น่าประหลาดใจ… ประเทศไทยยังไม่มีมาตรการควบคุมการทำธุรกรรมทางการเงินในธุรกิจพนันผิดกฎหมายเป็นการเฉพาะ จึงเป็นช่องทางหลักในการทำธุรกรรมระหว่างเจ้ามือพนันผิดกฎหมายกับผู้เล่นพนันสะดวกมากยิ่งขึ้นและยากต่อการตรวจสอบ!!!
งานวิจัยโครงการ “ศึกษามาตรการทางกฎหมายเกี่ยวกับการทำธุรกรรมทางการเงิน
ในธุรกิจพนันผิดกฎหมายและการป้องกันการฟอกเงิน”
โดย ไพศาล ลิ้มสถิตย์ และจุมพล แดงสกล
……….ปัจจุบันประเทศไทยมีกฎหมายที่ใช้บังคับกับกรณีการพนันคือ พระราชบัญญติการพนัน พ.ศ. 2478 ซึ่งมีการแก้ไขคร้ังล่าสุดเมื่อปี พ.ศ. 2505 กฎหมายการพนันฉบับนี้มีเนื้อหาที่ล้าสมัยเป็นอย่างมาก จึงไม่มีมาตรการควบคุมการทำธุรกรรมทางการเงินในธุรกิจพนันผิดกฎหมายเป็นการเฉพาะ เช่น การอายัดยึดทรัพยสินหรือการทำธุรกรรมทางการเงินผ่านการโอนเงินเข้าบัญชีธนาคาร ซึ่งปัจจุบันถือเป็นช่องทางหลักในการทำธุรกรรมระหว่างเจ้ามือพนันผิดกฎหมายกับผู้เล่นพนันและยังมีวิธีการชำระเงินผ่านระบบอิเล็กทรอนิก (e-payment) ซึ่งทำให้การทำธุรกรรมมีความสะดวกมากยิ่งขึ้น ยากต่อการตรวจสอบ
……….ปัญหาดังกล่าวจึงนำไปสู่ “การศึกษามาตรการทางกฎหมายเกี่ยวกับการทำธุรกรรมทางการเงินในธุรกิจพนันผิดกฎหมายและการป้องกันการฟอกเงิน” โดยเฉพาะการควบคุมการทำธุรกรรมทางการเงินในธุรกิจพนันผิดกฎหมายตามพระราชบัญญัติการพนัน พ.ศ. 2478 และพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 และกรณีศึกษาต่างประเทศ 3 ประเทศคือ ประเทศมาเลเซีย ประเทศสหราชอาณาจักร และประเทศสหรัฐอเมริกา ผลการศึกษาพบว่า การพนันผิดกฎหมายเป็นปัญหาเรื้อรังที่มีมาอย่างยาวนานในสังคมไทย มาตรการทางกฎหมายฟอกเงินและกฎหมายการพนันไม่สามารถควบคุมหรือตรวจสอบการทำธุรกรรมการเงินในธุรกิจพนันผิดกฎหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งยังเป็นช่องทางพนักงานเจ้าหน้าที่หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐบางส่วนเข้ามาแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ สำหรับการเปรียบเทียบกับกรณีตัวอย่างทั้ง 3 ประเทศ พบว่ามีข้อมูลที่สามารถนำมาปรับใช้กับประเทศไทยได้ ในที่นี้จะขอยกตัวอย่างที่น่าสนใจ ดังนี้
……….ประเทศมาเลเซีย กฎหมายฟอกเงินและกฎหมายพนันของมาเลเซีย มีเนื้อหาที่เชื่อมโยงกันในเรื่องการกำหนดมาตรการป้องกันและต่อต้านการฟอกเงิน โดยกำหนดให้ความผิดตามกฎหมายพนันหรือการพนันผิดกฎหมายเป็นความผิดตามกฎหมายฟอกเงิน โดยมิได้กำหนดเงื่อนไขเรื่องจำนวนเงินที่เกี่ยวข้องกับการกระทำผิดตามกฎหมายพนัน เหมือนกับกฎหมายฟอกเงินของไทย
……….สหราชอาณาจักรมีการพัฒนาและปรับเปลี่ยนหน่วยงานที่ทำหน้าที่รับผิดชอบเรื่องการฟอกเงินอยู่ตลอดเวลา เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการจัดการกับการฟอกเงินที่มีการเปลี่ยนรูปแบบอยู่เสมอ ปัจจุบัน Financial Conduct Authority (FCA) มีบทบาทหลักในการกำกับดูแลการป้องกันและตรวจสอบการฟอกเงินผ่านการทำธุรกรรมทางการเงิน และยังมีหน่วยงานสำคัญอีกแห่งหนึ่งที่เกี่ยวกับการป้องกันปราบปรามการฟอกเงินคือ National Crime Agency (NCA) เป็นหน่วยงานใหม่มีสถานะเป็นหน่วยงานของรัฐที่เป็นอิสระจึงไม่ถูกแทรกแซงจากนักการเมืองหรือฝ่ายบริหาร
