การระดมความเห็นทางวิชาการจัดขึ้นเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 8 พฤศจิกายน 2555 เวลา 09.30 – 12.30 น. ณ ห้องประชุม มสช.1 มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ กรุงเทพฯ เพื่อพัฒนาโจทย์การศึกษาและมาตรการควบคุมบริการส่งข้อความสั้น (SMS) เพื่อการเสี่ยงโชค โดยมีนายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ เลขาธิการมูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์เป็นประธานการประชุม พร้อมกับการนำเสนอสถานการณ์และข้อเสนอทางนโยบายจาก 3 วิทยากร คือ จุฑิมาศ สุกใส นักวิจัยอิสระ นายธาม เชื้อสถาปนศิริ องค์การเผยแพร่ภาพกระจายเสียงสาธารณะแห่งประเทศไทย และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จิรศิลป์ จยาวรรณ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ เลขาธิการมูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์ กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมประชุม และกล่าวว่า ประเด็นการส่งข้อความสั้น Short Message Service (SMS) เสี่ยงโชคเป็นประเด็นที่มูลนิธิใส่ใจตั้งแต่เริ่มต้นการจัดแผนการพนัน และเห็นว่า SMS เสี่ยงโชค มีความคล้ายการพนัน เพราะเป็นการลงทุนที่เร็วและได้ผลตอบแทนที่เร้าใจและส่งผลในด้านลบต่อการพัฒนาเด็กและเยาวชน โดยเฉพาะการพัฒนาทางสมองของวัยรุ่น ในลักษณะ Use it or Lost it การชิงโชคแบบลงทุนน้อย-ได้มาก ลงทุนน้อย-ได้เร็ว และมีงานศึกษาทางการแพทย์ พบว่า ประเด็นดังกล่าวจะส่งผลไปถึงลูกหลาน
นายพงศ์ธร จันทรัศมี ผู้จัดการโครงการฯ แจ้งว่า ผู้เข้าร่วมประชุมจะมาจากหลายส่วน เนื่องจากในปัญหาเรื่อง SMS การพนันนั้นเกี่ยวข้องหลายส่วน ทั้งทางด้านเด็กและเยาวชน สื่อวิทยุโทรทัศน์ ผู้ให้บริการเครือข่าย เป็นต้น ต่อจากนั้นได้แนะนำโครงการฯ มีการศึกษาประเด็นด้านการพนัน 5 เรื่อง 1) SMS เสี่ยงโชค 2) การพนันออนไลน์ 3) การพนันฟุตบอล 4) หวยออนไลน์ 5) การจัดการรายได้ของกองสลากเพื่อการพัฒนาสังคม โดยเป้าหมายของโครงการฯ จะเน้นไปที่กลุ่มเด็กและเยาวชน ซึ่งควรได้รับการปกป้องตามหลักกฎหมายต่าง ๆ
“การพนันผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ : ข้อเท็จจริง เพื่อข้อเสนอนโยบายเชิงอนาคต” โดยจุฑิมาศ สุกใส นักวิชาการอิสระ
1) สถานการณ์ปัจจุบันพบว่า เทคโนโลยีทำให้ผู้ใช้โทรศัพท์มือถือสามารถทำธุรกรรมได้ง่ายขึ้น
2) ไม่มีการกำหนดอายุขั้นต่ำของผู้ใช้งานโทรศัพท์มือถือ ทำให้เยาวชนมีโอกาสในการเข้าถึงการพนันในรูปแบบ SMS มากขึ้น โดยไม่สามารถตรวจสอบอายุได้
3) สามารถเข้าถึงการพนันได้ง่ายรวดเร็ว และตรวจสอบยาก เพราะไม่สามารถห้ามเด็กและเยาวชนใช้โทรศัพท์มือถือได้
4) การเข้าถึงการพนันผ่านโทรศัพท์มือถือมีหลายรูปแบบ เช่น การตอบคำถามชิงรางวัล การส่งข้อความสั้นโหวตทางเคเบิ้ลทีวี ปัญหาคือ ไม่มีการประกาศเงื่อนไขในการส่งข้อความเสี่ยงโชคอย่างชัดเจน และมีค่าใช้จ่ายสูง
5) แอพลิเคชั่นการพนันบอล ที่ปัจจุบันรองรับกับไอโฟน และในอนาคตจะรองรับกับระบบปฏิบัติการอื่น ๆ
6) ผู้ให้บริการโทรคมนาคม มีภาระทั้งเชิงลบและเชิงบวก โดยผลกระทบในเชิงบวก คือ การมีรายได้จากค่าบริการเสริม และผลกระทบในเชิงลบ คือ ภาระในการยกเลิกการให้บริการ SMS
