สาระจากวงประชุม “การประชุมคณะทำงานระดมความคิดเห็นเพื่อพัฒนาและติดตาม มาตรการควบคุมการส่งเสริมการขายด้วยวิธีการเสี่ยงโชค ครั้งที่ 2/2560”
วันพุธที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2560
เวลา 13.30 – 16.30 น.
ณ ห้องประชุมมสช.1 มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ
มีอะไรในวงประชุม?
ศูนย์ข้อมูลนโยบายสาธารณะการลดปัญหาจากการพนัน มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ ได้จัดงานประชุม “การประชุมคณะทำงานระดมความคิดเห็นเพื่อพัฒนาและติดตามมาตรการควบคุมการส่งเสริมการขายด้วยวิธีการเสี่ยงโชค ครั้งที่ 2/2560” ขึ้น เมื่อวันพุธที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2560 โดยนายแพทย์ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา ประธานในที่ประชุม กล่าวต้อนรับ และเปิดการประชุมในครั้งนี้ กล่าวคือ การประชุมในครั้งนี้เพื่อนำไปสู่ข้อเสนอที่จับต้องได้ กระทั่งกลายไปเป็นข้อกฎหมาย ซึ่งอาจจะเป็นการแก้ไขพรบ.เดิม หรือการร่างพรบ.ใหม่ โดยต้องอาศัยการมีส่วนร่วมจากทุกส่วนที่เกี่ยวข้อง และเมื่อร่างกฎหมายเสร็จก็จะสามารถนำเสนอต่อนักการเมือง หรือผู้ที่นำนโยบายไปปฏิบัติต่อไป ดังนั้น ส่วนที่สำคัญของกระบวนการคือ ต้องอาศัยแรงขับเคลื่อนจากภาคประชาสังคมในการให้ความเห็นต่อการร่างกฎหมายที่จะออกมาว่าต้องมีรายละเอียดที่ชัดเจน และความสอดคล้องต่อปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างแท้จริง
ลำดับต่อมา นายพงศ์ธร จันทรัศมี ผู้จัดการศูนย์ข้อมูลนโยบายสาธารณะการลดปัญหาจากการพนัน มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ ได้กล่าวชี้แจงวัตถุประสงค์ของการประชุมในครั้งนี้ คือ
1) ให้ข้อคิดเห็นต่อแนวทางการขับเคลื่อนงานร่วมกันในระยะเวลา 6 เดือน
2) การจัดทำกรอบพัฒนาข้อเสนอกฎหมายว่าด้วยการให้รางวัลด้วยวิธีการเสี่ยงโชค
3) จัดทำข้อเสนอแนะการพัฒนาความร่วมมือในการกำกับการให้รางวัลด้วยการเสี่ยงโชค ระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
นอกจากนี้ นายพงศ์ธร ได้นำเสนอ “ความก้าวหน้าการขับเคลื่อนและแนวทางการดำเนินงาน” กล่าวคือ
ในส่วนของกรอบการขับเคลื่อนมาตรการการควบคุมกิจกรรมการส่งเสริมการขายด้วยวิธีการเสี่ยงโชค มีการดำเนินการเพื่อป้องกันเด็กและเยาวชนจากการเข้าถึงการพนัน การควบคุมผลิตภัณฑ์ที่ส่งผลต่อสุขภาพ โดยเสนอให้ทางสำนักงานอาหารและยา มีการระบุว่า ผลิตภัณฑ์สำหรับเด็กประเภทใดบ้างที่ต้องควบคุมดูแล รวมถึงการกำหนดกลไกและมาตรการควบคุม ประกอบกับการแก้ไขกฎหมายให้สอดคล้องกับประเด็นปัญหา โดยมีข้อเสนอว่า ไม่ควรแยกกฎหมายการเสี่ยงโชค แต่ควรรวมไว้ในกฎหมายการพนัน ซึ่งจะเป็นการดำเนินการลักษณะการพัฒนากลไกติดตามเฝ้าระวัง ดังนั้น จะต้องมีการประสานความร่วมมือจากหน่วยงานรัฐหลายหน่วยงาน ได้แก่ กรมการปกครอง กรมอนามัย สำนักงานอาหารและยา กรมกิจการเด็กและเยาวชน กรมสุขภาพจิต และสำนักเฝ้าระวังวัฒนธรรม รวมถึงสำนักงานกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม โดยที่ผ่านมาทาง กสทช. พยายามที่จะผลักดันประเด็นดังกล่าวให้ไปสู่สื่อสาธารณะมากขึ้น โดยเฉพาะประเด็นความรับผิดชอบของผู้ประกอบการที่มีต่อเด็กและเยาวชนในส่วนของการพนันบนสื่อ กระทั่งนำไปสู่แนวทางการกำกับดูแลการจัดกิจกรรม SMS เสี่ยงโชคในรายการโทรทัศน์
