก้ปัญหาพนันบอล ภาครัฐต้องจริงจัง ตอนนี้ธุรกิจพนันมีข้ออ้าง เพราะกฎหมายไม่ชัดเจนทั้งที่เกี่ยวกับการพนัน และการชิงโชค” สำหรับการจัดกิจกรรมชิงโชคทายผลการแข่งขัน นายธนากร กล่าวว่า ถ้าทำเพื่อสนุกรางวัลไม่ควรใหญ่เกินไปเป็นระดับสิบๆล้านบาท ทั้งกระตุ้นด้วยการโฆษณา “ยิ่งส่งมาก ยิ่งมีโอกาสมาก” ควรจำกัดจำนวนส่ง หนึ่งคนต่อหนึ่งชิ้น ทั้งจำกัดอายุโดยห้ามผู้อายุต่ำกว่า 18 ปี ส่งไปรษณียบัตรหรือข้อมูลเข้าร่วมการชิงโชค ซึ่งเป็นการเข้าใกล้การพนัน สำหรับ บอลยูโร 2016 ครั้งนี้ บริษัทไปรษณีย์ไทย ที่เป็นหน่วยงานภาครัฐ “ทำล้ำเส้น” เร่ขายไปรษณียบัตรตามสี่แยก ตามตลาด แม้ในสถานศึกษา ภาครัฐที่มีอำนาจหน้าที่ ควรเข้ามากำกับดูแล ด้านนพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กสทช.ด้านคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม กล่าวถึงการที่มีสื่อใช้ sms เป็นช่องทางในการชิงรางวันทายผลการแข่งขัน ถ้าค่าใช้ต่อครั้งสูงกว่าปกติ เช่น 3 บาทต่อ 1 การส่ง sms โดยสื่อมีส่วนแบ่ง จะผิดกฎหมายพนัน ถ้าระบุค่ายมือถือที่จะใช้ส่ง sms ก็เข้าข่ายเอื้อบางธุรกิจ “กรณี ไปรษณีย์ไทยร่วมมือกับไทยรัฐ ยอดขายไปรษณียบัตรเป็น 100 ล้านบาท รางวัลมูลค่าแค่หลักสิบล้านบาท ไม่ผิดกฎหมายพนัน เพราะไม่ได้เป็นเจ้ามือ แต่เป็นการเสี่ยงโชคให้ได้ลาภ ขณะที่ไปรษณีย์ไทยเป็นหน่วยงานภาครัฐ หน่วยงานรับผิดชอบต้องคุยกับไปรษณีย์ไทยอย่างจริงจังก่อนที่จะมีการทำตามแบบกันในการแข่งขันกีฬาใหญ่ๆต่อไป” นพ.ประวิทย์ ชี้ประเด็นปัญหาการพนันบอล ต้องหาหน่วยงานภาครัฐใดที่เป็นเจ้าภาพ เพราะถ้ากฎหมายไม่ชัด หน่วยงานภาครัฐจะบอกไม่ใช่ภารกิจ เช่น การที่หน่วยงานใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ที่ไม่ระบุความผิดในการพนันบอลออนไลน์ จึงเกิดปัญหาที่ภาคสังคมต้องลุกขึ้นมาจัดการ แม้แต่การชิงโชค ถ้าปล่อยไปเรื่อยๆ จนเกิดค่านิยมที่ยอมรับการชิงโชค คนชอบชิงโชคเป็นคนปกติ คนที่ไม่ชิงโชคกลายเป็นคนดี ทั้งที่จริงคือคนปกติ ภาครัฐจึงต้องมีนโยบายในเรื่องการพนัน การชิงโชค โดยบูรณาการภาครัฐทุกหน่วยที่เกี่ยวข้องเข้ามาร่วมกันรับผิดชอบ ต้องไม่ “ลอยตัว” ต้องขจัดการเติบโตของค่านิยมเหล่านี้ด้วยการกำหนดกลไกการกำกับดูแล เช่น กำหนดให้ระบบตัดการส่งข้อความการโทรศัพท์เพื่อชิงโชค ให้ 1 เบอร์ทำได้ 1 