ร่วมคิดร่วมคุย (ฉบับ 10)

ร่วมคิดร่วมคุย : โรคติดพนัน เท่ากับ ติดสารเสพติด!!

สัมภาษณ์พิเศษ : รองศาสตราจารย์ พญ.พรจิรา ปริวัชรากุล ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ (คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล)

สัมภาษณ์โดย : อรรถสิทธิ์ พานแก้ว พิชญา วิทูรกิจจา

เรียงเรียงโดย: ชนิกานต์ กาญจนสาลี สุวลัย เมืองเจริญ

 


สถานการณ์โรคติดพนัน (Gambling Disorder) 2561 ฤาสังคมไทยจะยังคงเพิกเฉย?!!

          ปี 2561 เป็นศักราชแห่งความท้าทายของงานสร้างความรู้ความเข้าใจผลกระทบการพนันต่อมิติสุขภาพ  ให้สังคมเห็นภาพตรงกันและเกิดความประจักษ์ชัดทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ว่าด้วยฤทธิ์การเสพติดพนันเป็นเรื่องท้าทายที่ไม่ง่ายต่อการเปลี่ยนทัศนะคติต่อเรื่องการพนันในเชิงบวก ประชาชนมองว่าการพนันไม่ใช่ปัญหา การเสี่ยงโชคเป็นวัฒนธรรมคู่สังคมไทยและเปลี่ยนแปลงไม่ได้ อยู่เช่นนี้

          ทำอย่างไรจะทำให้สังคมไทยเห็นภาพปัญหาและความน่ากลัวของการพนันอย่างชัดเจน เพราะการพนันเป็นสิ่งที่มองไม่เห็น จึงทำให้คนรู้สึกว่าไม่ค่อยมีผลกระทบเท่าไร ถ้าเปรียบเทียบการดื่มสุราจะไปทำลายตับ การเล่นพนันทำลายสมอง …จะเป็นเรื่องที่ชัดเจนมากขึ้นหรือไม่  นี่อาจเป็นโจทย์ของการทำประเด็นเพื่อสื่อสารสาธารณะ ????

          แน่นอนว่าความพยายามนี้ต้องเร่งมือแข่งกับเวลา  โดยการพลิกแง่มุมความน่าสนใจต่อการอธิบาย “โรคติดพนัน เท่ากับ ติดสารเสพติด” ที่วันนี้วิทยาการงานวิจัยทางสมอง มีคำอธิบายที่ชัดเจนมากขึ้นทวีคูณ การไขประเด็นนี้โดยรองศาสตราจารย์ พญ.พรจิรา ปริวัชรากุล ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ (คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล) จึงเป็นเรื่องน่าสนใจยิ่ง

 

“ผู้ที่เล่นเกมเสี่ยงโชค/ลุ้นรางวัลที่เทียบเคียงการพนันตั้งแต่วัยเด็ก ยิ่งส่งผลต่อการพัฒนาทักษะชีวิตในด้านต่างๆ ของเด็กและเยาวชนต่ำ ได้แก่ ความเสี่ยงต่อการคอรัปชั่น ทักษะในการแก้ปัญหา ความสามารถในการอดทนรอคอยสูญเสียไป …” 

 

บทสัมภาษณ์ บรรทัดต่อจากนี้ คือความชัดเจนของการศึกษาว่าด้วยเกณฑ์การวินิจฉัยของโรคติดพนัน (Gambling disorder) ที่ได้รับการบัญญัติใหม่เมื่อ พ.ศ. 2556 ที่สังคมไทยควรจะต้องตระหนักรู้ ให้มากยิ่งขึ้น

 

แรงจูงใจสำคัญที่จิตแพทย์ ให้ความสำคัญต่อการศึกษาเรื่องผลกระทบสมองกับการพนัน ออกมาให้ความรู้เรื่องผลกระทบของการพนันกับมิติสุขภาพ คืออะไร?