ในส่วนของข้อเสนอมาตรการการควบคุมการส่งเสริมการขายด้วยวิธีการเสี่ยงโชค ในผลิตภัณฑ์ที่มีผลต่อสุขภาพของเด็กและเยาวชนไทย มีการนำเสนอในรูปแบบของ “สมุดปกขาว” (White paper) จัดทำโดย มูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ ซึ่งเป็นการนำเสนอผลกระทบต่อสุขภาพ และแนวทางการแก้ไขผ่านความเห็นผู้ทรงคุณวุฒิ โดยข้อเสนอทั้งหมดจะนำไปเสนอต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงในอนาคตจะมีการขับเคลื่อนรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในภูมิภาคต่อไป
สำหรับการผลักดันการแก้ไขกฎหมาย ปัจจุบันมีบางประเด็นที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข เช่น เครื่องดื่มที่มีปริมาณน้ำตาลสูง ยังไม่มีการควบคุมและกำกับดูแลอย่างเป็นรูปธรรม ในแง่ของการโฆษณาเกินจริง การจำหน่ายและการส่งเสริมการขาย เพื่อจูงใจให้ซื้อผลิตภัณฑ์ ดังนั้น จึงนำไปสู่ข้อเสนอแนวทางการควบคุมกิจกรรมการส่งเสริมการขายด้วยวิธีเสี่ยงโชค ดังนี้
1) ผู้ขออนุญาตต้องมีมาตรการหรือแผนปฏิบัติการ หากมีผู้ร่วมกิจกรรมอายุต่ำกว่า 20 ปี
2) ต้องสื่อสารให้สังคมเข้าใจว่ากิจกรรมเสี่ยงโชคมีผลเช่นเดียวกับการเล่นพนัน และควรระบุเลขที่ใบอนุญาต และโอกาสในการได้รับรางวัล
3) กำหนดขอบเขตมูลค่าของรางวัล ความถี่ในการจับรางวัล การห้ามใช้ข้อความโฆษณา สื่อสารกระตุ้นมอมเมาเกินความจริง
4) ควรกำหนดค่าธรรมเนียมการขออนุญาตในอัตราที่สูง และใช้มาตรการทางภาษี
5) กำหนดบทลงโทษแก่ผู้ละเมิดหรือกระทำผิดในอัตราที่สูง และอาจเพิ่มโทษจำคุก
ทั้งนี้ ยังมีข้อเสนอต่อการร่างระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการให้มีการแถมพกหรือรางวัลว่าด้วยการเสี่ยงโชคโดยวิธีใด ๆ ในการประกอบกิจการการค้าและอาชีพ ซึ่งมีขอเสนออยู่หลายประเด็น ได้แก่
ประเด็นที่ 1: รางวัล ในความหมายคือทรัพย์สินหรือบริการ หรือประโยชน์ใด ที่ผู้ประกอบการต้องแสดงประกาศให้ทราบโดยชัดเจน มีการกำหนดมูลค่ารางวัลไม่เกิน 20 เท่าของมูลค่าสินค้า หรือสูงสุดห้ามเกิน 1 แสนบาท ต่อรอบ หรือห้ามเกิน 2 เปอร์เซ็นต์ ของรายได้คาดการณ์ปีนั้นๆ และทั้งปีห้ามเกิน 10 ล้านบาท รวมถึงรางวัลที่ห้ามจัดกิจกรรม ได้แก่ การกระทำ หรือสินค้าบริการที่มีอันตรายต่อสุขภาพ เครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ บุหรี่ การศัลยกรมความงาม บริการรักษาโรค ผลิตภัณฑ์รักษาโรค และสินค้าที่ผิดกฎหมาย สิ่งมีชีวิตและสัตว์ เป็นต้น
