ร่วมคิดร่วมคุย
สัมภาษณ์พิเศษ : คุณสุภิญญา กลางณรงค์
สัมภาษณ์โดย : อรรถสิทธิ์ พานแก้ว ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก
เรียงเรียงโดย: ชนิกานต์ กาญจนสาลี สุวลัย เมืองเจริญ
สื่อหล่อหลอมคน VS คนหล่อหลอมสื่อ ถอดสมการแก้พนัน จาก “สุภิญญา กลางณรงค์”
“…สื่ออาจอ้างได้ว่าสิ่งที่ทำอยู่ ไม่ได้ผิดกฎหมาย แต่สำหรับเรามองว่าเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับประเด็นเรื่องจรรยาบรรณโดยตรง เพราะส่งผลต่อสังคม…”
หลายคนบอกว่าการสู้กับสิ่งที่มองไม่เห็น เป็นเรื่องยากและน่ากลัวที่สุด เช่นเดียวกับวันนี้ ที่เราจะคุยกันเรื่อง หวย ใบ้หวย คนทรง และไสยศาสตร์ ที่ว่าด้วยสิ่งที่คนยังถกเถียงว่าวัฒนธรรมในสังคมไทยล้วนเคยชินความบันเทิงจากการเสี่ยงโชค แม้จะยังไม่มีคำตอบที่แน่ชัดว่าการนำเสนอของสื่อ เป็นสิ่งที่ทำให้เป็นความคุ้นชิน ฝังรากลึกในพฤติกรรมคนไทยแนบแน่น หรือว่าความเป็นจริงแล้วเป็นเพราะวัฒนธรรมคนไทยที่คุ้นเคยกับพนันขันต่อ ไสยศาสตร์และสิ่งลี้ลับเหล่านี้มาแต่เก่าก่อน เป็นปฏิกริยาสนับสนุนให้ข่าวลักษณะนี้ “ขายได้” มากกว่ากัน
การพูดคุยเปิดแง่มุมในทัศนะของนักเคลื่อนไหวด้านสื่อกับคุณ “สุภิญญา กลางณรงค์” กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ได้คลี่ปมถอดสมการด้านจรรยาบรรณสื่อ พร้อมชี้ประเด็นให้เห็นถึงการ “เริ่มต้นนับหนึ่ง” แก้ปัญหาพนันอย่างน่าฉุกคิด
ปัจจุบันการที่สื่อโทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ และสื่อออนไลน์ ต่าง ๆ มีการโฆษณาเชิญชวนให้มีการเสี่ยงโชคชิงรางวัล หรือการนำเสนอข่าวการพนันที่เข้าข่ายเป็นการบอกใบ้ หรือกระตุ้นให้คนอยากเล่นพนัน คุณสุภิญญา มองประเด็นนี้อย่างไร
จริง ๆ เห็นเรื่องนี้มาต่อเนื่อง เรื่องนี้มันเป็นความก้ำกึ่งระหว่างเรื่องกฎหมายกับจรรยาบรรณ คือสื่ออาจอ้างได้ว่าสิ่งที่ทำอยู่ ไม่ได้ผิดกฎหมาย แต่สำหรับเรามองว่าเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับประเด็นเรื่องจรรยาบรรณโดยตรง เพราะส่งผลต่อสังคม สมัยที่ทำงานอยู่ที่ กสทช. เคยเกิดกรณีลักษณะนี้ ซึ่งได้มีการตักเตือนและแนะนำให้ปรับปรุง แต่ยังมีปัญหานี้มาเป็นระยะ ส่วนตัวมองว่าถ้าเป็นเรื่องสื่อทีวี ทาง กสทช. ควรมีมาตรการเข้ามากำกับดูแล ถ้าการนำเสนอล้ำเส้นเรื่องกฎหมายกับจรรยาบรรณมากอาจต้องลงโทษ แต่ในกรณีที่ยังไม่ชัดเจน อาจใช้วิธีการกระตุ้นให้เกิดการกำกับดูแลกันเอง รวมถึงหามาตรการทางสังคม เข้ามาร่วมกำกับดูแลมากยิ่งขึ้น
