สัมภาษณ์โดย : อรรถสิทธิ์ พานแก้ว พิชญา วิทูรกิจจา
เรียงเรียงโดย: ชนิกานต์ กาญจนสาลี สุวลัย เมืองเจริญ
โจทย์ของการทำงานสื่อสารเชิงการขับเคลื่อนโดยทั่วไป คนส่วนใหญ่อาจคิดว่าหากต้องการแก้ปัญหากับใครก็มุ่งตรงไปที่กลุ่มเป้าหมายของเนื้อหางานก็น่าจะเพียงพอ แต่ในมุมคิดและทัศนะของ อาจารย์จุฑาลักษณ์ แสนโท อาจารย์ประจำคณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยนครพนม ที่พยายามนำร่องการทำงานโครงการลดผลกระทบจากการพนัน ผ่านการจัดทำข้อเสนอรูปแบบและกลไกความร่วมมือการป้องกันและลดผลกระทบจากการพนันออนไลน์และเสี่ยงโชคในพื้นที่ชุมชนรอบมหาวิทยาลัยนครพนม โดยการขับเคลื่อนกิจกรรมเพื่อสังคมในเชิงพื้นที่ ตลอดระยะเวลา 2 ปีที่ผ่าน ได้ให้มุมมองที่แตกต่าง
ข้อค้นพบของ อาจารย์ จุฑาลักษณ์ จากการที่พาเด็กนักศึกษาร่วมงานกับทีมสภาเด็กและเยาวชนจังหวัดนครพนม ให้ช่วยกันออกแบบการสื่อสารเพื่อการเปลี่ยนแปลงในการหาวิธีการป้องกันและลดผลกระทบจากการพนันทั้งต่อตนเอง ส่งต่อไปยังพ่อแม่ ญาติพี่น้องอย่างไร
“สิ่งที่เด็กสะท้อนมาคือ ถ้าสื่อสารรณรค์เพียงเฉพาะกลุ่มนักศึกษา อาจจะไม่เพียงพอเพราะถ้ายังเห็นพ่อแม่เค้าเล่นหวย เล่นไพ่อยู่ การทำกิกรรมกับเด็กมากเท่าไร แต่พ่อแม่ยังเล่นพนันทุกรูปแบบเหมือนเป็นกิจวัตร เป็นปกติอยู่เลย”
หากมองว่าครอบครัวคือสภาพแวดล้อมแรกที่เป็นสิ่งสำคัญ
มนุษย์เติบโตมาจากสภาพแวดล้อมที่บ่มเพาะขึ้นมา การมองปัญหาให้รอบและลึกก็เพื่อทำความเข้าใจกับภาพรวมของปัญหาพนันให้ครอบคลุมทั้งมิติด้านสุขภาพ มิติด้านสังคม ไม่ใช่เพียงมิติด้านเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว
และเนื้อหาการสัมภาษณ์บรรทัดต่อจากนี้ ก็ช่วยทำให้เราได้เห็น สมการของปัญหาที่ทำให้เราต้องสื่อสารไปสู่การทำงานของหลายภาคส่วนให้มากขึ้น เพื่อสร้างเป้าหมายการทำงานร่วมกัน และวางแนวทางเพื่อบรรลุผลเชิงเป้าหมายร่วมกันให้ได้มากที่สุด
ทำไมถึงสนใจเข้ามาทำงานเกี่ยวข้องกับการพนันในเด็กและเยาวชน?