          จุดเริ่มต้นประมาณปี พ.ศ. 2553 ขณะศึกษาอยู่ต่างประเทศ ไดรับการติดต่อจากมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ ซึ่งตอนนั้นนายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ ดูแล ท่านมีแนวคิดในการให้ข้อมูลเกี่ยวกับผลกระทบจากการพนันที่เป็นรูปธรรมและมีงานวิจัยรองรับ เพื่อสร้างความตระหนักให้แก่สังคม ศึกษาและเขียนหนังสือ “แกะรอยหยักสมอง มองผลกระทบจากการพนัน” มองหาช่องว่าง (gab) ขององค์ความรู้ โดยรวบรวมองค์ความรู้ที่มีอยู่แล้วในระดับสากล ให้อ่านกันเป็นภาษาไทยได้ง่ายขึ้น ดังนั้น จึงไปรวบรวมงานวิจัยต่าง ๆ และมาเชื่อมโยงกับปัญหาที่เกี่ยวข้องในประเทศไทย ซึ่งที่ผ่านมามีหน่วยงานต่าง ๆ เชิญไปถ่ายทอดความรู้ที่เข้าใจยากให้คนทั่วไปเข้าใจง่ายมากขึ้น

 

พูดกันว่าการพนันรูปแบบต่างๆ ส่งผลกระทบต่อสมองจริงหรือไม่ คำอธิบายเชิงวิทยาศาสตร์สุขภาพมันคืออะไรที่เด่นชัดที่สุด ?

          จริง ๆ แล้วการเสพติดทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นเสพติดทางพฤติกรรม เช่น การพนัน หรือการเสพสารเสพติด เช่น เหล้า บุหรี่ ล้วนมีผลต่อโครงสร้างสมองอย่างถาวรทั้งสิ้น ซึ่งในแง่นี้สามารถอธิบายได้จากสองส่วนหลัก คือ

          ส่วนแรก คือ การพนันทำให้สมองเปลี่ยนแปลงไป กล่าวคือ การทำงานของสมองที่เกี่ยวกับเรื่องความสุข ความพึงพอใจ (Reward Circuit หรือ Pleasure Circuit) ซึ่งทุกคนจะมีสมองส่วนนี้อยู่ เมื่อเวลาที่เราทำอะไรได้ดี ทำแล้วมีความสุข ทำแล้วเราภูมิใจ หรืออธิบายง่าย ๆ เวลาเราหิวข้าวแล้วกินจนอิ่มแต่เราก็ยังอยากกินต่อ ก็พยายามไปเสาะแสวงหาของกินมาเพิ่มอีก โดย Reward Circuit หรือ Pleasure Circuit นี้เป็นส่วนสำคัญในการดำรงชีวิตของสัตว์รวมทั้งมนุษย์ด้วย กรณีที่คนติดการพนัน สิ่งที่เกิดขึ้นในสมองของเขาก็คือ มันจะดื้อกับรางวัลในธรรมชาติทั่ว ๆ ไป เช่น ได้เจอกับพ่อแม่พี่น้อง ได้ออกไปเที่ยว หรือ ได้กินของอร่อย ก็ไม่รู้สึกว่ามีความสุข ในทางตรงข้ามเขากลับมีความสุขเฉพาะกับสารเสพติด หรือการเล่นพนันมากกว่า จึงทำให้สิ่งที่จะเป็นแรงจูงใจหรือความหมายของชีวิตมันเปลี่ยนนิยามไป กลายเป็นมีชีวิตอยู่ไปวัน ๆ ก็พอแล้ว ดังนั้น พ่อแม่ ญาติพี่น้อง ของคนที่ติดพนัน มักจะบอกว่าคนเหล่านี้เหมือนไม่ใช่ลูกหลานเขา เพราะเขาเปลี่ยนไปจากคนเดิม และตัวคนที่ติดเองก็รู้สึกได้ว่าขาดความสุข ซึ่งไม่ใช่ความรู้สึกอยากที่จะเล่นพนัน แต่คือสิ่งที่เคยมีความสุขหรือทำให้มีความสุขได้นั้นมันดื้อไปแล้วนั่นเอง