ในส่วนของสื่อสิ่งพิมพ์ ปัจจุบันสภาการหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ได้ออกแนวปฏิบัติสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ เรื่องการนำเสนอข่าว และภาพข่าว ความเชื่อทางไสยศาสตร์ ตัวเลข และสลากพนัน พ.ศ. ๒๕๖๑ ออกมาเป็นแนวปฏิบัติ เพื่อให้สื่อมีความระวังมากยิ่งขึ้น และถ้ายังมีปัญหาอีกก็จะเป็นผู้บริโภคหรือหน่วยงานอื่นในการช่วยกันสอดส่องร้องเรียนเข้ามา ล่าสุดมีเรื่องร้องเรียนเข้ามาก็ส่งเรื่องต่อให้ media ombudsman คือผู้ตรวจการของสื่อแต่ละสำนักในการพิจารณาเรื่องร้องเรียน เพื่อให้รู้ว่าตัวเองผิดหรือไม่ผิด แล้วจากนั้นส่งเรื่องมาที่สภาการหนังสือพิมพ์ เพื่อดำเนินเรื่องต่อ ปัจจุบันเราจะพบกันบ่อยเรื่องการใบ้ตัวเลขอ้อมๆ ไม่ได้ขายพนันโดยตรง แต่เน้นการบอกใบ้ตัวเลข ซึ่งตรงนี้เป็นเรื่องที่สภาการหนังสือพิมพ์ฯ ก็พยายามดูแลออกแนวปฏิบัติล่าสุดขึ้นมา ว่าจะช่วยได้มากน้อยเพียงใด
ในเมื่อการนำเสนอของสื่อมีความเกี่ยวข้องกับการกระตุ้นให้คนอยากเล่นพนันมากขึ้น การบอกวิธีการได้มาของตัวเลขเพื่อนำไปซื้อหวย การนำเสนอข่าวเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เน้นการนำเสนอตัวเลขเพื่อประกอบการนำไปซื้อหวย เช่น เลขทะเบียนรถนายก ทะเบียนรถที่ประสบอุบัติเหตุ ปัจจุบันทางสื่อหนังสือพิมพ์ มีการกำกับดูแลกันเองในประเด็นนี้หรือไม่ อย่างไร
ปัจจุบันกลไกหลักเป็นการรับเรื่องร้องเรียน ซึ่งมีกลไกการทำงานอยู่ 2 กลุ่มใหญ่ คือคณะทำงานรับเรื่องร้องเรียน และคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งเป็นลักษณะการทำงานทั้งเชิงรุกและเชิงรับ โดยคณะทำงานรับเรื่องร้องเรียน ทำหน้าที่ในการรับเรื่องร้องเรียน แล้วส่งต่อเรื่องให้กรรมการจริยธรรม ของสภาการหนังสือพิมพ์ฯพิจารณา ส่วนคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคที่ได้ทำงานดูแลอยู่ก็จะเน้นทำงานเชิงรุก เช่นการจัดเวทีกระตุ้นให้เกิดการตื่นตัวเรื่องบางเรื่อง หรือการชงเรื่องบางเรื่องที่ยังเป็นปัญหาให้กับสภาการหนังสือพิมพ์ฯ แม้ว่าไม่มีเรื่องร้องเรียนก็ตาม โดยช่วงที่ผ่านมายังไม่ค่อยมีเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการพนันเข้ามามากนัก ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องสิทธิผู้ตกเป็นข่าว หรือสิทธิเด็ก ซึ่งบางเรื่องเราดูแลไม่ทั่วถึง หากหน่วยงานที่ดูเรื่องนี้ต้องการให้แก้ไข หรือมองว่าเป็นปัญหาก็สามารถส่งเรื่องมาได้ตามกระบวนการที่มีอยู่ในปัจจุบัน ตามขั้นตอนที่บอกไปข้างต้น โดยจะมีกรรมการจริยธรรมของสภาการหนังสือพิมพ์มาคัดกรองว่าผิดจริยธรรมของสื่อ
