ร่วมคิดร่วมคุย (ฉบับ 9)

 

ร่วมคิดร่วมคุย : “เรียนรู้เท่าทันภัยพนัน ป้องกันภาวะความหลงผิดของสังคม : ข้อสังเกตจากนักวิชาการด้านสื่อ”

สัมภาษณ์พิเศษ : ดร.ธีรรารัตน์ พันทวี วงศ์ธนะอเนก (นักวิชาการด้านสื่อ, นายกสมาคมวิทยุสื่อเพื่อเด็กและเยาวชน  (สสดย.), และ ผู้บริหารสถานี CU radio)

 

สัมภาษณ์โดย : อรรถสิทธิ์ พานแก้ว หัสนัย สุขเจริญ

เรียงเรียงโดย: ชนิกานต์ กาญจนสาลี สุวลัย เมืองเจริญ


เรียนรู้เท่าทันภัยพนัน ป้องกันภาวะความหลงผิดของสังคม

 

          ในแวดวงนักวิจัยและผู้ศึกษาปัญหาการพนัน มีการทำงานการศึกษากันมาอย่างยาวนาน หนึ่งในนักวิชาการที่เกาะติดเรื่องนี้คือ  ดร.ธีรารัตน์ พันทวี วงศ์ธนะอเนก (นักวิชาการด้านสื่อ, นายกสมาคมวิทยุสื่อเพื่อเด็กและเยาวชน (สสดย.), และ ผู้บริหารสถานีวิทยุ CU radio โดยจุดเริ่มต้นที่ได้มาทำการศึกษาเรื่องนี้ มาจากการที่ได้ร่วมงานกับมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) ในปี พ.ศ. 2554 ขณะนั้นมีการจัดเสวนาเกี่ยวกับการพนัน และทาง มสช. ได้เชิญไปร่วมแสดงความคิดเห็น และเชิญชวนให้ทำงานศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการพนัน เรื่อง “การบริหารจัดการรายได้จากการพนันในต่างประเทศ” ซึ่งทำงานร่วมกับท่าน ศาสตราจารย์ ดร. สมคิด เลิศไพฑูรย์ ซึ่งปัจจุบันท่านเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) นอกจากนี้ยังมีอาจารย์อีกหลายท่านร่วมด้วย ทั้งอาจารย์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และจากประเทศออสเตรเลีย นับจากปี 2554 จนถึงปี 2560 มิติการพนันกับสังคมไทยยังคงไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก  ซึ่งในมุมมองของ ดร.ธีรารัตน์ ล้วนมีแง่มุมตกผลึกที่น่าสนใจ

 

สมาคมวิทยุสื่อเพื่อเด็กและเยาวชน (สสดย.) มีบทบาทเกี่ยวข้องกับการพนันอย่างไร มีอุปสรรคในการทำงานบ้างไหม?

          สมาคมวิทยุสื่อเพื่อเด็กและเยาวชน (สสดย.) มีภารกิจ คือ การทำงานทางด้านสื่อเพื่อเด็กและเยาวชนโดยเฉพาะเรื่องการพนัน ทั้งนี้ เด็กที่เราสนใจ คือ เด็กที่มีความสามารถใช้สื่อได้ โดยเฉพาะสื่อออนไลน์ที่ระบาดไปทั่วโลก และมีผลกระทบทั้งทางบวกและทางลบ หรือ เป็นช่องทางของมิจฉาชีพ และยิ่งทุกวันนี้มีประกาศใช้พระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์ เราจึงต้องรู้ว่าการกระทำบนพื้นที่ออนไลน์ลักษณะใดที่ผิดกฎหมาย หรือมีความสุ่มเสี่ยงจะผิดกฎหมาย ดังนั้น เราจึงมีการจัดกิจกรรมเสวนา การทำวิจัย และพยายามให้ความรู้เพิ่มเติมแก่ครู อาจารย์ ผู้ปกครอง และชุมชน เช่นที่ผ่านมาได้มีการทำชุดการเรียนรู้ของครู ชุดการเรียนรู้สำหรับเด็กมัธยม ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล รวมถึงการฝึกอบรมการใช้ชุดการเรียนรู้ต่างๆ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพมากที่สุด เช่น การจัดอบรมไปเมื่อวันที่ 22-23 กรกฎาคมที่ผ่านมา เพื่อสอนครู และให้ครูสอบการสอนเด็กกลุ่มตัวอย่างให้ดู ก่อนนำไปใช้จริง