ประเด็นที่ 2: ประเภทของสินค้าและบริการที่ห้ามจัด สินค้าที่ออกใบอนุญาต คือ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ บุหรี่ การเงิน นมสำหรับทารกและเด็กเล็ก เครื่องดื่มผสมคาเฟอีน (ตามกฎหมายอื่น) การเล่นเกมส์ออนไลน์
ประเด็นที่ 3: ผู้เล่น ห้ามไม่ให้ผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปีบริบูรณ์และผู้เปราะบางเข้าร่วมกิจกรรมส่งเสริมการขายด้วยวิธีการเสี่ยงโชค
ประเด็นที่ 4: ความถี่ในการจัดกิจกรรม กิจกรรมประเภทแถมพก ที่มีการเสี่ยงโชค สามารถจัดได้ปีละ 4 ครั้ง และในกรณีที่ใช้วิธีการส่ง SMS อัตราค่าส่งให้เป็นไปตามปกติ และห้ามให้มีการแบ่งอัตราค่าบริการหรือมีผลประโยชน์
ประเด็นที่ 5: การคุ้มครองผู้บริโภค (ผู้ร่วมกิจกรรมเสี่ยงโชค) การโฆษณา ประชาสัมพันธ์ ต้องไม่เป็นการกระตุ้น หรือมอมเมา และต้องให้สิทธิผู้บริโภคในการตรวจสอบอย่างโปร่งใส และมีช่องทางในการร้องเรียนต่อเจ้าพนักงานผู้ออกใบอนุญาต โดยผู้บริโภคต้องได้สิทธิในการเข้าร่วมกิจกรรมอย่างเท่าเทียมกัน และสิทธิของผู้บริโภคต้องได้รับของรางวัลไม่เกิน 60 วัน หลังจากวันที่ประกาศหรือรับแจ้งว่าได้รับรางวัล ค่าใช้จ่ายในการดูแลและจัดส่งให้เป็นภาระของผู้จัด และผู้บริโภคต้องได้รับของรางวัลในสภาพสมบูรณ์ รวมถึงการมีคำเตือนในการเข้าร่วมกิจกรรม และการระบุถึงการออกใบอนุญาตตาม พรบ.การพนัน ว่าห้ามเด็กอายุต่ำกว่า 20 ปีบริบูรณ์เข้าร่วม ประกอบกับต้องระบุถึงมาตรการเยียวยาผู้บริโภค กรณีเกิดเหตุสุดวิสัย องค์กรสาธารณประโยชน์ ซึ่งไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับผู้จัด
ประเด็นที่ 6: กลไกในการกำกับ/ควบคุมการจัดกิจกรรม ให้มีการตั้งคณะกรรมการรับเรื่องร้องเรียนและตรวจสอบ รวมถึงให้มีหน่วยงานอิสระรับรองวิธีการสุ่ม ในกรณีใช้ระบบคอมพิวเตอร์
สิ่งที่ได้และก้าวต่อไป?
เนื่องจากผลกระทบจากการพนันมักจะเกิดกับเด็กและเยาวชนเป็นส่วนมาก ซึ่งจะนำไปสู่ผลกระทบหลายประการ ได้แก่ ด้านสุขภาพ การเรียน ครอบครัว สังคม ฯลฯ จึงเกิดการระดมความคิดเห็นและแลกเปลี่ยนข้อมูลของหน่วยงานต่าง ๆ ที่ร่วมกันวิเคราะห์ และให้ข้อเสนอแนะ กระทั่งนำไปสู่ข้อเสนอหลักที่สำคัญคือ การร่าง “แผนปฏิบัติการ” ซึ่งแผนฯ ดังกล่าวจะประกอบไปด้วยกิจกรรมต่าง ๆ ได้แก่
-
การพัฒนาเครือข่ายเด็กและเยาวชนเผ้าระวังการให้รางวัลด้วยการเสี่ยงโชค ซึ่งจะดำเนินการร่วมกันกับกลุ่มยุวทัศน์ เพื่อนำข้อเสนอแนะต่อกรมกิจการเด็กและเยาวชน
-
จัดทำกรอบข้อเสนอเพื่อรับฟังความคิดเห็น ดำเนินการในลักษณะข้อเสนอแนะเพื่อคัดค้านร่างพรบ. ผ่านกลไกของทั้งภาครัฐและภาคประชาชน ภายใต้กรอบการรับฟังความคิดเห็นอันมีที่มาจากสมุดปกขาว
-
การดำเนินการรับฟังความคิดเห็นในภูมิภาค 4 ภูมิภาค เพื่อจัดทำข้อเสนอแนะต่อการมีมาตรการในการควบคุมการให้รางวัลด้วยการเสี่ยงโชค
-
จัดทำข้อเสนอร่างพรบ.การพนัน ในประเด็นให้รางวัลด้วยวิธีการเสี่ยงโชค โดยจะจัดทำเป็น “ร่างระเบียบการกำกับการส่งเสริมการขายด้วยวิธีเสี่ยงโชค”
-
การจัดทำข้อเสนอแนะ ความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน