เคยได้ยินคำสอนที่ว่า “คนมักตายเพราะทรัพย์เป็นเหตุ” คำเปรียบเปรยนี้นับเป็นเรื่องยากที่จะปฏิเสธ ดังเช่น กลอุบายทางการตลาดทั้งหลาย ที่มีมากมายแห่งัดมาใช้ ส่วนใหญ่ก็จะมี “เงิน” หรือ “สิ่งของมีค่าล่อใจ” ให้ใครหลายคนต้องตกเป็นเหยื่อ...
ในปัจจุบัน โลกพัฒนาไปไกล เฟซบุ๊ก สื่อสังคมออนไลน์ระดับโลกก็เช่นกัน ทุกวันนี้สามารถ Live สด ทำกิจกรรมโชว์ให้โลกเห็นได้เพียงแค่ปลายนิ้ว แล้วมีหรือที่นักขายหรือเจ้าของผลิตภัณฑ์จะพลาดกับโอกาสทองครั้งนี้ และที่เริ่มเห็นดาษดื่น คือ เพจขายบนเฟซบุ๊กหลายราย โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์อาหารเสริม เริ่มใช้กลยุทธ์แบบเบสิกที่สุด คือ “แจกเงิน” หรือ “สิ่งของ” ซึ่งกิจกรรมดังกล่าว เข้าข่ายการพนันหรือไม่ มอมเมาสังคมหรือเปล่า วันนี้ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ จะมาไขข้อข้องใจเหล่านี้ โดยมีเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง ตำรวจ และนักวิชาการ มาให้ความกระจ่าง
ก่อนที่จะเข้าเนื้อหาว่าการกระทำดังกล่าวผิดหรือไม่ ก็ต้องรู้ก่อนว่าพฤติกรรมเหล่านี้เขาทำกันอย่างไร จากการเฝ้าสังเกตของ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ การ live สดผ่านเฟซบุ๊ก แบ่งออกเป็น 3 ประเภท 1.โปรโมทขายสินค้า รวมถึงการแจกเงิน หรือ สิ่งของ มีเป้าหมายหวังเพิ่มยอดไลค์ ยอดขาย ยอดแชร์ และมีการเปิดโอกาสให้ผู้สนใจร่วมสนุกเล่นเกมทายปริศนาหรือตัวเลข ซึ่งมีกติกา คือ ต้องกดไลค์ กดแชร์ ก่อน จากนั้นจึงจะมีสิทธิ์ส่งคำตอบพร้อม ชื่อ-นามสกุล เลขบัญชีธนาคาร และที่อยู่ มาด้วย โดยอ้างว่าจะโอนเงินรางวัลให้ตั้งแต่ 500-5,000 บาท โชว์ให้เห็นสดๆ ขณะ live หากมีคนทายถูก 2.การประมูลสินค้าประเภทของใช้ เครื่องแต่งกาย เช่น เสื้อผ้า กระเป๋า รองเท้า และ 3.เพื่อการบันเทิง ร้องเพลงโชว์ หวังสร้างชื่อเสียงบนโลกโซเชียลมีเดีย แจกหนัก แจกไม่อั้น ผิด-ไม่ผิดกฎหมายพนัน..? “ต้องยอมรับว่าเป็นช่องว่างทางกฎหมาย เพราะพฤติกรรมก็เข้าข่ายมอมเมาประชาชน แต่เอาผิดไม่ได้ ผู้ประกอบการก็ใช้ช่องว่างทางกฎหมายกอบโกยผลประโยชน์ ภายใต้คำว่าคืนกำไรให้ประชาชน” ขณะที่ อ.ไพศาล ลิ้มสถิตย์ กรรมการบริหารศูนย์กฎหมาย สุขภาพและจริยศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มองต่างมุมว่าการ live facebook แจกเงินนั้น ถือเป็นการเสี่ยงโชค การจะจัดขึ้นควรที่จะขออนุญาตจากกรมการปกครอง โดยไม่จำเป็นว่าจะต้องมีการเสียค่าใช้จ่าย หรือไม่ เพราะถ้าพิจารณาตาม พ.ร.บ.การพนัน ว่าถ้าผู้ใดจัดให้มีการเล่นพนันเอาเงินหรือทรัพย์สิน ถือว่าเป็นการพนันหรือเสี่ยงโชคแล้ว เพียงแต่กฎหมายไม่ได้ระบุไว้ว่าต้องเสียเงินหรือจ่ายเงินเท่านั้น “หากพิจารณาถึงโทษปรับ คือตั้งแต่ 50 – 2,000 บาท และส่วนใหญ่ก็ไม่มีโทษจำคุก เมื่อเทียบผลกำไรที่จะได้รับ มันถือว่าเล็กน้อยมาก จึงทำให้ผู้ประกอบการไม่เกรงกลัวต่อการกระทำผิด และแข่งขันกันแจก จนไม่คำนึงถึงผลกระทบต่อสังคมที่จะตามมา ในระยะยาว” อ.