บรรณาธิการชวนคุย (ฉบับ 13)

 

สวัสดีครับ ภาคีเครือข่าย

          เมื่อกล่าวถึงสื่อการพนันออนไลน์กับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในยุคดิจิทัล ทำให้เด็กและเยาวชนกลายเป็นกลุ่มเสี่ยง ที่เข้าถึงการพนันได้ง่ายยิ่งขึ้น เด็กและเยาวชน เป็นกลุ่มเปราะบางต่อปัญหาการพนัน เมื่อเข้าสู่วงจรการพนันแล้ว มีแนวโน้มถลำลึกจนถอนตัวไม่ขึ้น ยากที่จะเลิกเล่น  ยิ่งเล่นยิ่งใช้เงินพนันที่สูงขึ้น  สัญญาอันตรายคือ ขาดความยับยั้งชั่งใจ ไม่สามารถควบคุมตนเองได้ นำไปสู่ผลกระทบพฤติกรรมการพนันที่เป็นปัญหา ได้แก่  หลังชนะพนัน มีความต้องการอย่างมากที่จะเล่นอีกเพื่อเอาชนะหรือให้ได้เงินเพิ่มขึ้น, หลังเสียพนัน ต้องการรีบกลับมาแก้มือ เพื่อเอาเงินที่เสียไปคืนมาให้เร็วที่สุด, เคยเล่นพนัน  มากกว่าที่วางแผนไว้  จดหมายข่าวฉบับนี้เราได้นำเสนอแนวทางป้องกันนักพนันหน้าใหม่  โดยชวนป้าเล็ก หรือคุณณภัทร จาตุรัส เลขานุการศูนย์ประสานงานองค์การชุมชนตำบลเหมืองใหม่ ผู้นำชุมชนจากกลุ่มวิสาหกิจชุมชนอนุรักษ์ฟื้นฟูมะพร้าวครบวงจรตำบลเหมืองใหม่ อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม มาร่วมพูดคุยถึงวิสัยทัศน์ของการเป็นผู้นำชุมชนและแนวทางในการแก้ปัญหาการพนันในเด็กและเยาวชนของชุมชนตำบลเหมืองใหม่ อำเภออัมพวา  จังหวัดสมุทรสงคราม  ที่นำการทำงานเฃิงรุกให้แก่ลูกหลานในชุมชน  ด้วยการสร้างกลไกความรู้เท่าทันถึงผลกระทบจากการพนัน และมีความเข้าใจที่ถูกต้องไม่ถลำตัวตัวเข้าสู่วังวนการพนันตั้งแต่เป็นเด็กและเยาวชน  น่าสนใจว่าทำไมชาวสวนในอัมพวา ที่ชีวิตไม่ได้มีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีแต่ก็พยายามสร้างการเรียนรู้ด้วยวิธีการใหม่ ๆ เพื่อเด็กและเยาวชนในชุมชน

          ปัญหาการพนันออนไลน์ ถือเป็นเรื่องใหญ่ที่มีความซับซ้อนมากกว่าการพนันที่เคยมีมา นอกจากช่องทางการเข้าถึงที่ง่ายขึ้นของเทคโนโลยีที่หลากหลาย และควบคุมได้ยากยิ่งขึ้น การปรับบทบาทการทำงานเชิงรุกจึงต้องมีความทันสมัยและครอบคลุมกับสื่อและกระแส ที่เป็นปัจจัยความสำคัญต่อการตัดสินใจ “เล่น หรือ ไม่เล่น” การพนัน และสิ่งที่น่ากังวล คือ การพนันฟุตบอลที่แฝงมาในรูปแบบของเกมกีฬาทายผลแพ้ชนะ  ซึ่งปัจจุบันสามารถเล่นได้พร้อมกับการทำธุรกรรมการเงินผ่านช่องทางออนไลน์ที่ง่ายและสะดวกขึ้น  ดั้งนั้นการป้องกันเด็กและเยาวชนจากการพนันออนไลน์ จึงไม่ใช่เรื่องที่ใครคนหนึ่ง คนใด จะสามารถจัดการได้เพียงลำพัง แนวการจัดการที่มีประสิทธิภาพ คือการเชื่อมประสานภาคี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เกิดความร่วมืออย่างเป็นระบบ ตั้งแต่การรณรงค์สร้างความตระหนักให้แก่สังคม การป้องกันปราบปราม การบังคับใช้กฎหมาน และการช่วยเหลือเยียวยา ทางศูนย์ข้อมูลฯ จึงได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของ “เวทีเสวนาและพิธีลงนามความร่วมมือป้องกันเด็กและเยาวชนจากการพนันฟุตบอลออนไลน์” ในช่วงการแข่งขันฟุตบอลโลก 2018 นับเป็นความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคประชาสังคม และเครือข่ายเด็กและเยาวชนในการกำหนดมาตรการที่จำเป็นเพื่อป้องกันเด็กและเยาวชนจากการพนันฟุตบอลออนไลน์ในช่วงฟุตบอลโลก ซึ่งมีทั้งการสื่อสารเพื่อสร้างความตระหนักถึงภัยของพนันฟุตบอลออนไลน์ การสร้างความตระหนักถึงผลกระทบของพนันฟุตบอลออนไลน์ต่อเด็กและเยาวชนให้แก่ผู้ปฏิบัติงานด้านเด็กและเยาวชน การเพิ่มบทบาทของสภาเด็กและเยาวชนและเครือข่ายเด็กและเยาวชนในการสร้างความตระหนักและการเฝ้าระวัง  รวมถึงสร้างกลไกและประสานข้อมูลเกี่ยวกับการแจ้งเบาะแสการพนันฟุตบอลออนไลน์

          สุดท้ายแล้ว ชวนทุกท่านลองจินตนาการว่า หากสังคมไทยเปิดเสรีให้มีการพนันออนไลน์ ก็จะพบว่ามีการพนันหลายประเภท กำลังก่อตัวพร้อมที่จะเป็นปัญหาที่ยากต่อการจัดการ จึงเกิดคำถามว่า หากมีการนำเครื่องจำหน่ายหวยอัตโนมัติมาใช้เป็นสิ่งที่ดีหรือไม่? ประเทศไทยของเรามีความพร้อมในเรื่องของการเฝ้าระวังสถานการณ์ผู้มีปัญหาติดการพนัน และแนวทางป้องกันในมิติสังคมอย่างไร  ในกรณีที่สามารถนำรายได้จากการจำหน่ายแบบอนไลน์จะมีค่าธรรมเนียมการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายมาใช้เพื่อการพัฒนาสังคม ต้องมีองค์ประกอบการจัดสรรอย่างไร แต่ในทางกลับกัน อาจเป็นการส่งเสริมให้ประชาชนหมกมุ่นกับผลิตภัณฑ์ใหม่ของกิจการการพนัน มากเกินไปหรือไม่? และในอนาคตหากมีเครื่องจำหน่ายหวยอัตโนมัติจริง ๆ เราควรมีแนวทางการดำเนินงานอย่างไร? มาหาคำตอบได้จาก “รายงานฉบับสมบูรณ์ โครงการจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายประเด็นการจำหน่ายสลากด้วยเครื่องอัตโนมัติ”

 

 พงศ์ธร จันทรัศมี

ผู้จัดการศูนย์ข้อมูลนโยบายสาธารณะการลดปัญหาจากการพนัน

มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ

pongtorn@thainhf.org