ตอนนี้เรามีหน่วยงานใหม่ขึ้นมา คือ media ombudsman ทำหน้าที่คล้ายเป็นผู้ตรวจการ ประกอบไปด้วยบุคลากรทั้งภายในและภายนอกในสื่อ ที่จะคอยพิจารณาเบื้องต้นก่อนว่าเรื่องที่ถูกการร้องเรียนนั้นผิดจริยธรรมไหม ถ้าผิด คณะผู้ตรวจการจะกำหนดแนวทางเพื่อให้เกิดการปรับปรุง แต่ถ้าไม่ผิด เรื่องก็จะกลับมาที่คณะกรรมการจริยธรรมตัดสินอีกครั้ง นี่คือความพยายามที่จะสร้างกลไกการกำกับดูแลกันเองภายในของแต่ละสื่อที่เป็นสมาชิก ซึ่งพึ่งเริ่มใช้ จึงประสบปัญหาอยู่บ้าง เช่นความล่าช้าในการดำเนินการ หลายคนมองว่าสื่อจะกล้าตรวจสอบตัวเองไหม ผิดจะกล้ารับผิดไหม แล้วก็จะมีบทลงโทษที่จริงจังนอกจากการตักเตือนไหม เพราะปัจจุบันบทลงโทษส่วนใหญ่ยังเป็นเพียงการตักเตือน แต่อย่างน้อยการมีกลไกนี้ช่วยให้สื่อระวังเรื่องการนำเสนอข้อเท็จจริงมากยิ่งขึ้น ในแง่ที่ว่า ไม่ทำผิดซ้ำอีก ฉะนั้นการมีประกาศ การมีการรับเรื่องร้องเรียน การมี media ombudsman ช่วยให้เกิดการตรวจสอบถ่วงดุลมากขึ้น แต่ถ้าถามว่ากลไกมันทำงานได้เต็มประสิทธิภาพไหม ตอบเลยว่ายังช้ามาก กว่าจะดำเนินงาน และสุดท้ายคือบทลงโทษที่ออกมาก็ไม่รุนแรงมากนัก พูดง่าย ๆ คือเราพึ่งมีกลไกกำกับใหม่ ที่อาจยังทำงานได้ไม่ดีพอ ถือว่าดีกว่าแต่ก่อนโดยมีการกำกับดูแลเรื่องร้องเรียนที่ส่งมา ซึ่งแต่เดิมสภาการฯ ก็ถูกมองว่าเป็นเพียงเสือกระดาษ
ฉะนั้นโอกาสดี ที่สื่อสมาชิกยินยอมให้มี media ombudsman ขึ้น ซึ่งมีทั้งคนทำงานในและนอกแวดวงสื่อ รวมทั้งนักวิชาการ NGOs ที่จะเข้าไปช่วยพิจารณา ส่วนหนึ่งเป็นข้อดีต่อสื่อเองว่า เขาจะไม่ถูกตัดสินจากสภาการฯเลย แต่จะต้องกรองก่อนก็ยอมรับว่ายังมีปัญหาเรื่องความล่าช้า เพราะเรื่องส่งไปก็เงียบไม่ยอมส่งกลับมาเรื่องยังแช่อยู่ที่ตัวหนังสือพิมพ์ ต้องระบุกลับมาว่าหากพบว่าผิด จะดำเนินการแก้อย่างไร ถ้าไม่ผิดก็ต้องระบุว่าทำไมไม่ผิดถึงจะเข้าขั้นตอน ผ่านคณะกรรมการซึ่งมีผู้เชี่ยวชาญทั้งภายในและภายนอก ปัญหาเรื่องความล่าช้าสังคมเองก็ไม่ค่อยเชื่อมั่นว่าจะแก้ปัญหาได้จริง แต่ถ้าไม่มีเลยจะแย่กว่านี้ สิ่งที่จะทำให้ระบบงานดีขึ้น คือกลไกที่เข้ามาเสริมอย่างภาคสังคม องค์การพัฒนาเอกชน NGOs นักวิชาการ หรือสื่อสังคมออนไลน์ จะช่วยในการตักเตือน ว่ากล่าววิพากษ์วิจารณ์สื่อ ก็จะช่วยให้เขาระวังมากขึ้น