ครั้ง ต้องดูแลให้เอกชนได้รับประโยชน์พอสมน้ำสมเนื้อ ไม่ใช่เปิดช่องทางเสรี มิเช่นนั้น ต่อไปเศรษฐกิจดิจิตอลที่คาดหวัง อาจกลายเป็นดิจิตอลเพื่อการพนัน เพื่อการกระทำที่ผิดกฎหมาย จนกลายเป็นเศรษฐกิจแบบ underground สูบเงินจากคนรายเล็กรายน้อย ให้เข้ามือเอกชนที่เป็นเจ้ามือ หรือ ที่ใช้การตลาดแบบชิงโชค นายอมร พรมสอน นิติกรชำนาญการ สำนักการสอบสวนและนิติการ กรมการปกครอง กล่าวว่า กระทรวงมหาดไทยได้ดำเนินการยกเลิก พ.ร.บ.การพนัน พ.ศ.2478 ทั้งฉบับ แล้วยกร่างใหม่เป็น 2 ฉบับ ตอนนี้จะเข้าสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช.แล้ว ฉบับแรกคือ พ.ร.บ.การให้รางวัลด้วยการเสี่ยงโชค ที่ในร่าง ไม่มีการจำกัดวงเงินของตัวรางวัล ตามที่มีผู้เสนอว่าค วรจำกัดวงเงินรางวัล แต่ให้เจ้าพนักงานมีดุลยพินิจในการออกกฎหมายรองเอง ซึ่งหากใครไม่เห็นด้วย ก็ไปเสนอในช่วงการพิจารณาของ สนช.ได้ อีกฉบับคือ พ.ร.บ.การพนัน ที่ยกร่างใหม่ประมาณ 40 กว่ามาตรา โดยเฉพาะการทายผลการแข่งขันกีฬา ได้กำหนดให้เป็นการพนันประเภท ก ขณะที่ของเดิมเป็นการพนันทั่วไป นอกจากนั้นยังมีมาตราที่กำหนดให้การเล่นพนันในระบบออนไลน์ มีโทษเป็น 2 เท่าของโทษปกติ ดังนั้น หากมีความเห็น หรือข้อเสนอใด สามารถเสนอไปที่ สนช.ได้ สุดท้าย พ.ต.อ.ดร.ก้องกฤดาคม กิตติถิระพงษ์ ผู้กำกับการกลุ่มงานตรวจสอบและวิเคราะห์การกระทำผิดทางเทคโนโลยี สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวถึงข้อเสนอที่ต้องการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับการพนัน เช่น ให้ครอบคลุม การพนันออนไลน์ การชิงโชคทาง sms ทางโทรศัพท์ และอื่นๆ ขอให้เสนอมาได้เลย เพราะ สนช.ในยุคนี้ ผ่านกฎหมายไปเป็นร้อยกว่าฉบับแล้ว รวดเร็วกว่ารัฐบาลปกติที่ต้องมีการรับฟังกัน แต่มิติสำคัญ คือ ในยุคนี้เป็นการออกกฎหมายโดยข้าราชการที่ คสช.แต่งตั้ง จึงมักคำนึงถึงประโยชน์รัฐเป็นหลัก “ข้อเสนอต่างๆ สามารถทำได้ หรือ จะเสนอผ่านมาทางผมก็ได้ ผมยินดีไปดำเนินการต่อให้ ในส่วนการแก้ไข พ.ร.บ. ว่าด้วยการกระทำผิดทางคอมพิวเตอร์ ตอนนี้ถึงขั้นตั้งคณะกรรมาธิการแล้ว เนื้อหาที่เปลี่ยนแปลง ครอบคลุมไปถึงการกระทำผิดเพื่อให้ได้ทรัพย์สินในระบบคอมพิวเตอร์ด้วย จึงน่าจะช่วยแก้ปัญหาการพนันบอลออนไลน์ได้” ที่มา : สำนักข่าวอิศรา วันที่ 13 กรกฎาคม 2559 |