ไพศาล กล่าว ปอท.ชี้ live แจกเงิน ไม่ผิด พ.ร.บ.คอมฯ ยกเว้นแจ้งข้อมูลอันเป็นเท็จ เตือนระวังถูกฉกข้อมูลส่วนตัว ด้าน พ.ต.ต.ปฐมพงษ์ ศิลปสุข สว.กก.1 บก.ปอท. ชี้ชัดว่า การ live สดแจกเงินผ่านโซเชียลมีเดียในขณะนี้ ไม่มีความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ หากจะมีความผิดได้นั้นก็ต่อเมื่อ เป็นการแจ้งข้อมูลอันเป็นเท็จ คือหลอกลวงประชาชนให้มีการเสียทรัพย์สิน หรือ เสียชื่อเสียง กระทบต่อความมั่นคงของชาติ เผยแพร่ภาพลามกอนาจาร หรือข้อมูลเป็นเท็จที่ก่อให้ประชาชนเกิดความตระหนกตกใจหวาดกลัว ซึ่งเป็นไปตาม มาตรา 14 ของพระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์ ส่วนกรณีที่บอกให้ ไลค์หรือแชร์ก่อนจึงจะมีสิทธิ์ลุ้นรางวัล แต่ไม่ได้แจกจริง ก็เป็นการหลอกให้ไลค์ปกติ ไม่มีความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ เพราะประชาชนเองไม่ได้เสียอะไร ไม่ได้เสียเงินทองในการเล่นกิจกรรม “ทุกอย่างที่เกิดขึ้นในโลกโซเชียล ไม่ใช่ทุกเรื่องจะเป็นความผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์เสมอไป ถ้าเล่นพนันก็ผิดกฎหมายพนัน ถ้าค้ายา ก็ผิดกฎหมาย อาญา พ.ร.บ.คอมฯ มีเพื่อดูแลจัดการระบบคอมพิวเตอร์และความผิดบางอย่างที่เกิดจากการใช้คอมพิวเตอร์เท่านั้น” พ.ต.ต.ปฐมพงษ์ ย้ำว่า สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือประชาชนกำลังเสี่ยงที่จะถูกโจรกรรมข้อมูล บางทีการที่เราเล่นกิจกรรม เปิดเผยข้อมูลบางอย่าง เช่น ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ หรือแม้กระทั่งเลขบัญชี มีความเสี่ยงสูงมากที่เหล่ามิจฉาชีพจะนำข้อมูลเหล่านั้นไปปลอมแปลงเพื่อแอบอ้างในการกระทำผิดต่างๆ ซึ่งทาง ปอท. เองก็ออกมากำชับเรื่องนี้มาโดยตลอด เพราะปัจจุบันมีผู้ร้องเรียนเกี่ยวกับการโจรกรรมข้อมูลเหล่านี้จำนวนมาก ซึ่งจะให้ภาครัฐออกมาคุ้มครองอย่างเดียวก็ไม่ได้ แต่ประชาชนไม่ควรเปิดช่องทางให้มิจฉาชีพเหล่านั้นได้ เสี่ยงโชคล้นเมือง บันไดก้าวแรกสู่การเป็นนักพนันหน้าใหม่ ต่างประเทศคุมเข้ม แต่ไทยกลับปล่อยเสรี!! นายพงศธร จันทรัศมี ผู้จัดการศูนย์ข้อมูลนโยบายสาธารณะเพื่อลดปัญหาจากการพนัน มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ เปิดเผยข้อมูลที่น่าตกใจว่า ปกติแล้วคนไทยชินชาในการรับข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการพนัน โดยเฉพาะการเสี่ยงโชค เสี่ยงทาย จนเราถูกกลืนไปกับการพนันโดยไม่รู้ตัว เพราะคิดว่าไม่ใช่ความผิด สามารถกระทำได้ ทั้งที่จริงแล้ว สิ่งเหล่านี้เปรียบเสมือนบันไดก้าวแรกที่นำพาไปสู่การเป็นนักพนันหน้าใหม่ ยิ่งการ live ทาง facebook แจกเงินแบบฟรีๆ ซึ่งเป็นพฤติกรรมก่อให้เกิดการมอมเมาสังคมอย่างมาก