“เราไม่ค่อยเห็นอะไรแบบนี้เลย เราไม่เห็นการตัดสินที่มีการฟันธง แล้วก็เอามาเผยแพร่ชัดเจน เพื่อให้เกิดการรับรู้มากยิ่งขึ้น นอกจากการขึ้นเว็บ อาจมีแถลงการณ์ หรือแถลงข่าว”
ประเด็นการใบ้หวยของสื่อ โจทย์นี้แก้ยากหรือไม่
กรณีนี้เป็นปัญหาเหมือนกัน เพราะประเด็นใบ้หวย กลายเป็นประเด็นที่คนชอบ เสียงในการวิจารณ์เลยน้อยกว่าเวลาที่สื่อไปละเมิดสิทธิเด็กหรือสิทธิสตรี เพราะคนชอบเรื่องพวกนี้ เกือบจะเป็นวิถีชีวิตของคนไทย จนชินกับเรื่องพวกนี้ไปแล้ว เพราะอย่างพระยังใบ้หวยเลย แล้วทำไมสื่อจะทำบ้างไม่ได้ อันนี้คือมันเกี่ยวโยงกับ mindset ของสังคมด้วยนะคะ แต่ในส่วนของสภาการก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ ก็พยายามจะออกแนวปฏิบัติมาตั้งหลายข้อ ซึ่งตรงนี้มันก็มีปัญหาภายในเหมือนกัน เพราะสื่อก็จะบอกว่าโอ้โหทำไมจุกจิกกันจังเลย ทำโน่น ทำนี่ก็ติดปัญหาไปหมด นี่ก็เป็นเรื่องที่องค์กรวิชาชีพต้องทำงานกับองค์กรสมาชิกเหมือนกัน ซึ่งบางทีมันก็ไปขัดกับผลประโยชน์ของนักหนังสือพิมพ์ หรือขัดกับความเคยชินของบรรณาธิการ ซึ่งนี่มันเป็นอุปสรรคเหมือนกันในการทำงานเรื่องพวกนี้ คือมันเป็นปัญหาโลกแตกจริง ซึ่งมันต้องสร้างวัฒนธรรมใหม่ ให้สื่อเองมีความละเอียดอ่อนมากยิ่งขึ้น และใส่ใจมากยิ่งขึ้น
ยกตัวอย่างเรื่องหวยเรื่องอะไรพวกนี้เขามองว่ามีมวลชนประชาชนสนับสนุนเขาก็ไม่กลัวไง ในขณะที่เรื่องถ้ำหลวง ซึ่งเกี่ยวกับสิทธิเด็กคนมีความกังวลมาก ก็จะมีการปรับตัวอย่างรวดเร็ว ถ้าสื่อพลาดก็โดนด่าง่าย สื่อก็จะไม่พยายามทำ แต่เรื่องใบ้หวยมันเป็นเรื่องถูกใจชาวบ้าน อันนี้มันเลยเป็นความยาก มันเลยทำให้กลไกการตักเตือนของสื่อเองก็เลยไม่เข้มแข็ง เพราะถูกมองเป็นเรื่องธรรมดาไป จริงๆ มันก็จะเป็นความเหนื่อยยากของคนที่ทำงานเรื่องนี้ ก็จะต้องรณรงค์หนักขึ้น หรือมีวิธีการอื่นมากยิ่งขึ้น สุดท้ายอาจต้องเอามาตรการทางกฎหมายมาใช้เลยรึเปล่า อะไรแบบนี้ ถ้ามันเป็นการพนันจริง ๆ หรือการใบ้หวยจริง ๆ มีกฎหมายมาห้ามเลยไหมให้มันชัดเจนไป คืออันนี้พี่ก็ยังไม่รู้ เพราะถ้าการกำกับทางจริยธรรมมันไม่ได้ผล แต่ก็ต้องมาวิเคราะห์ผลดีผลเสียกันอีกที