อันดับแรกมีพื้นฐานมาจากการที่ชอบทำงานกับเด็กและเยาวชนอยู่แล้วไม่ว่าจะเป็นประเด็นไหนก็ตาม ที่ผ่านมาก็เคยทำเกี่ยวกับเด็กที่ติดเชื้อ HIV การตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ และยาเสพติด ด้วยบริบทของวิชาชีพที่เป็นนักสังคมสงเคราะห์มาก่อนที่ทำงานเกี่ยวกับเด็กมาตลอด ต่อมาได้รับการติดต่อจากทางมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) ในปี 2559 ก็ไม่ปฏิเสธ เพราะด้วยอาชีพเราไม่อยากจะสอนอย่างเดียวแต่อยากทำอะไรใหกับสังคมบ้าง ประกอบกับด้วยพื้นที่นครพนมที่เป็นพื้นที่ห่างไกลถ้ามีอะไรดีๆ เข้ามาก็รับไว้ก่อน อย่างน้อยการขับเคลื่อนด้วยกิจกรรมเป็นการสร้างพื้นที่ให้กับนักศึกษาของอาจารย์ในการมาร่วมแสดงพลังเพื่อการเปลี่ยนแปลง และด้วยมหาวิทยาลัยนครพนม ที่ตั้งในพื้นที่แถบชายแดน นาน ๆ ครั้งจะมีกิจกรรมจากส่วนกลางเข้ามาก็เป็นโอกาสที่จะนำมาบูรณาการและส่งเสริมทักษะการคิดวิเคราะห์เพื่อวางแนวทางการทำงานโดยนักศึกษา
…อาจารย์ก็พยายามสร้างพื้นที่ให้งานด้านปัญหาการพนัน เพราะมองว่าการจัดกิจกรรมเราทำเฉพาะในมหาวิทยาลัยไม่ได้ เนื่องจากมีความเกี่ยวพันกับมาตรการปกป้องคุ้มครองเด็กและเยาวชน…
อยากให้อาจารย์เล่าถึงกระบวนการทำงานที่ได้การสร้างการมีส่วนร่วมในประสบการณ์ระหว่างสภาเด็กและเยาวชนและนักศึกษา จากการขับเคลื่อนกลไกความร่วมมือการป้องกันและลดผลกระทบจากการพนันออนไลน์และเสี่ยงโชคในพื้นที่ชุมชนรอบมหาวิทยาลัยนครพนม นี้?
เริ่มจากการเป็นคณะอนุกรรมการคุ้มครองเด็กจังหวัดนครพนม หลายครั้งที่ทำงานเกี่ยวกับเด็กในหลายเรื่อง เช่น ยาเสพติด เด็กอยู่ในภาวะยากลำบาก ฯลฯ ได้มีโอกาสนำประเด็นสถานการณ์ปัญหาพนันนำเสนอต่ออนุกรรมการคุ้มครองเด็ก ที่จะดูแลกองทุนคุ้มครองเด็กจังหวัด หลังจากที่ทำงานร่วมกับ มสช. ปี 2559 และในปี ถัดมาก็นำผลการดำเนินงานโครงการขับเคลื่อนไปเสนอทางจังหวัดเห็นว่าเป็นประเด็นที่น่าดำเนินการต่อยอดได้ จึงมีงบของทางจังหวัดเข้ามาสนับสนุนโดยควบรวมกับประเด็นเรื่องสื่อออนไลน์โดยสอดแทรกเรื่องการพนันผ่านช่องทางออนไลน์เข้าไป ถือเป็นองค์ความรู้ใหม่สำหรับสภาเด็กและเยาวชนมามีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนกิจกรรมรณรงค์ ไม่ใช่รณรงค์ในหมู่นักศึกษาแต่เป็นการรณรงค์ทั้งจังหวัด เป็นเรื่องใหม่ของสภาเด็กฯ เพราะก่อนหน้านี้มีได้ดำเนินการตามนโยบายเพียงประเด็นปัญหายาเสพติด ปัญหาแม่วัยใส และยังไม่เคยมีใครขับเคลื่อนเรื่องปัญหาการพนันในส่วนของจังหวัด
โดยกระบวนการเริ่มจากการสำรวจสถานการณ์ วิจัย เก็บข้อมูลเกี่ยวข้องกับเด็กและเยาวชน สมาชิกสภาเด็กและเยาวชนมีความคิดเห็นอย่างไรบ้างเกี่ยวกับเรื่องการพนันและนำผลของการวิจัยไปนำเสนอในเวทีอนุกรรมการฯ ผลคือส่วนใหญ่เด็กก็เคยเล่นมีประสบการณ์การเล่นพนันมากกว่า 50 เปอรฺเซ็นต์ ผลสำรวจจากสมาชิกสภาเด็กและเยาวชนทั้ง 12 อำเภอ นำไปสู่การออกแบบกิจกรรม โดยใช้แบบสอบถาม ถึงรูปแบบการสื่อสารสราความตะรหนักผลกระทบจากการพนันว่าถ้ามีการรณรงค์หรือจัดกิจกรรมให้รู้เท่าทันภัยการพนัน อยากให้มีการดำเนินงานในรูปแบบใดทั้ง 3 ส่วน ได้แก่ สถานการณ์ เจตคติ และสิ่งที่ต้องการดำเนินงาน โครงการผ่านการอนุมัติงบประมาณโดยกองทุนคุ้มครองเด็กจังหวัดให้ได้ดำเนินการ
แสดงว่ากลุ่มเป้าหมายหลักเป็นเด็กและเยาวชน?
