สัมภาษณ์โดย : อรรถสิทธิ์ พานแก้ว พิชญา วิทูรกิจจา
เรียงเรียงโดย: ชนิกานต์ กาญจนสาลี สุวลัย เมืองเจริญ
ปฏิเสธไม่ได้ว่าสังคมไทยเข้าสู่ยุคสังคมก้มหน้าแบบเต็มตัว ช่องทางพนันออนไลน์จึงแพร่ระบาดในสังคมไทยแบบไวรัส ป้าเล็ก (คุณณภัทร จาตุรัส เลขานุการศูนย์ประสานงานองค์การชุมชนตำบลเหมืองใหม่ ผู้นำชุมชนจากกลุ่มวิสาหกิจชุมชนอนุรักษ์ฟื้นฟูมะพร้าวครบวงจรตำบลเหมืองใหม่ อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม ) แม้จะเป็นคนยุคอนาล็อค (Analog) แต่ก็เข้าใจ และกังวลเรื่องปัญหาพนันออนไลน์อย่างตกผลึก
ป้าเล็ก ยอมรับว่า แม้จะไม่เก่งเทคโนโลยี แต่มีความกังวลเกี่ยวกับพฤติกรรมการใช้สื่ออนไลน์ในปัจจุบัน ที่พบว่าเด็กและเยาวชนสื่อสารผ่านมือถือมากกว่าการสื่อสารผ่านความสัมพันธ์แบบเครือญาติ ในฐานะที่สวมหมวกเป็นคณะกรรมการชุมชนตำบลเหมืองใหม่ ศูนย์ประสานงานองค์การชุมชนตำบลเหมืองใหม่ และสภาองค์กรชุมชนตำบลเหมืองใหม่จึงมีการประชุมปรึกษาหารือแนวทางการรู้เท่าทันการพนันให้แก่เด็กและเยาวชนของตำบลเหมืองใหม่ ในช่วงปิดภาคเรียน เพื่อสร้างรูปแบบเครือข่ายความร่วมมือและแลกเปลี่ยนเรียนรู้การพัฒนากลไกลดผลกระทบจากการพนันในเด็กและเยาวชนตำบลเหมืองใหม่ โดยเริ่มต้นจากคณะบริหารสภาเด็กและเยาวชนองค์การบริหารส่วนตำบลเหมืองใหม่ที่เพิ่งจัดตั้งขึ้นเป็นครั้งแรก ด้วยความมุ่งมั่นที่อยากจะให้เกิดแนวทางป้องกันและลดผลกระทบจากปัญหาการพนันตั้งแต่เป็นหน่ออ่อน เพราะการพนันและการเสี่ยงโชค ในยุค 4.0 มีช่องทางการเข้าถึงได้ง่าย สะดวกเพียงแค่ปลายนิ้วมือ เป็นความรู้ใหม่ที่ได้จากการเข้าร่วมเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้เครือข่ายการทำงานในมิติสุขภาพกับมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.)
แนวคิดของป้าเล็ก จึงนับว่าน่าสนใจไม่น้อย โดยเฉพาะคำอธิบายของป้า ที่เรียบง่ายและยกตัวอย่างเห็นภาพได้อย่างชัดเจน
จากสภาพปัญหาการพนันในปัจจุบันที่การพนันเป็นช่องทางที่เข้าถึงง่ายโดยเฉพาะช่องทางออนไลน์ รวมถึงเด็กและเยาวชนมีแนวโน้มที่จะเข้าถึงการพนันกันมากขึ้น สำหรับในชุมชนที่คุณป้าดูแลอยู่ สภาพปัญหาการพนันเป็นอย่างไรบ้าง?