เพราะไม่ต้องลงทุนในการเล่น เข้าไปเล่นได้ทุกวัย เยาวชนก็สามารถเข้าถึงกิจกรรมเหล่านี้ได้ง่าย โดยไร้การควบคุมอย่างโดยไร้การควบคุมอย่างเข้มงวด แต่กลับเอาผิดและดำเนินการควบคุมไม่ได้ เพราะประชาชนเองไม่ได้เสียเงิน ประเทศไทยเป็นชาติที่ไม่ได้ควบคุมการแจกรางวัล เรียกว่าเป็นประเทศเดียวที่แจกหนัก ทุ่มไม่อั้น มัวเมาคนในชาติด้วยการหลอกล่อด้วยเงิน ทำให้คนที่มาเล่น ไม่ได้เล่นเพื่อสนุก แต่เพื่ออยากได้รางวัลมาเปลี่ยนชีวิตให้เป็นเศรษฐีชั่วข้ามคืน สิ่งเหล่านี้เองถ้าเกิดการสะสมไปเรื่อยๆ โอกาสที่คนในชาติจะพลิกบทบาทจากนักเสี่ยงโชคมือฉมัง กลายเป็น นักพนัน ผู้เสพติดพนัน ย่อมมีมากขึ้น “ติดการพนัน ร้ายแรงเท่ากับติดสารเสพติด แต่กลับกลายเป็นวาระที่ไม่เร่งด่วนในการแก้ไข ตัวกฎหมายก็ยังล้าหลังอยู่มาก เพราะยังใช้กฎหมาย ฉบับ พ.ศ. 2478 ซึ่งแน่นอนโลกพัฒนาไปไกลกว่าที่กฎหมายจะครอบคลุมได้แล้ว” ยอดไลค์ กับธุรกิจออนไลน์ เหตุไฉนจึงสำคัญ ผศ.ดร.ศรัณยพงศ์ เที่ยงธรรม อาจารย์คณะบริหารธุรกิจและนักการตลาดจาก ม.กรุงเทพ อธิบายความสำคัญของยอดไลค์ ยอดแชร์ ของธุรกิจบนโลกออนไลน์ว่า ปัจจุบันหลากหลายแบรนด์และเพื่อความอยู่รอดของธุรกิจ ทำให้มีการแข่งขันกันอย่างดุเดือด เหล่าพ่อค้าแม่ขายจึงต้องงัดกลเม็ดต่างๆ มาใช้อย่างเผ็ดมัน สิ่งเดียวที่เห็นเป็นรูปธรรม และทำให้ดูน่าเชื่อถือที่สุดคือ ยอดไลค์ หรือยอดวิว เพราะยอดไลค์ 1 ไลค์ เท่ากับ 1 คนกำลังสนใจสินค้านี้ ถ้ามีหนึ่งแสนกดไลค์ เท่ากับ หนึ่งแสนคนกำลังสนใจ คนทั่วๆ ไปเห็น ก็จะเชื่อมั่นในทันทีว่าสินค้านี้ดีจริง เพราะถ้าไม่ดี แล้วทำไมคนเป็นแสนถึงเลือกที่จะไลค์
“บนโลกนี้ไม่มีอะไรที่ถูก หรือ ให้มาฟรีๆ โดยเฉพาะในมุมของการตลาด ทุกอย่างที่ทำต้องได้กำไร ถ้าสมมติว่ามีการโปรโมทว่าจะแจกล้านวันนี้ แล้วปรากฏว่าคนที่กดไลค์กดแชร์มาซื้อสินค้า 10 คน เราจะพิสูจน์ได้อย่างไรว่าเขาแจกจริง คนที่บอกว่าได้เงินล้าน รู้หรือไม่ว่าเขาถูกจ้างมาหรือเปล่า แต่ที่แน่ๆ คือ เขาขายได้กำไรแล้ว 10 คน ฉะนั้น ก่อนจะเชื่ออะไรให้สันนิษฐานว่า ม่จริงก่อนเสมอ และเหตุผลจะตามมาเองว่าเราควรที่จะเชื่อหรือไม่ รวมถึงคำนึงเสมอว่า 1 ไลค์ของคุณมีค่า เพราะอาจเป็นส่วนหนึ่งที่นำไปอ้างอิงความน่าเชื่อถือของแบรนด์” โลกความเป็นจริงนั้น แตกต่างจากโลก “เสมือนจริง” ในสังคมออนไลน์นั้นเป็นสิ่งที่ยากจะตรวจสอบ การจะให้ข้อมูลอะไร ควรจะตรึกตรองให้ดีเสียก่อน เพราะของฟรีนั้นไม่มีในโลก จากที่จะ “ได้” อาจกลายเป็น “เสีย” ก็ได้ อย่างไรก็ดี อยากจะให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมตรวจสอบด้วย หากเห็นว่าจุดอ่อนคือ “ช่องโหว่” ทางกฎหมาย ก็ควรจะบูรณาการแก้ไข ไม่ใช่ปล่อยให้ “วัวหายแล้วตามล้อมคอก” อย่างที่ผ่านมา ที่มา : https://www.thairath.co.th/content/733575 วันที่ 26 กันยายน 2559 |