 

“คนที่ติดการพนันมีเพียงสมองส่วนกลางซึ่งเป็นสมองส่วนอารมณ์ที่พัฒนาเพียงส่วนเดียว ดังนั้น เด็กที่โตมาก็จะกลายเป็นผู้ใหญ่ที่ขาดความยับยั้งชั่งใจ ใช้เหตุผลคิดวิเคราะห์น้อย มีความก้าวร้าว และแสดงออกทันทีตามอารมณ์”

 

การพนันออนไลน์ ถือเป็นภัยอย่างหนึ่งในการแก้ปัญหาพนันในวัยรุ่นอย่างไรบ้าง?

          ช่องทางการสื่อสารที่เป็นปัญหาสำหรับปัจจุบันนี้คือ “สื่อออนไลน์” เพราะ คนใช้เวลากับสื่อออนไลน์มากที่สุด มากกว่าการเสพสื่อสมัยเก่า เช่น โทรทัศน์ วิทยุ และหนังสือพิมพ์ ดังนั้น สื่อออนไลน์จึงอยู่ในชีวิตประจำวันของเด็กและเยาวชนมาโดยตลอด ตั้งแต่ในห้องน้ำ ห้องนอน โรงเรียน ฯลฯ ซึ่งต่างจากเมื่อก่อนเวลาเราดูทีวีผู้ปกครองกับเด็กก็ดูด้วยกันได้ แต่ตอนนี้สื่ออยู่ในมือเด็ก และติดตัวเขาตลอดเวลา จึงกลายเป็นช่องทางที่น่าเป็นห่วงที่สุด

          งานวิจัยในต่างประเทศ พบว่า เด็กเล่นพนันออนไลน์เพิ่มมากขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ และสิ่งที่น่ากลัว คือ ผู้ใหญ่ที่ติดการพนัน คือ คนที่เล่นการพนันตั้งแต่เด็กจนสมองส่วนหน้าซึ่งเป็นส่วนคิดวิเคราะห์ถูกทำลาย ผลลัพธ์ คือ คนที่ติดการพนันมีเพียงสมองส่วนกลางซึ่งเป็นสมองส่วนอารมณ์ที่พัฒนาเพียงส่วนเดียว ดังนั้น เด็กที่โตมาก็จะกลายเป็นผู้ใหญ่ที่ขาดความยับยั้งชั่งใจ ใช้เหตุผลคิดวิเคราะห์น้อย มีความก้าวร้าว และแสดงออกทันทีตามอารมณ์ ด้วยเหตุนี้ จึงมีความพยายามในการปกป้องเด็กและเยาวชนตั้งแต่เริ่มต้น เพื่อให้สมองส่วนคิดวิเคราะห์ของเขาได้ทำหน้าที่ ซึ่งจะทำให้เขาเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่สามารถคิดวิเคราะห์และรู้เท่าทันการพนัน และปัญหาที่ซับซ้อนอื่นๆ ได้

          ทั้งนี้ สิ่งสำคัญที่สุดในการปกป้องเด็กและเยาวชนจากการพนัน ไม่ใช่แค่เพียงพ่อแม่ที่ต้องคอยดูแล แต่เป็นตัวเด็กเอง เพราะ พ่อแม่ไม่สามารถดูแลเขาได้ตลอด และเนื่องจากการพนันอยู่ในมือเด็กตลอดเวลา เราจึงต้องไปให้ความรู้แก่เด็กและเยาวชน เพื่อให้เขาเข้าใจและรู้เท่าทันเรื่องการพนัน นี่จะเป็นภูมิคุ้มกันตัวเขาเองจากการพนัน

 

บทบาทของ สสดย. ในการนำเอาความรู้และประสบการณ์จากต่างประเทศมาประยุกต์ใช้กับเมืองไทย เพื่อป้องกันการพนันในเด็กและเยาวชนคืออะไรบ้าง?