สำหรับในชุมชนตำบลเหมืองใหม่ การพนันที่เห็นด้วยตาเปล่าคือการเล่นหวยใต้ดิน เล่นไพ่ แต่การที่เรามีมาตรการทางสังคม ผ่านวัด 9 แห่ง ในตำบล ห้ามเล่นการพนันในงานศพ เพราะฉะนั้นการพนันในวัดจะไม่มี ส่วนหวยใต้ดินก็มีบ้าง สำหรับเราเองที่เป็นผู้นำชุมชนก็จะพยายามสื่อสารให้คนในชุมชนเข้าใจว่า การเอาชีวิตไปฝากไว้กับความเสี่ยงกับการพนันรูปแบบต่างๆ มันมีโอกาสน้อยมากที่จะเอาชนะเจ้ามือซึ่งเป็นผู้ออกแบบกติกาการพนัน แต่การพนันที่ทำให้ป้าเล็กและคนในชุมชนต้องลุกขึ้นมาคุยกันอย่างจริงจังคือการพนันออนไลน์ ผ่านมือถือ และป้าเล็กเป็นคนสมัยเก่าไม่เก่งเทคโนโลยี ดังนั้น เมื่อได้เข้าร่วมเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้เครือข่ายการทำงานในมิติสุขภาพกับมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.)ทำให้ทราบว่าการพนันสมัยนี้ไม่ต้องมีการตั้งวง ไม่ต้องมีการจัดสถานที่เป็นบ่อน แต่สามารถเข้าถึงการพนันผ่านช่องทางออนไลน์ ได้ทุกรูปแบบทั่วโลก เพราะสามารถที่จะเข้าถึงได้ง่ายต่างคนต่างใช้มือถืออยู่คนละที่ก็เล่นได้ เด็กและเยาวชน จึงเป็นเหยื่ออันโอชะที่จะสามารถเข้าไปดูการสาธิตวิธีการเล่นไฮโลเพียงแค่เขย่าผ่านมือถือเป็นอย่างไร ป้าเล็กก็ประหลาดใจ จึงนำไปเล่าสู่กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อบต. ศูนย์พัฒนาครอบครัว ฟังว่าเป็นเรื่องที่น่ากลัว บางครั้งเราหยิบยื่นมือถือให้แก่ลูกเราเพื่อสะดวกในการติดต่อ สะดวกในการค้นหาข้อมูล ส่วนหนึ่งก็ให้ประโยชน์ด้านการศึกษา แต่ในขณะเดียวกันก็ให้โทษ เพราะฉะนั้น ป้าเล็กจึงตื่นตัวเรื่องนี้เป็นพิเศษ
ไฟไหม้ครั้งเดียวแค่หมดทั้งบ้าน แต่การพนันไม่ได้หมดแค่บ้าน แต่หมดทั้งที่ดิน เป็นหนี้ อาจโดนฆ่าตาย …
อยากทราบว่าปัจจุบันทางกลุ่มวิสาหกิจชุมชนอนุรักษ์มีมาตรการการเฝ้าระวัง หรือมีการป้องกันและแก้ปัญหาการพนันในชุมชนหรือไม่ อย่างไร?
สภาพปัญหาที่เกิดขึ้นป้าเล็กได้ปรึกษากับคณะกรรมการชุมชนฯ ศูนย์พัฒนาครอบครัวในตำบลเหมืองใหม่ ในการทำโครงการสร้างพื้นที่ปลอดภัย จากปัญหาการพนันขึ้น เป็นเป้าหมายเล็ก ๆ เริ่มจากเด็กนักเรียนประถมศึกษาปีที่5-6 จากโรงเรียน 3 แห่ง และเด็กเยาวชนรอบชุมชนบางส่วน ประมาณ 50 คน เพื่อลองดูว่าเด็กเยาวชนของชุมชนมีทักษะชีวิตในการปกป้องตนเองจากปัจจัยเสี่ยงและภัยจากการพนันหรือในปัจจุบันอย่างไร นอกจากที่เด็กรู้ว่าอะไรคือการพนันมีโทษอย่างไร การที่เด็กเข้าถึงการพนันได้ง่าย และคิดว่าไม่เป็นปัญหา แรก ๆ แค่เล่นสนุกสนานไม่ติดหรอก แต่นานเข้าหนูเล่นหนูอยากชนะ หนูแพ้หนูก็อยากเอาคืน มันเป็นหน้าที่ของเราที่จะไปหยิบยื่นให้แก่เด็ก เพื่อพวกเขาจะได้ไปบอกว่าพ่อแม่ ที่กำลังซื้อชาเขียวมาเป็นลัง ๆ เพื่อส่งSMSลุ้นโชคใต้ฝา หรือการโหวตนักร้องที่ชอบผ่านรายการโทรทัศน์ และพบว่าเดือนนั้นเสียค่าโทรศัพท์พันกว่าบาท ในขณะที่เด็กโดนแม่ตี แต่ไม่มีใครบอกลูกว่าผิดอะไร