          ส่วนที่ 2 คือ การพนันทำให้สมองบางส่วนฝ่อตัวลงไป จะเห็นได้ในจุดที่ควบคุมความหุนหันพลันแล่นมีลักษณะฝ่อลง ปรากฏการณ์ที่พบในคนที่ติดเกม มักจะดูใจร้อนมากขึ้น แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า คนติดเกมทุกคนจะใจร้อน แต่หมายถึงคนที่ติดจนไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ การพนันก็เช่นเดียวกัน คนที่เล่นจนถึงขนาดเป็นโรค เล่นจนรู้สึกว่าควบคุมตัวเองไม่ได้ และเล่นเยอะกว่าที่ควรเป็น รวมถึงเล่นไปแล้วรู้สึกผิดหวังแต่ก็ต้องเล่นไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะรู้สึกชนะ ในแง่นี้การที่ควบคุมตัวเองไม่ได้และเป็นโรคแล้ว สอดคล้องกับสมองในส่วนที่ควบคุมคุมอารมณ์ พฤติกรรม และการตัดสินใจฝ่อตัวลง สมองส่วนที่เรียกว่า (White Matter) เป็นส่วนที่เชื่อมโยงกับสมองส่วนต่าง ๆ ทำหน้าที่ก็ฝ่อลงหมดด้วย ยกตัวอย่างเช่น คนที่เรียนหนังสืออยู่ ก็จะส่งผลทำให้การเรียนแย่ลง เป็นต้น

 

“ผู้ที่ป่วยเป็นโรคติดพนัน เกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ที่มารักษาไม่ได้มีเพียงโรคเดียว แต่มักจะมีโรคอื่นด้วย เช่น โรคซึมเศร้า โรคติดสุรา บุหรี่ กัญชา และพวกโรคสมาธิสั้น”

 

ทำไมการเสี่ยงโชคถึงเท่ากับการพนัน แล้วผลกระทบการจัดกิจกรรมการส่งเสริมการขาย และการให้รางวัลด้วยวิธีการเสี่ยงโชค ส่งผลต่อพัฒนาการสมอง ในด้านความสุขและรางวัล (Reward circuit หรือ pleasure circuit) อย่างไร?

          กิจกรรมอะไรก็ตามที่เกี่ยวข้องกับแรงจูงใจ ก็จะต้องมีการกลั่นกรองก่อนเสมอ เช่น การกิน การมีเซ็กส์ การเล่นพนัน ฯลฯ กล่าวได้ว่า มนุษย์จะต่างจากสัตว์ทั่วไปตรงสมองส่วนที่ตัดสินใจและใช้วิจารณญาณได้ดีกว่าสัตว์ ซึ่งการส่งเสริมการขายก็จะกระตุ้นให้เกิดความอยาก และเมื่อเราได้รับรางวัลก็จะมีการหลั่งสารสาร “Dopamine” ที่ทำให้เกิดความอยากเพิ่มขึ้น ในสมองส่วน Reward Circuit นี้ ในขณะที่ความอยากตามธรรมชาติก็จะหลั่งแบบธรรมดา ดังนั้น ผลกระทบของการพนันต่อสุขภาพมีกระบวนการเปลี่ยนรูปแบบการหลั่ง Dopamine ในสมอง ซึ่งสัมพันธ์กับพฤติกรรมเสพติด จึงมีผลต่อความรุนแรงของความอยาก และถ้าเป็นการหลั่งของสมองของคนที่ติดยาหรือติดการพนัน การหลั่งจะอยู่ในรูปแบบที่ไม่สอดคล้องกับความสมเหตุสมผลในความเป็นจริง ประกอบกับสมองส่วนวิจารณญาณ (Frontal lobe) การคิดเป็นเหตุเป็นผลและการยับยั้งชั่งใจก็จะทำงานผิดปกติด้วย

 

อาการเหล่านี้ถ้าเกิดกับเด็กและเยาวชน ?

