ข้อมูลที่น่าสนใจ 9 17 พฤศจิกายน 256024 พฤศจิกายน 2017ICGPnews t t การเสี่ยงโชค = การพนัน: “สมุดปกขาว” จากสถานการณ์การพนันในปัจจุบัน พบว่า เด็กและเยาวชนมีความสนใจการพนันในรูปแบบของการเสี่ยงโชคประเภทต่างๆ เพิ่มขึ้นมาก เช่น การส่ง SMS เสี่ยงโชค การแถมพก ฯลฯ ซึ่งรูปแบบดังกล่าวถือเป็นการพนันทั้งสิ้น เนื่องจาก เมื่อพิจารณาองค์ประกอบของการพนัน พบว่า การพนันประกอบไปด้วย 1.การวางเดิมพัน 2.โชคดวงหรือความบังเอิญ 3.เงินหรือของรางวัลตอบแทน ดังนั้น การเสี่ยงโชคย่อมหมายถึงการพนัน เพราะมีการซื้อสินค้า (เปรียบเสมือนการวางเดิมพัน) การใช้โอกาส (การจับฉลากหาผู้ได้รับรางวัล) และมีของรางวัล ประกอบกับข้อมูลวิชาการด้านสมองและจิตวิทยาสามารถยืนยันได้เป็นอย่างดีว่า การเสี่ยงโชคด้วยการใช้รางวัลล่อใจที่มีราคาสูง เป็นการกระตุ้นให้ผู้บริโภค โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กและเยาวชนให้รู้สึกตื่นเต้นเร้าใจ ทำให้เกิดการเปลี่ยนโครงสร้างของสมองและเกิดการเสพติดเสมือนเล่นการพนัน ด้วยเหตุนี้การเสี่ยงโชคจึงถือเป็นการพนันรูปแบบหนึ่งด้วยเช่นกัน จากข้อมูลข้างต้น จะเห็นได้ว่า ผลกระทบจากการการเสี่ยงโชคมักจะเกิดกับเด็กและเยาวชนเป็นส่วนมาก ซึ่งจะนำไปสู่ผลกระทบหลายประการ ได้แก่ ด้านสุขภาพ การเรียน ครอบครัว สังคม ฯลฯ จึงเกิดการระดมความคิดเห็นและแลกเปลี่ยนข้อมูลของหน่วยงานต่าง ๆ ที่ร่วมกันวิเคราะห์ และให้ข้อเสนอแนะ กระนั้นก็ดี เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2560 ทางมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) ได้จัดประชุมในหัวข้อ “คณะทำงานระดมความคิดเห็นเพื่อพัฒนาและติดตามมาตรการควบคุมการส่งเสริมการขายด้วยวิธีการเสี่ยงโชค ครั้งที่ 2/2560” โดยในการประชุมครั้งนี้มีการนำเสนอ “สมุดปกขาว (White Paper) เรื่อง สถานการณ์และมาตรการควบคุมการให้รางวัลด้วยการเสี่ยงโชคในผลิตภัณฑ์ที่มีผลต่อสุขภาพของเด็กและเยาวชนไทย” โดยมีรายละเอียด ดังนี้ 1.เหตุผลและความจำเป็นที่ประเทศไทยต้องมีการควบคุมการให้รางวัลด้วยการเสี่ยงโชค จากสถานการณ์การให้รางวัลด้วยการเสี่ยงโชคในผลิตภัณฑ์ที่มีผลต่อสุขภาพ กำลังเป็นที่นิยมและยอมรับได้ของคนไทย โดยเฉพาะเด็กและเยาวชน ก่อให้เกิดผลกระทบต่อตนเอง ได้แก่ ปัญหาสุขภาพและหนี้สิน ขัดขวางพัฒนาการสมอง เสียสุขภาพจิต และเป็นผลไปสู่อบายมุขอื่นๆ รวมถึงทำให้เกิดผลกระทบต่อสังคมและประเทศชาติ ได้แก่ ปัญหาในครอบครัว เสี่ยงต่อการเกิดอาชญากรรม ทำให้เกิดความไม่สงบสุขในสังคม ซึ่งจะเป็นการขัดขวางความเจริญของประเทศชาติ 2.ประโยชน์ที่ได้รับจากมาตรการควบคุมการให้รางวัลด้วยการเสี่ยงโชค – ช่วยปกป้องคุ้มครองคุณภาพชีวิตเด็กและเยาวชน ซึ่งสอดคล้องกับอนุสัญญาว่าด้วย สิทธิเด็ก แผนชาติ และข้อบังคับสภาการขับเคลื่อนปฏิรูปประเทศ – ลดค่าใช้จ่ายของรัฐบาลและสังคมไทย – เพิ่มรายได้ให้แก่ภาครัฐ 3.ความเป็นไปได้ของมาตรการควบคุมการให้รางวัลด้วยการเสี่ยงโชค เนื่องจากในต่างประเทศมีการควบคุมการให้รางวัลด้วยการเสี่ยงโชคอย่างเข้มงวดและจริงจัง เช่น ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น สวีเดน สหรัฐอเมริกา โดยกำหนดให้การจัดกิจกรรมเสี่ยงโชคต้องขออนุญาตก่อน และต้องมีคณะกรรมการควบคุมดูแลการจัดกิจกรรมนั้นๆ ซึ่งรัฐบาลทุกประเทศระบุว่า “การเสี่ยงโชค คือการพนัน” และทุกประเทศใช้กฎหมายการพนันในการกำกับดูแล ดังนั้น ประเทศไทยจึงต้องวางแนวทางในอนาคต ได้แก่ 1) ต้องควบคุมการให้รางวัลด้วยการเสี่ยงโชคให้รวมอยู่ในพระราชบัญญัติการพนัน 2) ต้องควบคุมการให้รางวัลด้วยการเสี่ยงโชคอย่างเข้มข้น 4.คำถามและคำตอบเกี่ยวกับมาตรการควบคุมการให้รางวัลด้วยการเสี่ยงโชค การให้คำนิยาม “การเสี่ยงโชคคือการพนัน” และการระบุถึงการเสี่ยงโชคเป็นการมอมเมาเด็กและเยาวชน เนื่องจากการเสี่ยงโชคเป็นกิจกรรมที่ทำให้กลุ่มเด็กและเยาวชนเกิดความหมกมุ่นและการโฆษณามีเนื้อหาทำให้เข้าใจผิดได้ง่าย นอกจากนี้ ยังมีการกำหนดเกณฑ์ที่ใช้ตัดสินว่าสินค้าหรือผลิตภัณฑ์นั้นเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีผลต่อสุขภาพ ประกอบกับการควบคุมการให้รางวัลควรเป็นหน่วยงานหรือผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องใดที่ควรร่วมกำกับดูแล ทั้งนี้ สมุดปกขาวจะเป็นแนวทางการแก้ไขปัญหาการเสี่ยงโชคโดยเฉพาะในเด็กและเยาวชน รวมถึงการสร้างกลไกกำกับและควบคุม โดยผ่านความเห็นผู้ทรงคุณวุฒิและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยข้อเสนอทั้งหมดจะนำไปเสนอต่อผู้กำหนดนโยบายและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป Post Views: 1,420 FacebookTwitterLine