อย่างไร กลับบอกว่าเป็นหน้าที่ครู ครูก็บอกว่าภารกิจเรื่องจัดการเรียนการสอนก็เยอะอยู่แล้ว ควรเป็นหน้าที่ของชุมชนด้วยหรือไม่ ดังนั้น โครงการนี้เราก็จับมือกันทั้งโรงเรียน ผู้นำชุมชน ผู้ปกครอง เจ้าอาวาส เพราะเราเป็นหมู่บ้านรักษาศีล 5 การพนันก็อยู่ในศีล 5 ด้วย ครั้งนี้เป็นครั้งแรก แต่ทำให้ชาวบ้านหลายคนตั้งคำถามว่าที่ทำอยู่แค่วงเล็ก ๆ แล้วเด็กที่ไปเรียนมหาวิทยาลัย เด็กที่ออกไปเรียนข้างนอก จะมีการทำกิจกรรมหรือให้ความรู้แก่เด็กกลุ่มนี้หรือไม่ ดังนั้นการที่ป้าเล็กมาร่วมการอบรมกับมสช.ทำให้ป้าเล็กสะท้อนว่า เด็กเหล่านั้นน่ากลัวกว่าเด็กเล็ก ๆ ในชุมชนเสียอีก ป้าเล็กก็ไปออกหอกระจายข่าวให้ข้อมูลว่าการพนันเป็นภัยอย่างไร ไฟไหม้ครั้งเดียวแค่หมดทั้งบ้าน แต่การพนันไม่ได้หมดแค่บ้าน แต่หมดทั้งที่ดิน เป็นหนี้ อาจโดนฆ่าตาย บวกกับการที่ชาวบ้านเห็นข่าวว่ามีคนไปปล้นร้านสะดวกซื้อเพราะติดการพนันบอล ยิ่งทำให้ชาวบ้านตื่นตัวมากขึ้น กลับมามองที่ชุมชน มีคนเล่ามาลูกขโมยส้มโอไปขายเพื่อนำเงินมาเล่นพนัน นี่ก็เป็นสิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้น มันเป็นเรื่องน่ากลัวถ้าระดับประเทศมองว่าเป็นเรื่องเล็ก ซึ่งก่อนหน้านี้ชุมชนก็มองว่าเป็นเรื่องเล็ก มองว่าเรื่องท้องไม่พร้อม เรื่องยาเสพติด เหล้า บุหรี่ เป็นสิ่งสำคัญ หลังจากเห็นเรื่องการพนันออนไลน์มันมาเร็วมาก คนรุ่นเก่าก็ตามไม่ทัน สำคัญว่านโยบายก็ต้องลงตามมาด้วย เราเป็นเพียงแค่ชุมชนเล็ก ๆ การแก้ปัญหามันทำได้ไม่มากเท่าไร จึงต้องมีองค์การหรือหน่วยงานเข้ามาจัดการโดยตรง ทำตั้งแต่ เด็กเล็กไปจนถึงมหาวิทยาลัย
การที่ป้าเล็กบอกว่าเพิ่งเริ่มมีโครงการเกี่ยวกับปัญหาการพนันครั้งแรกในชุมชน เป็นโครงลักษณะใด
เป็นโครงการลักษณะเหมือนการเข้าค่ายอบรม วันแรกคือการให้ความรู้ แลกเปลี่ยนความคิดเห็น การเปลี่ยนแปลงในช่วงวัยต่างๆ และการปรับตัวรับกับไทยแลนด์ยุค 4.0
การพนันยุค 1.0 มีรูปแบบไม่ซับซ้อนได้แก่ชนไก่กัดปลา
การพนันยุค 2.0 เริ่มมีอุปกรณ์ที่ซับซ้อนขึ้นได้แก่หวยไพ่ไฮโล
การพนันยุค 3.0มีความซับซ้อนมากขึ้นและมีขนาดที่ใหญ่ขี้นได้แก่บ่อนคาสิโน
การพนันยุค 4.0 เล่นผ่านสื่อออนไลน์ online
เด็กตอบดีมาก เข้าใจเรื่องเสพติดความสุขจากการติดโซเชียลมีเดีย ความต้องการเพิ่มมากขึ้น ถ้าไม่ได้รับการตอบสนองจะกระวนกระวายไม่สบายใจ บางอย่างเราก็นึกไม่ถึง เช่น ไก่ชนเขาก็ทราบว่าเป็นการพนัน เด็กก็ตื่นตัว รู้ว่าจะหลีกเลี่ยงอย่างไร และจะนำไปบอกผู้ปกครองอย่างไร
วันที่สองคือการปฏิบัติจริงที่เห็นเด็กตื่นตัวกันมาก เพราะได้เป็นผู้การออกแบบสื่อ และป้ายรณรงค์รอบหมู่บ้าน ในหัวข้อ
-
ผลกระทบผลเสียที่เกิดจากการเสี่ยงโชค
-
ผลกระทบต่อสุขภาพจากการเสี่ยงโชค
-
การปองกันการเสพติดการพนัน จากการเสี่ยงโชค
-
การป้องกันพนันออนไลน์
มาตรการดังกล่าวเพียงพอ หรือควรแก้ไขเพิ่มเติมหรือไม่ อย่างไร?