……….ประเทศสหรัฐฯ มีจุดแข็งคือ การบังคับใช้กฎหมายที่มีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะหน่วยงานจัดเก็บภาษีอากร ซึ่งทำงานร่วมกับหน่วยงานที่รับผิดชอบกฎหมายฟอกเงิน กฎหมายที่สำคัญอีกฉบับคือ Bank Secrecy Act ได้กำหนดนิยาม “สถาบันการเงิน” (financial institutions) ไว้อย่างกว้างขวาง เพื่อให้สามารถครอบคลุมไปยังรูปแบบธุรกิจที่สามารถทำธุรกรรมทางการเงินได้ทุกประเภท โดยเฉพาะบรรดาธุรกิจที่มีความเสี่ยงสูงว่าจะถูกนา ไปใช้เพื่อประโยชน์ในการฟอกเงิน หรือการหลบเลี่ยงภาษี ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการพนัน
……….จากข้อมูลดังกล่าวจึงมีข้อเสนอแนะโดยสรุป คือ
- แก้ไขปรับปรุงพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ฯ มาตรา 3 (9) ในความผิดมูลฐานตามกฎหมายพนัน โดยยกเลิกเงื่อนไขตามกฎหมายฟอกเงินที่กำหนดให้มีจำนวนผู้เข้าเล่นหรือเข้าพนันในการเล่นแต่ละคร้ังเกินกว่า100คน หรือมีวงเงินในการกระทำความผิดรวมกันมีมูลค่าเกินกว่า 10 ล้านบาทขึ้นไป เนื่องจากไม่มีความจำเป็นที่จะต้องกำหนดเงื่อนไขดังกล่าว อีกทั้งยังไม่สอดคล้องกับกฎหมายฟอกเงินในกรณีศึกษาต่างประเทศ
- ควรแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ฯโดยกำหนดให้มีหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายเพิ่มเติม โดยมีสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินเป็นหน่วยงานกลาง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมาย
- ควรแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญยัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ฯ โดยเพิ่มอำนาจสืบสวนสอบสวนของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายฟอกเงิน และให้มีอำนาจสั่งการหรือมอบหมายให้เจ้าหน้าที่ตำรวจและเจ้าหน้าที่ของรัฐในหน่วยงานอื่นปฏิบัติตามคำสั่งของพนกังานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายฟอกเงินและควรพิจารณาแก้ไขกฎหมายฟอกเงินในประเด็นเรื่องให้อำนาจพนักงานอัยการเป็นหัวหน้าพนักงานสอบสวนในคดีฟอกเงินร่วมกับตำรวจเหมือนอยัการในต่างประเทศ
- ควรปฏิรูปกฎหมายการพนันฉบับปัจจุบันคือ พระราชบัญญัติการพนัน ฯ โดยกำหนดให้มีมาตรการยึดทรัพย์อายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับการกระทำผิดของเจ้ามือพนันตามกฎหมายการพนันเช่นเงินในบัญชีเงินฝาก ทรัพยสินต่าง ๆ ทั้งสังหาริมทรัพย์และอสังหาริมทรัพย์
- ควรเปิดโอกาสให้ภาคประชาสังคม ภาคประชาชน หรือภาคธุรกิจ มีส่วนร่วมในการเป็นเครือข่ายป้องกันการฟอกเงินของสำนักงาน ปปง.มากยิ่งขึ้น มีมาตรการคุ้มครองผู้แจ้งเบาะแสตามกฎหมาย