          ใช้กลวิธี “การป้องกันก่อน (early intervention approach)” คือ การเข้าไปแทรกแซงเด็กและเยาวชนตั้งแต่ในวัยเริ่มต้น เพราะถ้าหากเด็กและเยาวชนสามารถรู้เท่าทัน สมองทำงานได้ดี ก็จะทำให้เด็กและเยาวชนสามารถปกป้องตัวเองได้ เพราะฉะนั้น ในต่างประเทศ จะเห็นว่า จะมีชุดการเรียนรู้ทุกระดับชั้น ทั้ง มัธยมต้น-ปลาย รวมถึงชุดการเรียนรู้สำหรับครู และชุมชน นอกจากนี้ยังมี ศูนย์หรือสถาบันกลางที่เป็นองค์กรอิสระ คอยให้ความรู้และข้อมูลต่างๆ ที่สังคมต้องการ ซึ่งล่าสุด สสดย. ได้ผลิตหนังสือคู่มือ “คุณครูรู้เท่าทันการพนัน” โดยรับการสนับสนุนจากสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล นี่ถือเป็นผลงานที่เราภูมิใจมาก

 

ชุดการเรียนรู้เท่าทันภัยการพนัน ในระดับประถมศึกษา ถูกนำไปใช้ขยายผลอย่างไร

          ปัจจุบันนี้ยังไม่ได้ขยายผลมาก เพราะลิขสิทธิ์เป็นของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ดังนั้น เราจึงพยายามที่จะให้ความรู้ เพื่อนำไปขยายผล เพราะท้ายที่สุด ไม่ใช่หน้าที่เราเท่านั้นที่ต้องทำสื่อการเรียนรู้ แต่เป็นหน้าที่ของครู เราเพียงแค่สอนครูให้นำชุดการเรียนรู้นี้ไปใช้ต่อ

          ส่วนชุดการเรียนรู้นี้เราอยากต่อยอดผลงานไปยังระดับมัธยมศึกษา และเป็นต้นแบบของการรับการสนับสนุนจากสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล เนื่องจากสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลเป็นองค์กรที่จัดการพนันอย่างถูกกฎหมาย จึงจำเป็นต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคม รวมถึงการที่สำนักงานสลากินแบ่งรัฐบาลมีกองทุน โดยจะตัดเงินเข้ากองทุนสลากกินแบ่งรัฐบาล เราจึงเข้าไปขอทุนในส่วนนี้ เพื่อสร้างองค์ความรู้เรื่องการพนันให้แก่คนในสังคม และตามกฎหมายมีการระบุให้ต้องเอาเงินมาใช้ให้เกิดประโยชน์ ในการสร้างองค์ความรู้และการทำวิจัยเพื่อแก้ปัญหาการพนัน ประกอบกับมาตรา 44 ของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ระบุให้มีการจัดการเรื่องการพนัน โดยแนวคิดหลักสำคัญ คือ กองทุนนี้เป็นของทุกคนในสังคมไม่ใช่เป็นของผู้ประกอบการหรือองค์กรใดเพียงรายเดียว