          หากเด็กและเยาวชนที่สมองส่วนต่าง ๆ ยังพัฒนาไม่เต็มที่ ก็จะมีแนวโน้มที่จะทำตามความอยากจาก Reward circuit มากเกินกว่าที่ควรจะเป็น ลักษณะนี้จะสอดคล้องกับพฤติกรรมความต้องการซื้อของคนทั่วไป ระหว่างเด็กและผู้ใหญ่ที่ต้องการซื้อของ พบว่า ผู้ใหญ่มักจะยับยั้งชั่งใจได้ดีกว่าเด็ก หากยิ่งมีการส่งเสริมการขายที่อยู่ในรูปแบบการเสี่ยงโชคที่คล้ายคลึงกับการเล่นพนัน ยิ่งกระตุ้นให้อยากมากขึ้น แทนที่ถูกเลือกซื้อกลายเป็นฝ่ายที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจอย่างมหาศาล

          การส่งเสริมการขายที่พบเห็นในปัจจุบัน มีแนวโน้มที่จะส่งผลกระทบต่อเด็กและเยาวชนค่อนข้างสูง ทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิต การเสี่ยงโชคจึงใกล้เคียงกับการพนันที่อาจทำให้เกิดความผิดปกติของสมองในระดับโครงสร้าง โดยเฉพาะผู้ที่เล่นเกมเสี่ยงโชค/ลุ้นรางวัลที่เทียบเคียงการพนันตั้งแต่วัยเด็ก ยิ่งส่งผลต่อการพัฒนาทักษะชีวิตในด้านต่างๆ ของเด็กและเยาวชนต่ำ ได้แก่ ความเสี่ยงต่อการคอรัปชั่น ทักษะในการแก้ปัญหา ความสามารถในการอดทนรอคอยสูญเสียไป เป็นต้น

          จากประสบการณ์การรักษาในฐานะจิตแทย์ ผู้ที่ป่วยเป็นโรคติดพนัน เกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ที่มารักษาไม่ได้มีเพียงโรคเดียว แต่มักจะมีโรคอื่นด้วย เช่น โรคซึมเศร้า โรคติดสุรา บุหรี่ กัญชา และพวกโรคสมาธิสั้น แต่ละรายที่มามักจะมีต้นสายปลายเหตุที่ต่างกัน บางรายเริ่มจากติดเหล้า เข้าในวงเหล้ามีกกลุ่มเพื่อนชักชวนให้เล่นพนันบอล เจ้าหนี้ทวงเงิน ในระยะหนึ่งสมองแย่ลง การเรียนแย่ลง ความภาคภูมิใจในตนเองลดลง ก็เริ่มขโมย เริ่มเป็นโรคซึมเศร้า และเริ่มคิดฆ่าตัวตาย ดังนั้น กว่าจะมารับการรักษาก็จะมีหลายโรคและอาการเริ่มแย่ รวมทั้งครอบครัว ญาติพี่น้อง ก็มีหลายโรคตามไปด้วย เช่น พ่อแม่มีอาการของโรคซึมเศร้า เนื่องจากผิดหวังในตัวลูก โรคติดพนันทำให้สูญเสียความสามารถในการมองการไกล คนที่เป็นโรคติดพนันหรือติดสารเสพติดจะมีลักษณะคล้ายกัน คือ มองของใกล้ไว้ก่อน ไม่สามารถอดเปรี้ยวไว้กินหวานได้ และพบตัวเองอีกทีก็คือทำอะไรไม่ได้แล้ว บางคนถึงขั้นสูญเสียทักษะบางอย่างไป เช่น เคยเรียนเก่ง เคยพูดภาษาต่างประเทศได้ เคยเล่นกีฬาได้ดี ให้มาทำอีกทีก็ทำไม่ได้อย่างที่เคย จึงทำให้พบความเป็นจริงที่ว่าชีวิตไม่ได้เป็นอย่างที่คิด ก็เกิดความท้อใจ และมองไม่เห็นคุณค่าของชีวิตตนเอง