ยังไม่เพียงพอ เพราะปัจจุบันในอัมพวามีแค่ตำบลเราเพียงตำบลเดียว ในอนาคตอยากให้มีการให้นำร่องทุกตำบลและขยายเครือข่ายร่วมกันระหว่างตำบล
ในฐานะของผู้นำชุมชน ความท้าทายในการสื่อสารปัญหาจากการพนันให้คนในชุมชนเข้าใจ คืออะไร?
ถ้าถามว่าเราทราบปัญหาเหล่านี้ได้มากน้อยแค่ไหน เราทราบน้อยมาก เพราะเด็กมีทั้งโรงเรียนในประถม เด็กมัธยมก็ไปเรียนนอกชุมชน รวมถึงเด็กที่เรียนกศน.ด้วย เราจึงติดตามได้ยาก แต่เมื่อเราสอบถามไปยังผู้ปกครองส่วนใหญ่ก็ไม่ทราบว่าบุตรหลานมีพฤติกรรมการใช้อินเตอร์เนตอย่างไร ดังนั้น เราจึงอาศัยการพูดคุยกับครูอาจารย์แต่ละโรงเรียน บางโรงเรียนก็ห้ามเด็กนำมือถือเข้ามาในเวลาเรียน บางโรงเรียนก็ห้ามไม่ได้ จึงยากที่จะสื่อสารให้เข้าใจร่วมกัน ประกอบกับสังเกตว่าเรื่องการพนัน ไม่ใช่เรื่องของใครคนใดคนหนึ่ง เรื่องใหญ่คือใครจะเป็นเจ้าภาพหลัก เราต้องหาแกนหลักให้ได้ อีกเรื่องหนึ่งคือ สังคมยังมองว่าเรื่องดังกล่าวไม่ใช่เรื่องสำคัญ แต่ไปให้ความสำคัญกับปัญหาอื่น ๆ มากกว่า ถ้าเราไม่ตีฆ้องร้องป่าวก็จะไม่ทันการ เพราะเราไม่ทราบว่าเด็กที่เสียเงินให้กับการพนันออนไลน์มีมากเท่าไร
ป้าเล็กจึงต้องมองให้กว้างว่าใครที่จะเป็นคนที่ทุกคนรักและเชื่อถือ จึงไปชวนผู้ใหญ่ กำนัน นายกอบต. มาร่วมทีมทั้ง 10 หมู่ นอกจากนี้ยังมีสภาเด็กและเยาวชน ชมรมผู้สูงอายุ และหน่วยงานราชการอื่น ๆ มาร่วมด้วย เช่น เกษตร พัฒนาชุมชน ฯลฯ จะยิ่งขับเคลื่อนได้ดี
สำหรับประเด็นปัญหาการพนันในชุมชน หน่วยงานหรือองค์กรใด ควรเป็นหน่วยงานที่จะมีมาตรการจัดการกับปัญหาการพนันแก่เด็กและเยาวชน ในเชิงภาพรวม?