            เนื่องจากเด็กและเยาวชนทุกช่วงวัยถือว่าอยู่ในกลุ่มเสี่ยงได้ทั้งหมด และเราก็อยากทำชุดการเรียนรู้ช่วงมัธยมต่อ แต่ว่าคงต้องรอการขอทุนจากหน่วยงานที่ประสงค์จะให้  วัตถุประสงค์ในการทำชุดการเรียนรู้ให้กับเด็กและเยาวชน คือ ต้องการให้คนในสังคมรู้จักและเข้าใจเรื่องการพนัน เพราะฉะนั้น ถ้ากลไกในสังคมมีอยู่เท่าไร และมีความสนใจมากเท่าไร ยิ่งเป็นผลดีต่อการทำให้องค์ความรู้แพร่กระจายไปในสังคม ซึ่งอยากให้เป็น “วาระแห่งชาติ (National agenda)” เราต้องรู้สึกว่าการพนันแทรกซึมอยู่ในสังคมและเป็นปัญหาสังคม หากเราดูแลและป้องกันได้ตั้งแต่วัยเด็ก เขาก็จะไม่เติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่เป็นปัญหา โดยเฉพาะถ้าผู้บริหารระดับชาติเล็งเห็นถึงความสำคัญ จะยิ่งมีกลไกที่สนับสนุนการสร้างความรู้ การทำวิจัย และการจัดกิจกรรม ฯลฯ นอกจากนี้ เมื่อหน่วยงานต่างๆ ได้รับมอบนโยบายมาจากรัฐ ย่อมจะต้องช่วยกันในทุกวิถีทาง ทุกภาคส่วนจะเริ่มตื่นตัว เช่น เราอาจเห็นอาจารย์ไปเชิญคนจากที่ต่างๆ มาเข้าร่วมประชุม ซึ่งทุกภาคส่วนก็จะเข้าใจตรงกันมากขึ้น และยังสามารถไปเผยแพร่องค์ความรู้ต่อได้

           นอกจากจะเป็นวาระแห่งชาติแล้ว อยากให้มีกลไกที่เรียกว่า “องค์กรอิสระ” ที่ทำงานด้านนี้โดยตรง โดยจัดสรรทุนให้กับกิจกรรมต่างๆ และเป็นศูนย์กลางในการให้ข้อมูล เช่นเดียวกับ สสดย. ที่ได้มีการทำเว็บไซต์ในการให้ข้อมูลเกี่ยวกับการพนันในเด็กและเยาวชนโดยเฉพาะ รวมถึงมีงานวิจัย การแปลบทความ และการแปลงานวิจัยจากต่างประเทศ

 

ถึงวันนี้อาจารย์เห็นว่าอะไรคือปัจจัยสำคัญ ที่ทำให้เกิดปัญหาการพนันในเด็กและเยาวชน?

          ค่านิยมของคนในสังคม (ทั้งในสังคมไทยและต่างประเทศ) มองว่าการพนันเป็นเรื่องปกติในชีวิตประจำวัน หรือ เป็นงานอดิเรก บางคนอาจคิดว่า เราเล่นเพียงเล็กๆ น้อยๆ คงไม่เป็นไร ซึ่งคำว่า “ไม่เป็นไร” คงใช้ได้ในกรณีผู้ที่เล่นไม่ได้หมกมุ่น

          สำหรับคนที่เป็นกลุ่มเปราะบาง เช่น เด็กและเยาวชน คนที่จิตใจอ่อนไหวง่าย คนที่ใช้เวลาว่างหรือเวลาส่วนใหญ่ไปกับการพนัน การเล่นพนันจะทำให้ “หลงผิด” ได้ง่าย และยิ่งสังคมไทยมีค่านิยมที่มองว่า การพนันเป็นเรื่องปกติ รวมกับพฤติกรรมของคนในครอบครัวที่เห็นเป็นประจำ ก็จะทำให้เกิดพฤติกรรมเลียนแบบขึ้น กระทั่งกลายเป็นวิถีชีวิตของเขา และส่งผลไปยังตอนโต เนื่องจากเด็กและเยาวชนเห็นพ่อแม่ซื้อหวย ตั้งวงไพ่ สังคมรอบข้างพากันเล่นการพนัน สิ่งเหล่านี้จะทำให้เด็กและเยาวชนเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของการพนันรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งได้ไม่ยาก

 

“โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางอย่างเด็กและเยาวชน พวกเขาควรจะมีสิ่งแวดล้อมที่ดี มิใช่เติบโตขึ้นในสังคมที่แวดล้อมไปด้วยการพนัน สิ่งเหล่านี้จะทำให้เด็กและเยาวชนเกิดพฤติกรรมเลียนแบบ”

 

คนเข้าใจว่าทำวิจัยเรื่องการพนันเพื่อต้องการมาหยุดให้คนเล่นการพนันด้วยหรือเปล่า สังคมไทยถึงไม่ค่อยสนใจจะตระหนักความหลงผิดเรื่องนี้?