จริง ๆ แล้วกลุ่มเป้าหมายไม่ได้มีเฉพาะเด็กและเยาวชน อาจารย์ทำโครงการขับเคลื่อนการป้องกันและลดผลกระทบจากปัญหาการพนันและสื่อออนไลน์ในเด็กและเยาวชน จังหวัดนครพนม ก็ได้ชุดความรู้จาก มสช. มาขยายผลต่อกับบริบทในพื้นที่ ทั้งกับผู้ใหญ่และกลุ่มเด็ก ในส่วนที่ดำเนินการกับผู้ใหญ่ คือ เชิญผู้ที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองเด็ก เช่น ด้านการศึกษา ด้านสาธารณสุข ด้านศาล ด้านพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษ์จังหวัดนครพนม (พมจ.) และจะมีตัวแทนจากสภาเด็กและเยาวชนในระดับจังหวัดมาร่วมพูดคุยกันถึงปัญหา มาช่วยกันวิเคราะห์ และจุดประเด็นให้เห็นถึงความสำคัญของปัญหาการพนัน เพราะส่วนใหญ่มักจะนึกถึงเรื่องอื่นๆ เช่น cyberbullying ยาเสพติด เด็กติดเกมส์ ซึ่งการพนันยังน้อยอยู่ จะใช้กุศโลบายโดยการเพิ่มการพนันเข้าไปไว้กับสื่อออนไลน์ให้เขาเห็นถึงความสำคัญ เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องใหม่ในพื้นที่ ร่วมคุยว่าจะมีแนวทางอย่างไรในการป้องกัน กิจกรรมที่สองคือ เป็นการทำค่ายคนรุ่นใหม่รู้ทันภัยพนัน เป็นกลุ่มนักเรียน ค่ายวันเดียว กลุ่มเป้าหมายมาจากหลาย ๆ โรงเรียน เริ่มจากการบรรยายโทษภัยของการพนัน อาจารย์จะมีเทคนิคจากโครงการแรกที่เคยทำกับ มสช. และอาจารย์ได้นักศึกษากลุ่มหนึ่งที่พร้อมจะเป็นแกนนำที่มีชุดความรู้ อาจารย์จะให้นักศึกษากลุ่มนี้เข้ามาทำกิจกรรมกับน้อง ๆ ให้เขาออกแบบกิจกรรมเอง ซึ่งก็ถือเป็นผลผลิตจากโครงการแรก ที่ชื่อ U (University) can anti-gambling เอางบจากกองทุนคุ้มครองเด็กมาจัดกิจกรรม
การจัดกิจกรรมต่าง ๆ การรณรงค์ สามารถนำไปปรับใช้กับงานในส่วนของพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดนครพนมอย่างไร?