 

เพราะเหตุใด เกณฑ์การวินิจฉัยของโรคติดพนัน (Gambling disorder) ถึงได้รับการบัญญัติใหม่เมื่อ พ.ศ. 2556 ว่าเป็นโรคเกี่ยวกับการเสพติดทางพฤติกรรมชนิดแรก ที่ถูกเพิ่มมาในกลุ่มโรคการติดสารเสพติด ?

          สมัยก่อนโรคติดพนัน (Pathological Gambling) ถูกบัญญัติอยู่ในหมวด Impulse Disorder หรือโรคเกี่ยวกับการยับยั้งชั่งใจผิดปกติ อันนี้เดิมมันมีมานานหลายสิบปีแล้ว ในอดีตจิตแพทย์และนักวิจัยทั่วไปล้วนเข้าใจว่าโรคติดพนันคือลักษณะที่คนไม่สามารถยับยั้งชั่งใจได้ ก็เลยจับไปอยู่ในกลุ่มนี้ แต่ที่ผ่านมามันมีข้อมูลมากขึ้นที่ชี้ว่าการที่คนยับยั้งชั่งใจไม่ได้ เนื่องจากพื้นฐานสมองมีลักษณะเหมือนโรคติดยาเสพติด เพราะ การหลั่งสารมันไปเปลี่ยนแปลงสมองในรูปแบบเดียวกับการติดยาเสพติด ดังนั้น เมื่อเทคโนโลยีทางการแพทย์มันชัดเจนขึ้น เรามีความเข้าใจในเชิงชีววิทยาเพิ่มขึ้น จึงเป็นเหตุให้มีการย้ายมาในกลุ่มเดียวกับการติดสารเสพติดแทน

 

ปัจจุบันยังไม่มียารักษาโรคติดพนันที่ได้ผลโดยตรง เราจะมีส่วนช่วยป้องกันปัญหาการเข้าถึงการพนันของเด็กและเยาวชนได้อย่างไร ?

          ถ้าพิจารณาในระดับบุคคล ทำได้ด้วยการสร้างความตระหนัก โดยเฉพาะสื่อมวลชนซึ่งมีอิทธิพลต่อความคิดของคนทั่วไปค่อนข้างมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องดีหรือร้าย เช่น พฤติกรรมการเลียนแบบ คนที่เลียนแบบมักรู้สึกในเชิงบวกกับผู้ที่เป็นต้นแบบ เช่น ละครหลังข่าว ตัวละครคิดและตัดสินใจอย่างไร ก็มีแนวโน้มที่เด็กจะยึดเอาความคิดและการกระทำของตัวละครเหล่านั้นมาใช้ และยิ่งเป็นบุคคลสาธารณะที่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่อันตรายต่อเด็กและเยาวชน ก็จะต้องมีความระมัดระวังเป็นพิเศษ บางครั้งพิธีกรรายการโทรทัศน์มีการใบ้หวยกันสนุกสนาน สิ่งนี้จะมีอิทธิพล ดังนั้น สื่อมวลชวนทั่วไปควรตระหนักถึงผลกระทบจริง

          ส่วนในระดับนโยบาย ควรจะมีกติกาที่สอดคล้องกับเรื่องผลกระทบที่มีโอกาสจะเกิดขึ้น เช่น ค่าธรรมเนียมในการส่งเสริมการขาย ปัจจุบันตาม พรบ.ส่งเสริมการขาย พ.ศ. 2478 ซึ่งมีมานานและค่อนข้างล้าสมัย มันก็ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์จริง จึงยังคงมีผลกระทบเรื่อยมา ส่วนค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ยังคงจูงใจที่จะให้ผู้ประกอบการใช้วิธีเสี่ยงโชคในการส่งเสริมการขาย ดังนั้น วิธีการที่จะทำให้ผู้ประกอบการตระหนัก คือ ควรมีมาตรการที่ทำให้ผู้ประกอบการรู้สึกว่าจูงใจพอที่จะสร้างสรรค์โดยคำนึงถึงผลกระทบต่อเด็กและเยาวชน ดังนั้น ราคาที่จ่ายจะต้องสมน้ำสมเนื้อกับความเสี่ยงที่จะตามมา ไม่ใช่จ่ายเพียงไม่กี่พันบาท แต่ควรจัดเก็บเป็นอัตราก้าวหน้าเช่นเดียวกับภาษีปกติ