ทุกหน่วยงานต้องร่วมมือกัน แต่ที่สำคัญคือหน่วยงานระดับประเทศต้องสั่งการลงมาก่อน หากย้อนกลับไปครั้งแรกที่เราไปเสนอโครงการผ่านศูนย์พัฒนาครอบครัว ไม่ผ่านในระดับจังหวัด เพราะ พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด (พมจ.) ไม่เคยมีนโยบายด้านนี้มาก่อน ซึ่งนโยบายที่กระทรวงฯ ให้ความสำคัญ คือ ให้ดำเนินการเรื่องท้องไม่พร้อม การป้องกันความรุนแรงในครอบครัว ยาเสพติด เป็นต้น แต่เรื่องการพนันออนไลน์ ยังไม่ได้ถูกระบุลงในระดับนโยบายของทางจังหวัด ดังนั้น เจ้าหน้าที่ก็ต้องทำตามนโยบาย หรือข้อสั่งการจากส่วนกลาง จึงไม่นำเรื่องปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ เข้าในแผนฯ อีกทั้งป้าเล็กเป็นเพียงแค่ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน ไม่มีอำนาจอะไรมากมาย ป้าเล็กจึงต้องมองให้กว้างว่าใครที่จะเป็นคนที่ทุกคนรักและเชื่อถือ จึงไปชวนผู้ใหญ่ กำนัน นายกอบต. มาร่วมทีมทั้ง 10 หมู่ นอกจากนี้ยังมีสภาเด็กและเยาวชน ชมรมผู้สูงอายุ และหน่วยงานราชการอื่น ๆ มาร่วมด้วย เช่น เกษตร พัฒนาชุมชน ฯลฯ จะยิ่งขับเคลื่อนได้ดี เพราะทุกฝ่ายในระดับพื้นที่ต่างมีความรู้และประสบการณ์ เมื่อป้าเล็กเล่าให้ฟังถึงภัยอันตรายของการพนันผ่านมือถือว่ามันเริ่มขยายเข้ามาในชุมชนของเราอย่างไร มีผลเสียอย่างไร และสุดท้ายจึงเชิญทางมสช.เข้ามาให้ความรู้และจัดกิจกรรม บางคนอาจจะมองว่ามสช.เป็นเพียงแค่มูลนิธิเล็ก ๆ จะช่วยอะไรได้ แต่ทางมสช.ก็บอกให้เขาเข้าใจว่า มสช.เพียงแค่ช่วยเรื่องข้อมูลและแนวทาง แต่สิ่งสำคัญคือชุมชนต้องเป็นตัวหลักในการขับเคลื่อน จึงเกิดเป็นโครงการนำร่องขึ้นมาในชุมชน ดังนั้น ทุกหน่วยงานจึงต้องร่วมมือกัน โดยระดับประเทศจะต้องสั่งการลงมาด้วยเพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนได้ง่ายขึ้น
อยากจะฝากอะไรถึงผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการป้องกันเด็กและเยาวชนจากการพนัน
เรื่องการป้องกันเด็กและเยาวชนจากการพนันผ่านช่องทางออนไลน์และการส่งเสริมการขายด้วยวิธีการเสี่ยงโชค นี้ถือเป็นเรื่องระดับนโยบายที่ผู้บริหารระดับประเทศต้องลงมาดูแล เพราะเรื่องการพนันในมือถือ การส่ง SMS มีเรื่องกลไกในระบบธุรกิจเข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งเกินขีดความสามารถของชุมชนที่จะเข้าใจมายาของช่องทางการตลาด ไม่สามารถที่จะไปสั่งการได้ ผู้ที่จะสั่งการได้คือผู้บริหารระดับประเทศ ที่จะต้องชี้ให้เห็นเส้นแบ่งที่เข้าข่ายการพนันให้ชัดเจน เพื่อจะบอกว่าอะไรคือการพนัน และอะไรไม่ใช่การพนันโดยต้องทำการสื่อสารให้สังคมเข้าใจ เพราะเป็นหน้าที่ของท่านผู้นำแม้วันนี้ชุมชนเล็กๆ อย่างตำบลเหมืองใหม่จะตื่นรู้ เรื่องปัญหาการพนันในยุค 4.0 แต่ข้อจำกัดก็คือแม้เราจะสร้างกระแสหรือจัดกิจกรรมมากเท่าไรก็ไม่สามารถสร้างแรงกระเพื่อมได้เท่าการสั่งการมายังหน่วยงานต่างๆ ที่ได้รับนโยบายมาจากรัฐบาล