จากนี้สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติและสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ ควรวางบทบาทการสื่อสารเกี่ยวกับการพนันให้สังคมรับรู้หรือไม่ อย่างไร
คิดว่าวิธีการที่ดีที่สุดก็คือกรณีที่มีการร้องเรียนมาต้องมีการตัดสินอย่างเป็นรูปธรรมว่าถูกหรือผิด แล้วเผยแพร่สู่สังคม เพราะเราไม่ค่อยเห็นอะไรแบบนี้เลย เราไม่เห็นการตัดสินที่มีการฟันธง แล้วก็เอามาเผยแพร่ชัดเจน เพื่อให้เกิดการรับรู้มากยิ่งขึ้น นอกจากการขึ้นเว็บ อาจมีแถลงการณ์ หรือแถลงข่าว คือสิ่งที่เราจะเห็นจากองค์การวิชาชีพส่วนใหญ่เป็นการแถลง การเตือนว่าไม่ควรทำแบบนั้น แบบนี้เสมอ หรือแถลงการณ์ขอความร่วมมือ แต่เราไม่ค่อยเห็นแถลงการณ์ว่าอันนั้นผิด อันนี้เป็นสิ่งที่พี่ในฐานะคนนอกอยากจะเห็น เพราะมันยังทำให้มันเกิดไม่ได้ ส่วนหนึ่งเป็นวัฒนธรรม จึงทำยากมากเพราะสื่อจะรู้สึกว่ากระทบกันเอง อันนี้พี่คิดเอาเองนะ เป็นเรื่องยากที่เมืองไทยยังต้องยกระดับมาตรฐานการวิจารณ์ตัวเองให้สูงมากกว่านี้
สุดท้ายก็อาจต้องอาศัยคนนอกมาช่วยวิจารณ์ เช่น กรณีที่ตัดสินแล้ว พี่เป็นคนนอกก็อาจออกมาพูดให้ก็ได้ หรือองค์กร NGOs อาจเอาข้อมูลนั้นมาเผยแพร่ก็ได้ แต่ขั้นแรกเนี่ยขอให้มีการตัดสินให้เป็นกรณีตัวอย่างก่อน ซึ่งตอนนี้ไม่ค่อยเห็น คือส่วนใหญ่ยังเน้นที่การขอความร่วมมือ ซึ่งเราเข้าใจได้ในกรณีแรก ๆ แต่พอกรณีหลัง ๆ ก็ควรมีการตัดสินที่จริงจัง ซึ่งถ้ามีจริง ๆ สื่อก็จะถูกคนวิจารณ์มากขึ้น แล้วเขาก็จะระวังตัวมากยิ่งขึ้นด้วย ซึ่งในกรณีการพนันเรายังไม่เห็นเท่าที่ควร แต่ในกรณีอื่นเริ่มมีแล้ว อย่างกรณีถ้ำหลวงเราจะเห็นว่าหลายสื่อระวังมากยิ่งขึ้น แต่กรณีเรื่องพนัน อย่างที่บอกคนจะเฮกันมากกว่า ฉะนั้นข้อเสนอก็คือกรณีที่มีการร้องเรียนเข้ามาแล้วเป็นหนังสือพิมพ์หัวสี ก็อาจต้องมีการเร่งการตัดสินออกมา โดยเฉพาะตัวสื่อเองเนี่ยว่าสรุปเขาผิดหรือไม่ผิด ถ้าไม่ผิดเพราะอะไร แล้วคนอื่นจะว่ายังไง กรรมการสภาฯจะตัดสินยังไง พี่เองก็รอตัดสินเหมือนกัน แต่เรื่องมันยังไม่กลับมาที่เรา ซึ่งเราก็ต้องให้โอกาสสื่อที่ถูกร้องเรียนก่อน พี่คิดว่าถ้ากระบวนการตรงนี้มันทำได้เร็วขึ้น ทำบ่อยขึ้น การทำงานก็จะมีประสิทธิภาพขึ้นเอง พอมีใครถูกตัดสินว่าผิด ก็มีการเผยแพร่ลงเว็บ หรือมีการแถลงผล หรือสถาบันอื่นเผยแพร่ต่อ สิ่งเหล่านี้ก็จะทำให้เขาระวังมากยิ่งขึ้น
หน่วยงานหรือองค์กรในลักษณะใดที่ควรจะเป็นผู้ดูแลและกำกับมาตรการจัดการพนันของสื่อ หรือต้องการให้หน่วยงานใดเข้ามาร่วมคิดร่วมทำ เพื่อไม่ให้มีผลกระทบต่อการเข้าถึงการพนันของเด็กและเยาวชน