 

ปริมาณผู้ป่วยจากโรคติดการพนันที่เข้าพบแพทย์ ที่มีจำนวนน้อยนั่นหมายความว่าการพนันยังไม่เป็นปัญหา หรือหมายความว่าสังคมให้ความสำคัญกับเรื่องผลกระทบได้ไม่ดีเท่าที่ควร เพราะเหตุใด?

          ปัจจุบันผู้ป่วยมีจำนวนน้อยแต่มีหลากหลายประเภท ส่วนหนึ่งคือ ไม่มีเงินค่ารักษา มารักษาแล้วโดนทวงหนี้แถวโรงพยาบาล เช่นกรณีที่มาทวงหนี้ที่โรงพยาบาล ถึงขั้นต้องห้ามเยี่ยม ดังนั้น การเข้าถึงการรักษาก็ค่อนข้างมีอุปสรรค นอกจากปริมาณจิตแพทย์ที่น้อยแล้วผู้ป่วยเองก็ยังมีอุปสรรคส่วนตัวที่อยู่นอกกฎหมายทำให้เข้าพบแพทย์ไม่ได้ และ ถ้าเทียบกันปัญหาสุขภาพด้านอื่น ๆ ก็มีจำนวนมาก แพทย์จะใช้เวลากับคนไข้ไม่ได้มากนัก เพราะอัตราส่วนหมอ 1 คนตรวจคนไข้บางโรงพยาบาลถึงวันละ 70-100 คน โดยจะใช้เวลาตรวจคนไข้ 1 คน ประมาณนาทีกว่า จึงไม่สามารถให้คำปรึกษาได้อย่างเต็มที่ ดังนั้น ถ้าป้องกันได้ก็ควรป้องกัน สิ่งนี้ถือได้ว่าเป็นปัจจัยที่หมออยากให้ความรู้กับสังคม อย่างน้อยถ้าผู้ปกครองรู้ว่าการพนันมีผลร้าย จะได้ป้องกันไม่ให้บุตรหลานไปยุ่งเกี่ยวกับการพนันตั้งแต่ต้น

 

“การพนันมีผลกับคนที่ไม่ได้เล่นด้วย เช่น อาชญากรรมที่เกิดขึ้นมากมายกับความที่เขาต้องพยายามหาเงินมาใช้หนี้ การลักเล็กขโมยน้อย ใช้ความรุนแรง และพูดโกหก คนที่ได้รับผลเป็นอันดับแรกมักจะเป็นคนในครอบครัว”

 

จากนี้เราจะสื่อสารอย่างไรหากสังคมไทยมีทัศนคติต่อเรื่องการพนันในทางบวก ประชาชนมองว่าการพนันไม่ใช่ปัญหา การเสี่ยงโชคเป็นวัฒนธรรมคู่สังคมไทยและเปลี่ยนแปลงไม่ได้ ?