ส่วนงาน พมจ.นครพนม อาจารย์ก็เข้าไปนำเสนอความสำเร็จที่เป็นส่วนสำคัญจากการดำเนินงาน สมมติว่ามีงานยุติความรุนแรงของจังหวัดอาจารย์ก็พยายามสร้างพื้นที่ให้งานด้านปัญหาการพนัน เพราะมองว่าการจัดกิจกรรมเราทำเฉพาะในมหาวิทยาลัยไม่ได้ เนื่องจากมีความเกี่ยวพันกับมาตรการปกป้องคุ้มครองเด็กและเยาวชน จากกลุ่มผลประโยชน์ เราต้องสร้างการเรียนรู้ให้ถึงระดับผู้บริหารนโยบายด้านเด็กและเยาวชนของจังหวัดที่ต้องรู้จักเรา ดังนั้นต้องทำงานควบไปกับการสร้างพื้นที่การเรียนรู้ด้านสถานการณ์ปัญหาการพนันใน 2 ส่วน คือ เมื่อมีโอกาสได้รับเชิญ ให้ไปบรรยาย อาจารย์ก็จะแทรกเรื่องการพนันเข้าไป อย่างการอบรมผู้ปกครองของเด็กประถมวัย ทุกปีก็จะมีการรณรงค์ยุติความรุนแรงของจังหวัดอยู่แล้ว ก็จะเชิญอาจารย์ไปร่วมกิจกรรม ทั้งพานักศึกษาไปเดินขบวน การจัดนิทรรศการให้ความรู้ หรือ ถ้าพูดถึงความรุนแรง เราก็ทำป้าย การพนันเป็นต้นเหตุของความรุนแรง และเอาผลงานต่าง ๆ ไปแสดง ตอนนี้ก็มีสภาเด็ก 2-3 แห่ง ในจังหวัด ติดต่อเข้ามาว่าอยากทำกิจกรรมด้านการลดปัญหาการพนัน อยากขอคำปรึกษา เพื่อนำไปขอทุนทำโครงการ
หากทำงานสื่อสารสร้างการเรียนรู้และรณรงค์เพียงเฉพาะ กลุ่มเด็กและเยาวชน พวกเขาคิดว่าไม่เพียงพอ และอาจจะไม่เกิดประโยชน์ เพราะพวกเขายังคงเห็นพ่อแม่เล่นหวย เล่นไพ่ กันอยู่ เราทำกิกรรมมากแค่ไหนแต่พ่อแม่ยังเล่นเหมือนเป็นกิจวัตร เป็นปกติอยู่เลย ก็จะไม่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงไปที่สถาบันครอบครัว
จากประสบการณ์ทำงานที่ผ่านมา เจอเรื่องประเด็นท้าทายอะไรบ้าง?
ประสบการณ์จากการทำงาน ใน 2 ปีที่ผ่านมา ทำให้รู้สึกถึงคุณค่าของการทำงานในสิ่งที่ท้าทาย คือ ตอนแรกเหมือนเราตื่นตัวอยู่คนเดียวเพราะเราได้รับข้อมูลคนเดียว ดังนั้นสิ่งท้าทายสำคัญคือ ทัศนคติที่ฝังอยู่กับคนทั่วไปของสังคมว่าการพนันเป็นเรื่องปกติที่อยู่ในวิถีชีวิต การรณรงคไม่มีวันทำให้การพนันหมดไปได้ จะทำไปทำไม บางครั้งก็ทำให้ความรู้สึกเด็กเดี่ยว และมุ่งมั่นของเราแผ่วลงบ้าง แต่ก็สามารถบูรณาการประเด็นเด็กกับสื่อออนไลน์กับปัญหาการพนันได้ และก็พบว่าในส่วนของปัญหาไม่ได้ขึ้นอยู่แต่เพียงเด็กและเยาวชนเท่านั้น เพราะในความเป็นจริงแล้วเด็กพร้อมจะร่วมมือ และสิ่งท้าทายที่สำคัญอีกอย่างโดยเฉพาะจากการลงชุมชน คือ การที่ผู้ใหญ่ยังคงมีทัศคติว่าการพนันเป็นเรื่องปกติ การซื้อหวย การเล่นไฮโล การเเล่นไพ่ ไม่ได้สร้างความเสียหายมากมายนัก
ในอนาคตอยากให้หน่วยงานหรือองค์กรใดเข้ามาทำงานร่วมคิดร่วมทำ?
หากมองที่กลุ่มเป้าหมายเด็กและเยาวชน แน่นอนว่างานนี้ ไม่ใช่ของใครคนใดคนหนึ่ง เป็นหน้างานที่ซึ่งหน่วยงานหรือองค์กรทุกภาคส่วนจะต้องระดมทรัพยากร ให้สามารถร่วมกันเป็นเจ้าภาพได้ เราพยายามสร้างการมีส่วนร่วมโดยการเชิญทุกภาคส่วนมาเข้าร่วมในเวทีประชุม โดยเฉพาะในจังหวัดนครพนมก็จะมีความตื่นตัวกับการทำงานในประเด็นสถานการณ์ปัญหาใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้น ทุกหน่วยงานจะมาช่วยกันคิดช่วยกันทำ เช่น ศึกษาธิการจังหวัด ก็ให้ความสำคัญกับเรื่องผลกระทบทางด้านสมองของเด็กและเยาวชน แต่ทั้งนี้ไม่ว่าใครก็ตามถ้าได้เข้ามามีส่วนร่วมมือ ก็จะสามารถมองเห็นถึงจุดหมายปลายทางในการแก้ปัญหาร่วมกัน คำถามต่อไปสำหรับการทำงานคือว่าจะสามารถลดผลกระทบจากการพนันและเป็นส่วนช่วยกระตุ้นเตือนคนในจังหวัดนครพนมได้หรือไม่ ผู้ใหญ่ที่เข้ามาร่วมขับเคลื่อนการทำงานจะสามารถเป็นแบบอย่างที่ดีต่อเด็กและเยาวชนได้มากพอหรือต้องขยายผลไปในแนวทางใดต่อไป
จากการเข้าไปให้ความรู้และจัดกิจกรรม ผลตอบรับกลับมาเป็นอย่างไร?
ข้อค้นพบคือ จากการที่นำเด็กนักศึกษาร่วมงานกับสภาเด็กและเยาวชนจังหวัดนครพนม ในการระดมความคิด เพื่อหาวิธีการป้องกันตนเอง และสื่อสารไปยังพ่อแม่ ญาติพี่น้องอย่างไร สิ่งที่เด็กและเยาวชนสะท้อนกลับมา คือ ถ้าทำงานสื่อสารสร้างการเรียนรู้และรณรงค์เพียงเฉพาะ กลุ่มเด็กและเยาวชน พวกเขาคิดว่าไม่เพียงพอ และอาจจะไม่เกิดประโยชน์ เพราะพวกเขายังคงเห็นพ่อแม่เล่นหวย เล่นไพ่ กันอยู่ เราทำกิกรรมมากแค่ไหนแต่พ่อแม่ยังเล่นเหมือนเป็นกิจวัตร เป็นปกติอยู่เลย ก็จะไม่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงไปที่สถาบันครอบครัว
ดังนั้น การสื่อสารเพื่อการขับเคลื่อน จึงไม่ใช่เพียงแค่การรณรงค์เฉพาะในกลุ่มเด็กและเยาวชน แต่ต้องรวมไปถึงสถาบันครอบครัวของเด็กและเยาวชนด้วย อาจารย์จึงคิดว่าแคมเปญต่อไปของการสื่อสาร คือการรณรงค์กับครอบครัว โดยเฉพาะกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ที่มีกลไกศูนย์พัฒนาครอบครัวระดับตำบล ที่น่าจะดำเนินในจุดนี้เพราะเด็กและเยาวชน เติบโตมาจากพื้นฐานครอบครัว ศักยภาพการเลี้ยงดู และปลูกฝังภูมิคุ้มกันภัยทางสังคมต่าง ๆ ในขณะที่ทางพัฒนาสังคมและความมั่นคงของจังหวัดนครพนม (พมจ.) เองก็เสนอว่าการสร้างกลไกก็ขับเคลื่อน ก็สามารถเขียนของบประมาณมาดำเนินการได้ โดยการทำกิจกรรมในระดับศูนย์พัฒนาครอบครัวตำบลโดยนำเรื่องการพนันเข้ามาเป็นประเด็นปัจจัยเสี่ยงที่ท้าทายและ ศพค.ควรมีแนวทางเพื่อดำเนินการให้ความรู้ต่อไปได้