          เราไม่ได้ศึกษาวิจัยเพื่อไปหยุดไม่ให้ใครเล่นพนัน เพียงแต่ศึกษาเพื่อให้สังคมเข้าใจว่า การพนันคืออะไร และผลกระทบจากการพนันเป็นอย่างไร คนแต่ละกลุ่มในสังคมไม่เหมือนกัน มีพื้นความรู้ต่างกัน ซึ่งพื้นความรู้จะเป็นตัวบ่งบอกว่า เราจะทนทานกับสิ่งเย้ายวนรอบตัวได้แค่ไหน โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนที่เป็นกลุ่มเปราะบาง มีจิตใจอ่อนแอ มักถูกกระตุ้นจากสิ่งเร้าได้ง่าย ทำให้มีโอกาสเล่นการพนันอย่างหมกมุ่นจนกลายเป็นคนเสพติดการพนัน กระทั่งสร้างผลกระทบทั้งต่อตัวเอง ครอบครัว สิ่งแวดล้อม และกลายเป็นปัญหาสังคม

 

ความยากที่เป็นความท้าทายในการสื่อสารปัญหาจากการพนันคือเรื่องอะไร?           

         ความท้าทายแรก คือ วุฒิภาวะและประสบการณ์ (Maturity and experiences) ของคนแต่ละวัยไม่เท่ากัน โดยเฉพาะเด็กและเยาวชน จะเห็นว่า บางครอบครัว วัยรุ่นโตมามักจะทะเลาะและเถียงพ่อแม่รวมถึงผู้ใหญ่ในครอบครัว เขาจะมีโลกของเขา เขาคิดว่าเขามีประสบการณ์มากพอและรู้เท่าทันเทคโนโลยีมากกว่าผู้ใหญ่ เขาสามารถตัดสินใจเองได้ว่าจะเล่น (การพนัน) อย่างไร เขาคิดว่าผู้ใหญ่คิดไม่ทันเขา ประเด็นสำคัญไม่ใช่เล่นหรือไม่เล่นพนัน แต่คือ เล่นอย่างไรให้ไม่ส่งผลกะทบต่อตัวเอง ยกตัวอย่างเช่น จะต้องรู้ว่าการแข่งขันเกม หรือ e-sport มีผลกระทบอะไรบ้าง ซึ่งเด็กหรือเยาวชนบางคนที่มีวุฒิภาวะไม่เพียงพอ ก็จะคิดว่าเรา (ผู้ทำงานการสื่อสารปัญหาการพนัน) ไปกล่าวหาว่า e-sport เป็นการพนัน ทั้งๆ ที่เพียงจะสื่อว่า e-sport นั้น แม้จะไม่ใช่การพนัน แต่สามารถมีการพนันแฝงเข้ามาได้ เช่นเดียวกับฟุตบอล ซึ่งเป็นกีฬาชนิดหนึ่ง แต่กลับมีการเอาการพนันเข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น การแทงฟุตบอล