          การที่มีผู้ได้รับผลกระทบจากการพนัน หรือป่วยโรคติดพนันในสังคมมองว่าการรักษาโรคติดพนันมันไม่ควรเกิดขึ้นตั้งแต่แรก สังคมควรมีการป้องกันก่อนที่จะเป็นปัญหา จุดหนึ่งที่เราพอจะทำได้ คือ ลดโอกาสที่จะเกิดผู้เล่นหน้าใหม่ หากเราส่งเสริมให้คนรุ่นใหม่มองว่าการพนันเป็นเรื่องปกติธรรมดา ก็จะยิ่งน่าเป็นห่วง เพราะมุมมองในเชิงบวก มีแนวโน้มที่เด็กและเยาวชนในอนาคตจะเข้าสู่การพนันได้ง่ายขึ้น เช่นเดียวกับการสูบบุหรี่ เราจะเห็นว่านักสูบหน้าใหม่จะเริ่มเมื่อตอนวัยรุ่น ซึ่งเป็นวัยที่เริ่มมีความเป็นตัวของตัวเอง หรือกระทั่งเริ่มพบแล้วในวัย ดังนั้น เราไม่ควรจะส่งเสริมให้เขามองว่าเป็นเรื่องธรรมดา ผ่านรูปแบบต่าง ๆ เช่นการส่งเสริมการขาย ในทางการตลาดมีวิธีสร้างสรรค์มากมายที่จะเพิ่มยอดขาย เราไม่จำเป็นต้องใช้วิธีการเหล่านี้เพื่อมาจูงใจเพื่อเพิ่มยอดขาย แม้ว่าในทางกฎหมายจะไม่มีการระบุไว้อย่างชัดเจนก็ตาม แต่ในทางการแพทย์ การเสี่ยงโชคส่งผลต่อสมองเช่นเดียวกับการพนันแน่นอน หมอจึงคิดว่าเราควรจะส่งเสริมการขายให้มีทิศทางที่สร้างสรรค์

 

แต่การอธิบายเป็นเรื่องไม่ง่ายในมุมมองจิตแพทย์ เราจะสื่อสารเพื่อให้ความรู้เชิงวิชาการกับสังคมอย่างไรว่า

  • ติดพนัน = ติดสารเสพติด

  • เสี่ยงโชค = พนัน

  • เสี่ยงโชค = เสี่ยงโรค

          การเปรียบเทียบให้เห็นภาพน่าจะเป็นสิ่งที่ดี เพราะข้อจำกัดอย่างหนึ่งของการให้ความรู้เกี่ยวกับการพนันคือ การพนันเป็นสิ่งที่มองไม่เห็น ทำให้คนรู้สึกว่ามันไม่ค่อยมีผลกระทบเท่าไร ถ้าเปรียบเทียบว่าการดื่มสุราจะไปทำลายตับ การเล่นพนันก็เหมือนกับการทำลายสมอง จะเห็นได้จากทุกวันนี้มีแคมเปญให้เหล้า = แช่ง และบังเอิญว่าการให้เหล้ามันอยู่ในรูปของผลิตภัณฑ์ มองเห็นจับต้องได้ชัดเจน ซึ่งการให้เล่นพนันจะให้เห็นภาพเหมือนเหล้านั้นยากจริง ๆ และความน่ากลัวของการพนันคือ มันกลมกลืนและมีหลากหลายรูปแบบจนบางครั้งเราไม่รู้สึกว่านี่คือการพนัน เราจึงต้องพยายามนึกถึงเสมอว่ามันมีอิทธิพลแทรกซึมอยู่จริง

          สิ่งที่สำคัญคือ การพนันมีผลกับคนที่ไม่ได้เล่นด้วย เช่น อาชญากรรมที่เกิดขึ้นมากมายกับความที่เขาต้องพยายามหาเงินมาใช้หนี้ การลักเล็กขโมยน้อย ใช้ความรุนแรง และพูดโกหก คนที่ได้รับผลเป็นอันดับแรกมักจะเป็นคนในครอบครัว พวกนี้ถือเป็นการสูญเสียทางเศรษฐกิจ เมื่อเทียบกับการที่จะมีรายได้จากการพนัน ซึ่งไม่คุ้มเลย ประกอบกับโครงสร้างทางสังคมที่เสียไป ส่งผลต่อคุณภาพของเยาวชน และเจตคติของคนทั่วไปก็ต้องสูญเสียไปด้วย