7) พ.ร.บ.การพนัน พ.ศ. 2478 สมควรได้รับการทบทวนและแก้ไข เพื่อให้รองรับกับเทคโนโลยีใหม่ ๆ และควรปรับปรุงกฎหมายด้านโทรคมนาคมต้องมีความครอบคลุมสำหรับการแก้ปัญหาการเป็นช่องทางในการเล่นการพนัน
8) ปัญหาด้านการติดตาม บทบาทหน้าที่ในการประสานงานและการกำกับดูแล เจ้าหน้าที่ตำรวจอาจจะเพิกเฉยต่อการพนันในรูปแบบนี้ เพราะคิดว่าไม่ใช่หน้าที่ และมีความผิดที่ไม่ได้ถูกระบุไว้อย่างชัดเจน
9) การขยายความรู้ไปสู่ผู้ผลิต ซึ่งผู้ผลิตcontent หลายราย ไม่ทราบว่า การเสี่ยงโชคด้วย SMS เป็นการพนัน และไม่ได้มีการดำเนินการขออนุญาตอย่างถูกต้อง
10) สาเหตุที่การเสี่ยงโชคทาง SMS ควบคุมยาก เพราะไม่มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังและยังขาดหน่วยงานที่เป็นเจ้าภาพหลัก
“ข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อป้องกันและควบคุมการพนันด้วยการส่งข้อความสั้นเสี่ยงโชค (SMS)” โดย ธาม เชื้อสถาปนศิริ สถาบันวิชาการสื่อสารสาธารณะ องค์การแพร่ภาพกระจายเสียงสาธารณะแห่งประเทศไทย
1. ปรับปรุงแก้ไขกฎหมายการพนันให้ครอบคลุมเรื่องการโฆษณาการให้ข้อมูลข่าวสารการพนัน โดยให้นิยามในกฎหมายว่า การส่งข้อความสั้นเพื่อการชิงโชค เล่นเกมส์ เสี่ยงทาย ประมูลสินค้า ทายผล เป็นการพนัน และควบคุมที่ผู้ประกอบกิจการ (วิทยุ โทรทัศน์ โทรคมนาคม) ซึ่งเป็นช่องทางหลักในการทำธุรกรรม โดยกำหนดบทลงโทษต่อผู้ให้บริการระบบโทรศัพท์มือถือ ระบบโทรคมนาคม หรือผู้ให้บริการสื่อสารมวลชน ทั้งกิจการวิทยุ และโทรทัศน์ โดยจะถูกลงโทษปรับ พักใช้ และหรือยึดคืนใบอนุญาตประกอบกิจการได้ หากพบว่าปล่อยให้มีการพนันผ่านระบบข้อความสั้น ผ่านรายการสื่อวิทยุ โทรทัศน์ ระบบออดิโอเท็กซ์ หรืออินเตอร์เน็ต โดยไม่ได้รับอนุญาต
2.ให้ กสทช.ออกกฎควบคุมโทรคมนาคม สื่อมวลชน ในกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการพนัน โดยให้ กสทช.ใช้อำนาจกฎหมาย พ.ร.บ.องค์กรกสทช (2553) และ พ.ร.บ.กิจการวิทยุโทรทัศน์ (2551) กำกับดูแลเนื้อหารายการผ่านทางกิจการวิทยุ และกิจการโทรทัศน์ (ที่ใช้คลื่นความถี่และไม่ใช้คลื่นความถี่) ไม่ให้มีการโฆษณาเพื่อการชิงโชค ทายผลการแข่งขัน หรือกิจกรรมอื่นใดที่เข้าข่ายลักษณะพนัน
3. เสนอกระทรวงวัฒนธรรมใช้อำนาจตามกฎหมาย พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์. (2550) ออกกฎระเบียบให้ ผู้ขออนุญาตจดแจ้งการพิมพ์ ต้องไม่ตีพิมพ์ โฆษณาที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการชิงโชค การประมูลสินค้า การโฆษณา หรือกิจกรรมใดที่เข้าข่ายกฎหมายลักษณะการพนัน โดยมีบทลงโทษคือ ปรับ หรือ โทษทางแพ่งเรียกเก็บค่าเสียหายต่อรัฐ หรือพิจารณาระงับใบอนุญาต หรือมีผลต่อการต่อสัญญาใบอนุญาต
4. มีระบบการกำกับร่วม “Co-Regulation” (รัฐ+สื่อ+กสทช)
“กรอบการดำเนินงานโครงการจัดทำข้อเสนอแนะมาตรการควบคุมและกำกับดูแล การให้บริการ SMS การพนัน และการเสี่ยงโชค” โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จิรศิลป์ จยาวรรณ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
มูลนิธิสดศรี – สฤษดิ์วงศ์ ได้พัฒนาความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เพื่อจัดทำเอกสารแนบต่างๆ เพื่อใช้ในการดำเนินการเกี่ยวกับโครงการจัดทำข้อเสนอมาตรการควบคุมและกำกับดูแลการให้บริการ SMS การพนัน และการเสี่ยงโชค ให้มีความสมบูรณ์รอบด้านทั้งในมิติของผู้กำกับดูแล (regulator) แนวปฏิบัติและข้อจำกัดในด้านการปฏิบัติของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย โดยศึกษาจากบทเรียนในต่างประเทศ และวิเคราะห์สังเคราะห์ให้เหมาะสมกับบริบทแวดล้อมของสังคมไทย
โดยขั้นตอนและขอบแขตการดำเนินการ แบ่งเป็น 1) ศึกษาเอกสารแนวทางแนวทางการสนับสนุนและบทบาทของผู้ให้บริการเครือข่าย และองค์กรวิชาด้านการโทรคมนาคมในการปฏิบัติตามมาตรการการควบคุม และกำกับดูแล บริการ SMS การพนันและการเสี่ยงโชคในต่างประเทศ อย่างน้อย 5 ประเทศ และ 2) การจัดประชุม Focus Group กลุ่มเป้าหมายโดยการดำเนินการ 4 กลุ่ม ดังนี้ ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรคมนาคม ผู้กำกับดูแล ผู้ให้บริการ SMS ผู้เกี่ยวข้องในด้าต่าง ๆ เช่น นักวิชาการ นักกฎหมาย ผู้เชี่ยวชาญทางด้านโทรคมนาคม นักเศรษฐศาสตร์ NGO 3) จัดทำการวิเคราะห์สถานการณ์ จุดแข็ง จุดอ่อน และความเป็นไปได้ในการออกมาตรการขององค์กรกำกับดูแล และการดำเนินการของผู้ให้บริการ เครือข่ายและองค์กรวิชาชีพด้านโทรคมนาคม เพื่อผลักดันมาตรการควบคุม กำกับดูแล การให้บริการ SMS การพนันและการเสี่ยงโชค ให้เป็นไปได้ในทางปฏิบัติ 4)นำเสนอรายงานความก้าวหน้าและร่วมวางแผนกับคณะทำงานวิชาการด้านการลดปัญหาการพนันเป็นระยะ ๆ 4) ร่วมนำเสนอและสังเคราะห์จากการสรุปผลการจัดเวทีวิชาการ (Stakeholder Forum) ที่ประกอบด้วยตัวแทนผู้ประกอบการและตัวแทนผู้บริโภคด้านการพัฒนามาตรการควบคุม กำกับดูแล บริการ SMS การพนันและการเสี่ยงโชค และเอกสารอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง 5) จัดทำข้อเสนอแนะมาตการควบคุมและกำกับดูแล การให้บริการ SMS การพนันและการเสี่ยงโชค
แลกเปลี่ยน เติมเต็ม
1. พระราชบัญญัติการพนัน พ.ศ. 2475 มีความล้าหลัง สมควรปรับปรุงให้ทันสมัยต่อความก้าวหน้าของเทคโนโลยีที่ใช้ในธุรกิจการพนัน
2. ส่งเสริมการบังคับใช้พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 เนื่องจากกฏหมายระบุสิทธิเด็กที่ต้องได้รับการคุ้มครองจากการพนัน อาทิ มาตรา 26 ระบุว่าไม่ว่าเด็กจะยินยอมหรือไม่ ห้ามมิให้ผู้ใดกระทำการ โดยเฉพาะ (8) ใช้หรือยินยอมให้เด็กเล่นการพนันไม่ว่าชนิดใดหรือเข้าไปในสถานที่เล่นการพนัน สถานค้าประเวณี หรือสถานที่ที่ห้ามมิให้เด็กเข้า
3. เสนอให้มีองค์กรเจ้าของเรื่องหรือเจ้าภาพหลักในการรับผิดชอบดูแล เช่น กระทรวงเทคโนโลยีฯ (ICT) สามารถตรวจสอบเว็บไซด์ที่กระทำความผิดได้ และมีการประสานงานระหว่างหน่วยงาน อาจทำเป็นบันทึกข้อตกลงร่วมกัน (MOU) ที่มีความร่วมมือและการบังคับใช้ร่วมกัน สร้างความตระหนักและการตื่นตัว
4. เสนอให้มีมาตรการการควบคุมจำนวน 4 ด้าน คือ
4.1 มาตรการทางกฎหมาย เป็นการสร้างนิติสำนึกตั้งแต่ระดับกรมการปกครอง ผู้ว่าราชการจังหวัด ตำรวจและอื่น ๆ ควรให้มีบทลงโทษที่สูง/หนัก และมีการกำหนดมาตรการทางกฎหมายอื่น ๆ เช่น การกำหนดให้ 1 หมายเลขโทรศัพท์สามารถทายผลได้ครั้งเดียว กำหนดการลงทะเบียนสำหรับผู้เล่น และการขอใบอนุญาตจะต้องเสียค่าใบอนุญาตในราคาสูง
4.2 มาตรการการบริหารจัดการ
4.3 มาตรการทางสังคม /มาตรการป้องกัน เช่น การให้พ่อแม่ผู้ปกครองหากิจกรรมสร้างสรรค์ร่วมกันในครอบครัว เสริมสร้างความเข้มแข็งของสถาบันครอบครัว ซึ่งจะเป็นภูมิคุ้มกันที่ดี ชุมชนต้องมีเวทีหรือกิจกรรมกีฬาเพื่อสร้างแรงจูงใจและให้เกิดทักษะชีวิตใหม่ๆ โดยให้เป็นกิจกรรมทางเลือก รวมทั้งการสร้างเป็นกองทุนสื่อสร้างสรรค์ และ 4) มาตรการทางการศึกษาที่เป็นการให้ความรู้ ความเข้าใจแก่เด็กที่ถูกต้องและเห็นถึงผลกระทบหรือผลเสียจากการพนัน
5. กระทรวงมหาดไทยไม่ควรแยก ร่าง พ.ร.บ.การให้รางวัลด้วยการเสี่ยงโชค ออกจาก ร่าง พ.ร.บ.การพนัน จะทำให้ไม่มีความคลอบคลุม และจะเป็นปัญหาต่อการบังคับใช้
10. เสนอให้จัดทำเป็นประกาศเสนอต่อ กสทช. เพื่อให้ผู้รับใบอนุญาตควบคุมผู้ให้เนื้อหาอีกระดับหนึ่ง ให้มีระบบการควบคุมการส่ง SMS ที่เกี่ยวข้องกับการพนัน ที่เป็นการพนันผ่านโทรศัพท์มือถือ มีการหักเงินจากโทรศัพท์มือถือโดยตรง ซึ่งจะต้องกำหนดเงื่อนไขในการส่งข้อความ อันจะเป็นการกำกับควบคุมตั้งแต่ต้นทาง เป็นต้น
รายชื่อผู้เข้าร่วมประชุม
1. นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์
2. นายแพทย์ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ
3. คุณวิศาล วุฒิศักดิ์ศิลป์ ที่ปรึกษากรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ
4. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จิรศิลป์ จยาวรรณ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
5. คุณธาม เชื้อสถาปนศิริ องค์การเผยแพร่ภาพกระจายเสียงสาธารณะแห่งประเทศไทย 6. คุณจุฑิมาศ สุกใส นักวิจัยอิสระ
7. ดร.พนม คลี่ฉายา คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
8. คุณพรรณศิริ ทรงศรีม่วง กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
9. คุณชาญวิทย์ โวหาร สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ
10. คุณเมย์ราณี แสงโสภา สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ
11. คุณบุษกร โยธินไทย สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค
12.คุณพิชนา ไกรรัตน์ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค
13.คุณสรรพสิทธิ์ คุมพ์ประพันธ์ มูลนิธิพิทักษ์สิทธิเด็ก
14. คุณศิริพร ยอดกมลศาสตร์ ศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
15. คุณสมสิทธิ์ นิทธยุ ศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
16. คุณสุทธิพงศ์ บัณฑิโต มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
17. คุณนิธิอรรถ ปรีดีชม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
18. คุณพงศ์ธร จันทรัศมี มูลนิธิสดศรี – สฤษดิ์วงศ์
19. คุณเสริมพล ดุลยพินทุกร มูลนิธิสดศรี – สฤษดิ์วงศ์
20. คุณพัฒน์นรี ศรีจามร มูลนิธิสดศรี – สฤษดิ์วงศ์
ดาวน์โหลดเอกสารประกอบการประชุม
– ความเป็นมา โดยมูลนิธิสดศรี-สฤษดิวงศ์ >>File Download<<
– การพนันผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ : ข้อเท็จจริง เพื่อข้อเสนอนโยบายเชิงอนาคต >>File Download<<
– ข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อป้องกันและควบคุมการพนันด้วยการส่งข้อความสั้นเสี่ยงโชค (SMS) >>File Download<<
– โครงการจัดทำข้อเสนอแนะมาตรการควบคุมและกำกับดูแล การให้บริการ SMS การพนัน และการเสี่ยงโชค >>File Download<<