          ความท้าทายอีกเรื่อง คือ ชุดความคิด (Mindset) ของคนแต่ละวัยไม่เท่ากัน ดังนั้น จึงต้องหาวิธีให้คนที่เราต้องการสื่อสารในแต่ละวัยยอมรับตรงกัน โดยอาจจัดกิจกรรมที่เข้าถึงทั้งผู้ปกครอง ครู อาจารย์ โดยเป็นกิจกรรมที่ทำให้เขาสนุกและทำให้เข้าใจ และไม่รู้สึกว่าถูกบังคับ เช่น ที่ผ่านมาอาจารย์ได้ทำชุดการเรียนรู้สำหรับเด็ก ป.6 ซึ่งจะเป็นกิจกรรมที่เด็กเล่นแล้วสนุกสนาน ได้เรียนรู้ ในที่สุดเขาก็จะตอบได้เองว่า อะไรคือการพนัน การพนันมีผลกระทบอย่างไร นี่คือวิธีการที่จะทำให้เราเข้าใจทั้งพัฒนาการและจิตวิทยาของเด็ก

 

มีอะไรฝากถึงคนที่ยังคิดว่า “การพนันเป็นวัฒนธรรมที่อยู่คู่กับสังคมไทย และไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้” รวมถึงผู้ที่มีส่วนเกี่ยวกับวงจรปัญหาการพนันทั้งหมด

          อยากให้เปิดใจกว้าง เพราะ เมื่อพูดถึงการพนัน คนทั่วไปจะกลัวว่า สิ่งที่ทำให้เขามีความสุขในแต่ละเดือน หรือ เดือนละ 2 ครั้ง หรือ ทุกวันกับเพื่อนฝูงจะหายไป เราไม่ได้กำลังบอกให้หยุดเล่นพนัน เพียงแค่ต้องการให้คนที่เล่นพนันมีความรับผิดชอบต่อสังคมรอบข้าง คนในสังคมมีหลายกลุ่มและอาจมีความเข้าใจไม่ตรงกัน โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางอย่างเด็กและเยาวชน พวกเขาควรจะมีสิ่งแวดล้อมที่ดี มิใช่เติบโตขึ้นในสังคมที่แวดล้อมไปด้วยการพนัน หรือ เมื่อเห็นใครถูกรางวัลที่หนึ่งก็โพสต์ลงเฟสบุ๊คแสดงความดีใจ ฯลฯ สิ่งเหล่านี้จะทำให้เด็กและเยาวชนเกิดพฤติกรรมเลียนแบบ

          ฉะนั้น ถ้าอยากให้สังคมไทยเป็นสังคมที่มีคุณภาพ เราจะต้องมีความเห็นอกเห็นใจ และมีวิธีที่จะจัดการปัญหารอบตัวรวมถึงปัญหาจากการเล่นพนันได้ดีกว่านี้ ผู้ใหญ่ที่เกี่ยวข้องควรมีบทบาทช่วยเหลือ หรือ มีช่องทางการจัดสรรทุนที่เพียงพอไปสู่สังคมและทุกภาคส่วนที่ดูแลรับผิดชอบ จึงจะทำให้สังคมได้รู้ว่า ทุกวันนี้ การพนันมันมีผลกระทบอย่างไร ดังนั้น เพื่อป้องกันเด็กและเยาวชนจากพนัน โดยทำให้เด็กและเยาวชนรู้เท่าทันและระมัดระวังมากขึ้น อย่างน้อยที่สุดให้เด็กเติบโตในสิ่งแวดล้อมที่ดี อย่าให้ลูกหลานมามีส่วนร่วมในการเล่นพนัน โดยที่เราอ้างว่าไม่รู้เรื่อง หรือ รู้เท่าไม่ถึงการณ์ เพราะต้องไม่ลืมว่า ถ้าปล่อยให้เด็กและเยาวชนมาเกี่ยวข้องกับการพนัน งานวิจัยทางการแพทย์ชี้ให้เห็นว่า สมองของเด็กและเยาวชนในส่วนคิดวิเคราะห์ถูกทำลายไป เมื่อเติบโตมา พวกเขาจะขาดความยับยั้งชั่งใจ ใช้เหตุผลได้น้อยลง รวมถึงแยกแยะสิ่งถูกผิดไม่เป็น คนเหล่านี้จะส่งผลกระทบและกลายเป็นปัญหาต่อสังคมและประเทศชาติต่อไปเพราะคิดหรือแยกแยะอะไรไม่ได้แล้ว