คิดว่าจริงๆ กสทช. ก็มีทรัพยากร แล้วก็มีกลไก ฉะนั้น กสทช. ควรจะเป็นหลัก โดยเฉพาะทีวี หลายช่องมากที่ชอบใบ้หวยและเล่าข่าว กสทช. ก็ควรมีการตักเตือนอย่างจริงจังให้มากยิ่งขึ้น เพราะที่ผ่าน กสทช. ก็มีวัฒนธรรมคล้ายองค์กรวิชาชีพเหมือนกัน ทั้งที่ตัวเองถือกฎหมาย มีอำนาจอยู่ในมือ ไม่ยอมใช้ในเรื่องที่จำเป็น แต่ไปใช้ในบางเรื่อง เช่นเรื่องสิทธิเสรีภาพการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ทั้งที่เรื่องที่มันส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคและสังคมอย่างเรื่องการโฆษณาขายของกันอย่างบ้าระห่ำ หรือเรื่องการพนันเองก็ควรมีการจัดการ แต่ไม่ยอมทำ กสทช. ก็จะเรื่อย ๆ ทั้งที่ตัวเองมีอำนาจ แต่ดันมาใช้วัฒนธรรมเดียวกันกับองค์กรวิชาชีพ ก็คือเกรงใจสื่อ แล้วก็ไม่ฟันธงว่าผิดหรือไม่ แล้วก็ไม่พยายามออกมา take action สมัยพี่อยู่ก็พยายามออกมาบ้าง
แต่ว่าสื่ออาจจะไม่ค่อยชอบอะเนอะ แต่โดยภาพรวมก็ไม่ค่อยมีอยู่แล้ว ซึ่งอาจเป็นเพราะกสทช.เกรงใจ หรือกลัวโดนฟ้อง แต่ว่าจริงๆ มีอำนาจ มีงบประมาณ มีทรัพยากร มีองค์ความรู้ อย่างเรื่องการรณรงค์ การอบรม หรือการกระจายความรู้เรื่องนี้ กสทช. ควรเข้ามาเป็นตัวหลักให้มากยิ่งขึ้น ช่วยในแง่ของการกระตุ้นเตือน อีกหน่วยที่ควรเข้ามาก็อย่างกระทรวงมหาดไทย ซึ่งเป็นผู้กับดูแลเรื่องการพนันโดยตรง ก็ควรมีการออกมานำเสนออย่างเป็นระยะ ๆ เหมือน เราเห็นเวลาหน่วยงานด้านสาธารณสุขทำ อย่างเช่นกรมสุขภาพจิต เวลาเห็นสื่อทำอะไรที่อาจกระทบเรื่องนี้ เขาก็จะออกมาเตือนอยู่บ่อย ๆ ฉะนั้นถ้ามีหน่วยงานที่ทำหน้าที่กำกับดูแลเรื่องนี้ออกมาทำแบบนี้บ้าง ก็จะช่วยได้บ้างในการปรามสื่อ อันนี้ในเชิงการป้องปราม ในเชิงการเตือน การใช้กฎหมาย แต่ว่าในเชิงส่งเสริมก็มีกองทุนสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ซึ่งพี่คิดว่าก็ควรมีการรณรงค์เรื่องนี้กันมากขึ้น มีมาตรการในการสนับสนุน ชมสื่อที่ทำงานเรื่องนี้ได้ดี หรือการวิจารณ์สื่อที่ส่งเสริมเรื่องพวกนี้ ถ้าหน่วยงานนี้ช่วยกันหรือทำหน้าที่ตัวเองมากยิ่งขึ้นก็อาจจุดกระแสได้ไม่ยากนัก
“แต่กฎหมายอย่างเดียวอาจไม่ช่วยอะไรมาก เพราะเรื่องพวกนี้เป็นเรื่องของวัฒนธรรมด้วย การสร้างวัฒนธรรมจึงเป็นเรื่องสำคัญสุดในเรื่องนี้ ซึ่งสื่อจะต้องปรับบทบาทตัวเองมาทำเรื่องพวกนี้มากขึ้น”